เมืองเก่ากาญจนบุรี


ละติจูด 14.017964 , ลองจิจูด 99.534368

พิกัด

ตำบลบ้านเหนือ อำเภออำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ 71000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

เมืองเก่า เมืองประวัติศาสตร์

ความสำคัญ/ลักษณะ

กาญจนบุรีเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบหลักฐานต่อเนื่องตั้งแต่สมัยยุคหินเก่า ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่ และสมัยโลหะ พบกระจายอยู่ทั่วไปตามเพิงผาถ้ำ และริมฝั่งแม่น้ำ แหล่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ แหล่งโบราณบ้านเก่าท่อยู่ริมแม่น้ำแควน้อยในเขตอำเภอเมืองกาญจนบุรี เนื่องจากเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์แห่งแรกที่มีการขุดค้นอย่างเป็นระบบถูกต้องตามหลักวิชาการ ต่อมาในสมัยทวารวดีต่อเนื่องถึงสมัยลพบุรี เมืองกาญจนบุรีสันนิษฐานว่าน่าจะมีการอยู่อาศัยรวมกันเป็นชุมชนขนาดใหญ่หลายแห่ง โดยพบหลักฐานในสมัยดังกล่าวกระจายอยู่โดยทั่วไป ในสมัยสุโขทัยเมืองกาญจนบุรีไม่ถูกกล่าวถึง แต่ในสมัยอยุธยากลับปรากฏบทบาทสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านและอยู่ในเส้นทางเดินทัพระหว่างพม่าและกรุงศรีอยุธยา ทำให้เมืองกาญจนบุรีมีบทบาทเป็นเมืองหน้าด่านก่อนที่พม่าจะยกทัพเข้าตีเมืองสุพรรณบุรีและกรุงศรีอยุธยาในที่สุด แต่เมืองกาญจนบุรีครั้งนั้นตั้งอยู่ที่หมูบ้านท่าเสา ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเก่ากาญจนบุรีในปัจจุบันประมาณ 20 กิโลเมตร แต่อย่างไรก็ตามในบริเวณเมืองเก่ากาญจนบุรีในปัจจุบันที่ตั้งอยู่ที่ถนนปากแพรกสันนิษฐานว่าน่าจะมีการตั้งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เนื่องจากในสมัยอยุธยามักใช้บริเวณดังกล่าวเป็นที่รวมพลก่อนยกทัพไปต่อต้านทัพพม่า และเหตุการณ์เป็นเช่นนี้มาจนถึงสมัยธนบุรี และในสมัยรัตนโกสินทร์พม่าเริ่มเปลี่ยนเส้นทางเดินทัพจากการยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์มาเป็นการยกกองทัพเรือล่องมาตามลำน้ำแควน้อยมาขึ้นที่ปากแพรก เพื่อจะได้เข้าโจมตีกรุงเทพซึ่งอยู่ต่ำลงมาจากอยุธยาได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งทัพที่ตำบลปากแพรกทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง เมืองเก่ากาญจนบุรีปรากฏบทบาทอีกครั้งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-2488) กองทัพญี่ปุ่นได้ขอเดินทัพผ่านไปยังประเทศพม่า กาญจนบุรีจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ จะเห็นได้ว่าเมืองเก่ากาญจนบุรี (ปากแพรก) เป็นเมืองที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง จากเมืองค่ายตั้งรบเปลี่ยนมาเป็นชุมชนย่านการค้าที่บทบาทอย่างชัดเจนในสมัย ร.4 โดยชุมชนปากแพรกได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาคารร้านค้ามาเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน จากนั้นก็ได้รับอิทธิพลของรูปแบบสถาปัตยกรรมทางตะวันตก และในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชุมชนปากแพรกได้กลายเป็นแหล่งซื้อขายเครื่องอุปโภคบริโภคที่ใช้ในยามสงคราม แต่ภายหลังเมื่อสงครามยุติทำให้ถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงย่านพาณิชยกรรมที่ให้บริการภายในชุมชน เนื่องมาจากการขยายตัวเมืองและการเคลื่อนย้ายศูนย์กลางพาณิชยกรรมไปอยู่บริเวณถนนแสงชูโต ทั้งนี้ เมืองเก่ากาญจนบุรียังคงวิถีชีวิต และรักษามรดกทางประวัติศาสตร์ โบราณสถาน และสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์แสดงถึงความเป็นเมืองเก่ากาญจนบุรีที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

โบราณสถานในเขตเมืองเก่า

  โบราณสถานในเขตเมืองกาญจนบุรีเก่ารเคยเป็นสถานที่ตั้งของเมืองหน้าด่านในการสกัดกั้นการเดินทัพของพม่าซึ่งยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ตั้งแต่สมัยอยุธยานจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนสภาพปัจจุบันยังคงเหลือร่องรอยของแนวกำแพงดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 167 x 355 เมตร มีป้อมค่ายอยู่ทั้ง 4 มุมนโบราณสถานบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ วัดป่าเลไลยก์ วัดขุนแผน วัดแม่หม้ายเหนือ วัดแม่หม้ายใต้และวัดนางพิมหรือวัดกาญจนบุรีเก่าและป้อมเมืองกาญจนบุรีเก่า

ประวัติ

         ในสมัยอยุธยา เมืองกาญจนบุรีเก่าเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการตั้งรับทัพพม่า ที่ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ และร้างไปตั้งแต่ต้นสมัย รัตนโกสินทร์ เนื่องจากมีการย้ายเมืองลงมาตั้งตามลำน้ำแควใหญ่และลำตะเพินบริเวณ ต. ปากแพรก ในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งเมือง มีการค้นพบโบราณวัตถุมากมายทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงการเป็นเส้นทางผ่านของอารยธรรมอินเดียที่มาขึ้นบกที่อ่าวเมาะตะมะ แล้วผ่านด่านเจดีย์สามองค์เข้าสู่ไทย นอกจากนี้ยังพบหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกาญจนบุรีกับหัวเมืองใกล้เคียง เช่น สุพรรณบุรี ราชบุรี อยุธยา ทั้งเป็นเส้นทางเดินทัพของไทยและพม่าที่สำคัญอีกด้วย พ.ศ. 2467 พระครูจวยจากวัดหนองบัว (หรือวัดศรีอุปลารามใน อ. เมืองกาญจนบุรี) เดินทางมาจำพรรษาที่วัดขุนแผนและ นำชาวบ้านออกสำรวจ พบวัดร้างถึงเจ็ดแห่ง ท่านจึงตั้งชื่อวัดให้สอดคล้องกับวรรณคดีพื้นบ้านเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่น วัดขุนแผน วัดขุนไกร วัดนางพิมพ์ เป็นต้น ต่อมา ปี พ.ศ. 2472 พระครูจวนนำชาวบ้านแผ้วถาง ปฏิสังขรณ์วัดนางพิมพ์ขึ้นใหม่และตั้งชื่อว่าวัดกาญจนบุรีเก่าส่วนโบราณสถานอื่นๆ ทางวัดและชาวบ้านต่างเข้าไปขุดหาของโบราณและพบกรุพระเครื่องจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณวัดขุนแผน

 •   วัดป่าเลไลยก์ ปัจจุบันเป็นวัดร้าง สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเดิมมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานในมณฑปแต่ถูกคนลับลอบผ่าอกจนทะลุเพื่อหากรุพระ ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดผ่าอก ต่อมา พ.ศ. 2517 พระจากวัดกาญจนบุรีเก่าได้นำชาวบ้านสร้างพระพุทธรูปปางปาลิไลย์ขึ้นแทนเพื่อให้สอดคล้องกับเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน โบราณสถานสำคัญที่พบในบริเวณวัด ได้แก่

มณฑป หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ขนาดใหญ่

วิหาร อยู่กึ่งกลางระหว่างมณฑปและเจดีย์ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังก่อทึบ มีประตูเข้าสองประตูทางทิศตะวันออกบันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศเหนือและใต้ ส่วนหลังคาสร้างขึ้นใหม่

เจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงกลมสององค์บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐสอดินฉาบปูน ส่วนยอดหักพังหมดแล้ว

        •   วัดขุนแผน ปัจจุบันเป็นวัดร้าง เป็นวัดขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากวัดป่าเลไลยก์มาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 500 ม. เมื่อ พ.ศ. 2532 กรมศิลปากรเข้ามาขุดแต่งและบูรณะหลังจากโบราณสถานทั้งหมดถูกขุดทำลายจนทรุดโทรม พบโบราณสถานที่สำคัญได้แก่

- ปรางค์ เป็นปรางค์เดี่ยว สูงราว 15 ม. อาจเป็นพระมหาธาตุประจำเมืองกาญจนบุรีเก่า ลักษณะเป็นปรางค์สมัยอยุธยา คล้ายปรางค์ที่ ต. ศาลาขาว อ. เมือง จ.สุพรรณบุรี แต่ขนาดเล็กกว่าก่อด้วยอิฐสอดินฉาบปูน ไม่มีลวดลายใดๆ ฐานหน้ากระดานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 9 ม. สูง 65 ซม. ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานชุดลายบัว ย่อมุมไม้สิบสองเพิ่มมุม เหนือขึ้นไปอีกเป็นเรือนธาตุ มีซุ้มจระนำกลีบขนุนเรียงตัวอย่างมีระเบียบ ส่วนนอกคล้ายฝักข้าวโพดทว่ายอดนพศูลหักพังลงมาหมดแล้ว

โบสถ์ พบฐานโบสถ์ก่ออิฐสอดินฉาบปูน กว้าง 17.2 ม. ยาว 7.8 ม. สูง 2.5 ม. มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก ภายในอาคารแบบอยุธยาตอนปลาย

เจดีย์ประจำทิศและเจดีย์ราย มี 12 องค์ ก่อด้วยอิฐสอดินฉาบปูน ส่วนมากยอดหัก พังหมดแล้ว

        •   วัดแม่หม้าย ปัจจุบันเป็นวัดร้าง สร้างขึ้นสมัยอยุธยา อยู่ห่างจากวัดขุนแผนไปทางตะวันออกราว 300 ม. พบโบราณสถานสองกลุ่ม โดยมีสระน้ำขนาดใหญ่เรียกว่าสระล้างกระดูกอยู่ระหว่างกลาง

วัดแม่หม้ายเหนือ มีฐานเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ ฐานประทักษิณก่อด้วยอิฐสอดิน ส่วนยอดหักพังลงมา มีบันไดขึ้นด้านทิศตะวันตก และฐานวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันตก

วัดแม่หม้ายใต้ พบฐานวิหารขนาดกลางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีฐานเจดีย์รายและกำแพงแก้วล้อมรอบ

        •   วัดกาญจนบุรีเก่า (วัดนางพิมพ์) ได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยซากโบราณสถานเดิมให้เห็น

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

1. ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่ากาญจนบุรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2561

แก้ไขเมื่อ

2019-04-03

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร