อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี


ละติจูด 14.974796 , ลองจิจูด 102.098127

พิกัด

ตำบลในเมือง อำเภออำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา รหัสไปรษณีย์ 30000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน สถาน หลักเมือง

ความสำคัญ/ลักษณะ

เมื่อท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปีพุทธศักราช 2395 อายุ 81 ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสวามี ได้ฌาปนกิจศพ และสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอยซึ่งท้าวสุรนารีได้สร้างไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเจดีย์ชำรุดลง พลตรีเจ้าพระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) ครั้นเมื่อยังเป็นพระยาประสิทธิศัลการ ข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา องคมนตรี และรัฐมนตรี ได้บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็ก บรรจุพระอัฐิท้าวสุรนารีขี้นใหม่ที่วัดกลาง (วัดพระนารายณ์มหาราช) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ร.ศ.118 (พ.ศ. 2442) ต่อมากู่นั้นได้ทรุดโทรมลงมาอีก อีกทั้งยังอยู่ในที่แคบ ไม่สมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมาได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีด้วยสำริด ซึ่งทางกรมศิลปากรได้มอบให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียมศิลปไชย) ประติมากรเลื่องชื่อในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2510 ทั้งนี้ได้อัญเชิญอัฐิของท่านนำมาบรรจุไว้ที่ฐานรองรับ และประดิษฐานไว้ ณ ที่หน้าประตูชุมพล อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานไพที สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรี คนแรกของประเทศ เริ่มก่อสร้างในปี 2476 แล้วเสร็จ และ มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477 ในงานพิธีเปิดนี้ ได้มีการสร้างเหรียญไว้เป็นที่ระลึก โดยมี สมเด็จมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระคณาจารย์สายพระอาจารย์มั่น - พระอาจารย์เสาร์ ร่วมพิธีปลุกเสกที่ วัดสุทธจินดา ชาวเมืองนครราชสีมา รักและหวงแหนเหรียญรุ่นนี้กันมาก เพราะถือกันว่านี่คือ เหรียญแห่งชัยชนะ เพื่อศรีสง่าแห่งบ้านเมือง และเชิดชูเกียรติ ท้าวสุรนารี วีรสตรีไทยตลอดกาล ทางกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2510 ฐานอนุสาวรีย์ชำรุด ข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมา นำโดยนายสวัสดิวงศ์ ปฏิทัศน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น เป็นประธาน ได้ร่วมใจกันสร้างฐานอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม เพื่อให้เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง และเชิดชูเกียรติท้าวสุรนารี วีรสตรีไทยตลอดกาลนาน แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

สภาพปัจจุบัน

          อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกันกับประตูชุมพล โดยประติมากรรมรูปท้าวสุรนารี สูง ๑.๘๕ เมตร ใช้โลหะหนัก ๓๒๔ กิโลกรัม เป็นรูปหล่อหญิงตัดผมทรงดอกกระทุ่ม แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทานมือขวากุมดาบปลายจดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หัวหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ประดิษฐานอยู่บนปูนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง สูง ๒.๕ เมตร นับจากพื้นฟุตบาทจนถึงไพทีมี ๓ ชั้น ฐานชั้นแรกเป็นขั้นบันได ๔ ด้าน สำหรับเดินที่ปูพื้นด้วยกระเบื้องหินอ่อนมีเสาและโคมไฟฟ้า ประดับโดยรอบ ฐานชั้นที่สองเป็นที่สักการบูชา

การเปลี่ยนแปลง

         อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ซึ่งแต่เดิมเป็นวงเวียนอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีถูกผนวกรวมเข้าเป็นบริเวณเดียวกันกับประตูชุมพลด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองนครราชสีมา เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงและยกย่องคุณงามความดีของวีรสตรีสามัญชนกันอย่างคุ้นเคย ท่านเป็นวีรสตรีในประวัติศาสตร์ที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองจึงเป็นบุคคลที่ชาวโคราช ภาคภูมิใจและเคารพบูชา ท้าวสุรนารี หรือย่าโม กลายเป็นสัญญาลักษณ์ของชาวโคราชกระทั่งเรียกชื่อจังหวัดนี้ว่า “เมืองย่าโม”

           ปัจจุบันบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีมีสถานะเป็นลานคนเมือง มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ เป็นย่านธุรกิจที่คึกคัก มีโรงแรม ร้านอาหาร ตลาดขายของที่ระลึก ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม หรือของกิน โดยลานสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีนี้  ในทุกๆ วันจะมีประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช และประชาชนที่เดินทางผ่านจังหวัดโคราช เดินทางมาสักการะท้าวสุรนารี หรือย่าโม อย่างไม่ขาดสาย โดยชาวโคราชมักจะมาบนบานศาลกล่าวขอสิ่งต่าง ๆ จากย่าโม เช่น ขอให้มีงานทำ ขอให้มีลูก เมื่อประสมประสงค์แล้วจะแก้บนด้วยสิ่งของที่กล่าวไว้โดยเฉพาะการแก้บนด้วยเพลงโคราช ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการละเล่นที่ย่าโมโปรดปราน

ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

          ๑) การบูรณะ เมื่อกู่บรรจุอัฐิของย่าโมชำรุดทรุดโทรม ประชาชนชาวนครราชสีมาได้ร่วมใจกัน สละทุนทรัพย์สร้างรูปหล่ออนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีด้วยทองคำแดงรมดำขึ้น ซึ่งออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร

          ๒) เศรษฐกิจ เมื่อมีการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ โดยบริเวณรอบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีนั้น มีการขยายตัวจากเดิมอย่างมาก กลายเป็นแหล่งการค้า โรงแรม และแหล่งจัดกิจกรรมต่าง ๆ นับว่าเป็นศูนย์กลางของจังหวัดนครราชสีมา

          ๓) การปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีและประตูชุมพลให้มีสถานะเป็นลานคนเมือง

แก้ไขเมื่อ

2023-12-07

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร