เมืองกลอนโด


ละติจูด 13.9209689813 , ลองจิจูด 99.4300849939

พิกัด

ตำบลกลอนโด อำเภออำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ 71260

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

ชุมชนโบราณ เมืองโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์

ความสำคัญ/ลักษณะ

เมืองกลอนโด ตั้งอยู่ บริเวณหมู่ 2 บ้านกลอนโด ตำบลกลอนโด อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ตำบลกลอนโด ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2504 เมืองกลอนโดโบราณ มีลักษณะการอยู่อาศัยของชุมชนในชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 150 ปี ระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ถึง ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 น่าจะเป็น ป้อมปราการ (อังกฤษ: Fortress) หรือ ค่ายทหาร (อังกฤษ: Barracks) ของอาณาจักรเขมรโบราณ สืบต่อมาจนถึงสมัยจักรวรรดิบายน ที่รุกเข้ามาสู่ภาคตะวันตกตามแนวลำน้ำแม่กลองเข้าสู่ลำน้ำแควน้อย หลักฐานที่หลงเหลือที่เห็นชัดเจนคือแนวกำแพงเมือง และประตู เมืองด้านทิศตะวันออก

เมืองโบราณ “กลอนโด”  หรือเมือง “กลอนโก” ตั้งอยู่ริมน้ำแควน้อยฝั่งทางทิศใต้ ในเขตตำบลกลอนโด อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเมืองที่มีคันดินสูงกว่า 3 – 5 เมตร กว้างประมาณ 12 - 13 เมตร  ล้อมรอบตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีความกว้างยาวประมาณ 250 x 260 เมตร เคยมีร่องรอยของคูน้ำล้อมรอบ แต่ในปัจจุบันถูกไถทำการเพาะปลูก เกลี่ยดินถมคูน้ำไปจนหมด ภายในมีพื้นที่ประมาณ 35 ไร่ ตรงกลางเป็นเนินสูงกว่าโดยรอบเล็กน้อย ปัจจุบันใช้เป็นที่เพาะปลูกพืชไร่อย่างอ้อยหรือข้าวโพด ทางทิศตะวันตก มีบ้านเรือนตั้งอยู่ 2 – 3 หลัง โดยได้รับการอนุญาตจากสำนักศิลปากรที่ 2 ให้ตั้งบ้าน ช่วยดูแลรักษาอยู่ภายใน

  กลางคัน (กำแพง) ดินทางทิศตะวันตกและตะวันออก มีช่องประตูอย่างละ 1 ช่อง ส่วนทางทิศใต้เป็นช่องที่เจาะแนวคันดินขึ้นใหม่เพื่อตัดถนนในยุคหลัง 2 ช่อง มีบ่อน้ำ (บาราย - Baray ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ) ขนาดประมาณ 120 x 90 เมตร ติดกับแนวกำแพงทางทิศเหนือเยื้องไปทางทิศตะวันออก รับน้ำมาจากคลองตะเคียนที่ไหลมาจากตะวันตกไปไหลลงลำน้ำแควน้อยเก่าทางทิศตะวันออก 

ชื่อ “กลอนโด” เป็นชื่อที่มาจากคำบอกเล่าในนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ท้าวเวชสุวรรณโณกับท้าวอู่ทอง” มาจากคำว่าเมือง “กลอนโด่” ที่ท้าวอู่ทองมาสร้างไว้ แต่ยังสร้างเมืองไม่เสร็จ ท้าวเวสสุวรรณโณตามมาทัน ทาวอู่ทองจึงทิ้งเมืองไว้เหลือเพียงแต่กลอนประตูตั้ง “โด่เด่” อยู่ สอดรับกับเรื่องเล่าของชาวบ้านพื้นถิ่นที่เล่ากันว่า เคยมีผู้พบชิ้นส่วนของกลอนประตู (หินทราย  ?) และเคยมีร่องรอยของอาคารอิฐ (ดินเผา) ที่มีรูเสาตั้งอยู่บริเวณกลางเมือง แต่ปัจจุบันพังทลายหายไปจนหมดแล้ว

 ในอีกความหมายหนึ่ง ชื่อของเมือง “กลอนโด” ที่เดิมเคยมีการเรียกกันว่า “กลอนโก” นั้น อาจมาจากชื่อในภาษาเขมรโบราณว่า “เกราโก” (Krol ko) ที่มีความหมายถึง “คอกเลี้ยงวัวขนาดใหญ่” แต่ก็เพี้ยนเสียงมาเป็นกลอนโด่ ผสมผสานกับนิทานเรื่องเล่าพื้นบ้าน กลายมาเป็นชื่อของกลอนโดในปัจจุบัน 

 “เมืองโบราณกลอนโด” เป็นหลักฐานสำคัญ ที่แสดงให้เห็น “ขั้นตอน” การขยายอิทธิพลทางการเมืองและคติความเชื่อของ ”จักรวรรดิบายน” (Bayon Empire) ในยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (Jayavarman 7) เข้ามาสู่แดนตะวันตก จากฐานที่มั่นใหญ่ของราชวงศ์ “มหิธระปุระ” ที่เมืองลวะปุระหรือจังหวัดลพบุรี  วัฒนธรรมเขมรโบราณเริ่มขยายตัว แพร่กระจายอิทธิพลทางศิลปะและความเชื่อแบบฮินดู ขยายตัวเข้ามาสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 14  ดังที่พบร่องรอยหลักฐานจำนวนมาก ที่เมืองอู่ทองโบราณ เมืองโบราณนครปฐม (ชยศรี) เมืองโบราณพงตึก แต่กระนั้น หลักฐานโบราณวัตถุหลายชิ้น (เช่น เอกามุขลึงค์ ฐานศิวลึงค์ ที่เมืองโบราณอู่ทอง) แสดงว่า หลายเมืองโบราณในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีน อาจรับอิทธิพลทางคติฮินดู (Hinduism) มาจากชวาหรืออินเดียโดยตรง จนถึงพุทธศตวรรษที่ 17 เมืองลวปุระและเมืองอโยธยา ก็ได้กลายเป็นหัวเมืองใหญ่ทางตะวันตกสุดของอาณาจักรเขมรโบราณอย่างชัดเจน โดยมีอิทธิพลในการปกครองและผู้ปกครองจากเครือญาติกษัตริย์จากลวะปุระ ครอบคลุมอำนาจไปถึงเมืองนครปฐม (ชยศรี) อู่ทองและสุพรรณบุรี

 จากจารึกปราสารทตอว์ (Tor Pr.) ที่กล่าวถึงเรื่องราวการ “พิชิตเหล่าราชาในแดนตะวันตก”ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  และจารึกปราสาทพระขรรค์ (Preah Khan Inscription) ที่กล่าวถึงเรื่องของการถวาย  “พระชัยพุทธมหานาถ” (Jaya Buddha Mahanart) ไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วจักรวรรดิบายน ทั้งยังปรากฏชื่อของเมืองใหญ่อย่างน้อย 6 วิษัยนคร ที่เชื่อกันว่า คือเมืองในเขตภาคตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลองและลุ่มน้ำเพชรบุรี ทั้ง วิษัย “ชยวัชรปุระ” ที่อาจมีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี  ที่มีการค้นพบรูปประติมากรรมในคติบายนจำนวนมาก วิษัย“ชยราชปุรี” ที่มีราชวิหารเป็นศูนย์กลางอยู่ที่วัดมหาธาตุราชบุรี  วิษัย “ชยสิงหปุระ” หรือปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีการขุดพบรูปประติมากรรมเฉพาะในคติวัชรยานจำนวนมาก   วิษัย “สุวรรณปุระ” ที่เมืองโบราณเนินทางพระ ตำบลบ้านสระ จังหวัดสุพรรณบุรี  วิษัย“ลโวทยปุระ” หรือเมืองโบราณลพบุรี และ วิษัย ”ศัมพูกปัฏฏนะ” เมืองโบราณข้างสระโกสินารายณ์ ในจังหวัดราชบุรี   รวมทั้งหลักฐานของรูปเคารพสำคัญในคติความเชื่อ ”เฉพาะ” ในยุคจักรวรรดิบายน “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอานุภาพ” (Bodhisattva Avalokitesvara irradiant) ที่พบในเขต 3 เมือง จากทั้งหมด 6 เมือง ก็ล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของอิทธิพลทางการทหาร อำนาจการปกครองและวัฒนธรรมบายน ในยุคพุทธศตวรรษที่ 18 ที่ขยายเข้าสู่แผ่นดินตะวันตกได้อย่างชัดเจน

 “เมืองป้อมค่ายกลอนโด” เป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่นัก (“เมืองครุฑ” ทางทิศตะวันออกของเมืองสิงห์ มีขนาด 520 x 340 เมตร) การขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงปี 2548 พบเครื่องเซรามิคเคลือบขาวแบบจีน (ชิงไป๋) (Chinese Glaze Stoneware) ที่ผลิตจากเตาในมณฑลฟูเจี้ยน เครื่องเคลือบดินเผาแบบเขมร (Khmer Glaze Stoneware) แบบเตาราชวงศ์มหิธระปุระ อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 กระจายตัว แตกหักทับถมอยู่ทั่วบริเวณเมืองเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังพบเครื่องประดับตะกั่ว สำริด เงิน รูปเคารพหินทรายเทวสตรีที่แตกหัก และ “ก้อนดินเผา” ที่มีร่องรอยการกดประทับพิมพ์ของโครงสร้างอาคารไม้ ทั้งเป็นรอยโค้งนูน  รอยเว้า เรียบแบน คล้ายแผ่นไม้ไผ่สานขัดเป็นผนังโครงสร้าง และรอยพิมพ์ของเศษเยื่อไผ่ติดอยู่กับก้อนดินเผา    ที่คันกำแพงดินโดยรอบเมือง ยังพบก้อนดินเผากองพูนทับถมกันอย่างหนาแน่น คันกำแพงดินทางทิศตะวันตกมีร่องรอยการจัดเรียงก้อนดินเผาทำเป็นผนังกำแพงด้านนอก ด้านในอาจกุด้วยดินอัดเป็นแกนกำแพง อีกทั้งยังมีร่องรอยของเพลิงไหม้ ปรากฏบนก้อนดินเผาเป็นบริเวณกว้าง 

   จากหลักฐานก้อนดินเผาที่พบเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า ในครั้งเริ่มแรกราวพุทธศตวรรษที่ 17 “เมืองป้อมค่ายกลอนโด” มีการสร้างแนวกำแพงคันดินที่มีการปักไม้ไผ่ไว้บนยอดสันกำแพงเป็นเชิงเทิน ด้านนอกคันดิน อาจมีการสุมไฟเพื่อเปลี่ยนหน้าดินอ่อนให้แข็งเป็นดินเผา เพื่อความแข็งแรงทนทาน ไม่ให้ศัตรูที่เข้ามาประชิดขุดทำลายฐานกำแพงได้โดยง่าย

 จากหลักฐานต่าง ๆ ที่พบ แสดงให้เห็นว่า เมืองกลอนโดโบราณ มีลักษณะการอยู่อาศัยของชุมชนในชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 150 ปี (กลางพุทธศตวรรษที่ 17 – ปลายพุทธศตวรรษที่ 18) น่าจะเป็นป้อมปราการ (Fortress ) หรือ “ค่ายทหาร” (Barracks) ของอาณาจักรเขมรโบราณ สืบต่อมาจนถึงสมัยจักรวรรดิบายน ที่รุกเข้ามาสู่ภาคตะวันตกตามแนวลำน้ำแม่กลองเข้าสู่ลำน้ำแควน้อย

 หลักฐานภาชนะที่พบทั้งเครื่องดินเผา เครื่องเคลือบแบบเขมรและแบบจีน ที่มีรูปร่างรูปแบบคล้ายคลึงกัน ที่ดูเป็นแบบแผน ขาดความ “หลากหลาย” รวมทั้งร่องรอยการสร้างอาคารเรือนพักที่ใช้โครงสร้างไม้และไม้ไผ่ที่มีการนำดินโคลนมาพอกทับ  ล้วนแสดงให้เห็นความเป็นอยู่ “กลุ่มคน” ที่มีรูปแบบของการอยู่อาศัย รวมทั้งหน้าที่ที่เหมือนกัน ซึ่งนั่นก็อาจหมายถึง ชุมชนที่ตั้งมั่นอยู่ในเมืองกลอนโด ก็คือกลุ่มทหารหรือคาราวานกองทัพเขมรโบราณ ที่เข้ามาตั้ง “ฐานทัพ” แรก บนลุ่มแม่น้ำแควน้อย เพื่อขยายตัวเข้าสู่แดนตะวันตกในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา และพัฒนาขึ้นเป็น “ป้อมค่าย” สำคัญเพื่อการควบคุม “อำนาจ” เหนือเส้นทางน้ำ ที่จะเชื่อมต่อออกไปสู่เมืองสำคัญของลุ่มแม่น้ำแม่กลอง นครปฐมและอโยธยา นั่นเอง

 แต่ร่องรอยหลักฐานในยุคหลังก็แสดงให้เห็นว่า มีการ “เผาทำลาย” หรือ “เกิดเพลิงไหม้” ครั้งใหญ่ จนดินที่พอกไม้ แนวดินหรือพื้นดินที่รองรับโครงสร้างไม้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเรือนพักและเชิงเทิน ต่างก็ถูกความร้อน เผาไหม้จนกลายเป็นดินสุก (แข็ง) บ้าง ไม่สุกบ้าง ที่มีร่องรอยของพิมพ์ไม้ประทับติดอยู่ แตกกระจายไปทั่วบริเวณเมือง

 ซึ่งเหตุผลสำคัญของ “เพลิงไหม้” ครั้งใหญ่ ก็อาจจะมาจาก “การสงครามครั้งสุดท้าย” ที่ “เหล่าพระราชาตะวันตก” (ที่ถูกกล่าวถึงในจารึก) อาจกลับเข้ามาปลดแอกอำนาจที่อ่อนแอลงของจักรวรรดิบายน นำทหารเข้าตีและทำลายป้อมค่ายกลอนโด ตัดเส้นทางเชื่อมต่อสำคัญไปยังเมืองสิงห์และเมืองครุฑ เคลื่อนเข้าทำลาย “วิษัยศัมพูกปัฏฏนะ”(จอมปราสาท สระโกสินารายณ์) ศูนย์อำนาจบายนแห่งลุ่มน้ำแม่กลอ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19  รื้อถอนปราสาทและทุบทำลายรูปเคารพแห่ง “อานุภาพ” ไปทั่วแคว้น...แดนตะวันตก

   หลังจากร้างราไปกว่าร้อยปี ผู้คนในยุคหลัง (อาจเป็นช่วงกรุงศรีอยุธยา) ก็ได้ย้อนกลับยังเข้าไปใช้เมืองป้อมกลอนโด เพื่อพักแรมระหว่างเดินทางตามเส้นทางน้ำแควน้อย หรือตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อทำการเพาะปลูก จึงปรากฏร่องรอยของการบูรณะเมืองกลอนโด โดยการนำก้อนดินเผาที่แตกกระจัดกระจาย นำกลับขึ้นไปพูนทับถม ทำเป็นแนวคันกำแพงดินขึ้นใหม่อีกครั้ง

ขอขอบคุณ : วรณัย พงศาชลากร

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2019-04-03

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร