บ้านชาวจีนไสไทย


ละติจูด 8.079964 , ลองจิจูด 98.856802

พิกัด

ตำบลไสไทย อำเภออำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม พระราชวัง

ความสำคัญ/ลักษณะ

ประเภทแหล่งศิลปกรรม สิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยประวัติความเป็นมา /ความสำคัญเป็นบ้านของชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ตำบลไสไทยยุคแรก ๆ สร้างขึ้นประมาณ 90-100 ปี ที่ผ่านมา เจ้าของบ้านคือนายกิว แซ่กง และนางก๊กหยิ่ว ชดช้อย ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ปัจจุบันภายในบ้านยังมีผู้สูงอายุซึ่งเป็นลูกสาว และหลาน เหลน อาศัยอยู่ ที่น่าสนใจคือเจ้าของบ้านยังคงดูแลรักษาให้คงอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ลักษณะตัวบ้าน เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ด้านล่างส่วนหน้า ประตูหน้าบ้านมีการล็อค 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นประตู 2 บาน ใช้กลอนสลัก 2 อัน ด้านบนและด้านล่าง เมื่อต้องการปิดประตูจะผลักกลอนสอดสลับซ้าย-ขวา ยังคงใช้งานได้ดีเช่นเดียวกับประตูด้านหลัง ประตูหน้าบ้านมีล็อคด้านในอีกชั้น โดยใช้ไม้กลมยาว 12 อัน ยาวกว่าความกว้างของวงกบประตูเล็กน้อย ปลายด้านขวาตอกไว้กับแผ่นไม้กระดาน ปลายด้านซ้ายสอดคาไว้บริเวณวงกบด้านขวาที่เจาะรูไว้ระยะห่างเท่า ๆ กัน เมื่อต้องการปิดผลักแผงไม้กลมซึ่งมีล้อวิ่งบนรางไม้ด้านล่างผ่านวงกบจากขวาไปซ้ายให้ลงล็อคกับรูที่เจาะเป็นวงกลมเท่าเส้นผ่าศูนย์กลางของไม้กลมบริเวณวงกบด้านซ้ายมือ แม้ล็อคชั้นในจะฝืดและเลิกใช้แล้ว แต่ยังคงมีร่องรอยหลักฐานการใช้งานที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ตรงกลางเพดานส่วนหน้าของบ้านซึ่งเป็นพื้นบ้านชั้น 2 เจาะช่องสี่เหลี่ยมกว้างพอประมาณมีลูกกรงล้อมรอบเพื่อกันไม่ให้เด็กตกลงมาข้างล่าง ใช้ประโยชน์ในการส่งของขึ้นลงระหว่างชั้นบนและชั้นล่างโดยไม่ต้องผ่านบันไดแคบ ๆ นอกจากนั้นยังเป็นช่องระบายอากาศ เป็นช่องทางสำหรับพูดคุยสั่งการของคนในบ้านที่อยู่ชั้นบนกับชั้นล่าง และมองลงมาว่าใครเดินเข้าบ้านได้ด้วย นับเป็นภูมิปัญญาชาวจีนในยุคสมัยหนึ่งที่นำมาใช้ในประเทศไทย ส่วนอีกหลังหนึ่งที่สร้างขึ้นประมาณ ไม่ต่ำกว่า 80-100 ปี เจ้าของบ้านเดิม คือ นายหงวน ไสไทย เสียชีวิตไปแล้ว หลังจากนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของลูกชาย ชื่อนายดำ ไสไทย ปัจจุบันนางสมจิต ไสไทย ลูกสาวของนายดำ พักอาศัยอยู่กับสามีชาวสุพรรณ คือนายเหน่ง มรรยาวุฒิ สภาพทั้งภายนอกและภายในบ้านยังคงมีสภาพดั้งเดิม ที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาในการก่อสร้างบ้านไม้ในอดีตและประโยชน์ใช้สอยพื้นที่ภายในตัวบ้าน หน้าต่างชั้นบนของบ้านเป็นบานเปิด 2 บาน ยาวเกือบถึงพื้นห้องเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ด้านในมีลูกกรงอีกชั้นเพื่อป้องกันเด็กตกลงมาข้างล่าง บริเวณด้านหน้าของตัวบ้านชั้นล่างมีหิ้งบรรพบุรุษ ประกอบด้วยรูปถ่ายผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วและกระถางธูปประจำตัวของแต่ละคน ฝาผนังด้านขาวมือ มีภาพถ่ายเก่า ๆ ของเจ้าของบ้านขณะมีชีวิตและภาพลูกหลาน รวมทั้งภาพขบวนแห่ศพของเจ้าของบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการประกอบพิธีศพตามประเพณีชาวจีนโบราณ ที่ผสมผสานกับประเพณีท้องถิ่นของชาวไทย เช่น การแต่งกายในพิธีศพลูกหลานยังแต่งชุดผ้าดิบสีขาวด้านใน ผ้ากระสอบหรือผ้าปอทับอีกชั้นมีผ้าคลุมหัวด้วยโดยจะมีสีหรือเครื่องหมายแสดงถึงความเกี่ยวข้องกับผู้ตาย แต่ในภาพศพจะบรรจุในโลงสี่เหลี่ยมแบบไทย แทนโลงหัวหมูแบบดั้งเดิมซึ่งต้องใช้ไม้ทั้งต้น และช่างไม้ชาวจีนที่เคยผลิตขายก็แทบจะหาไม่ได้แล้ว นอกจากนั้น ยังมีภาพที่ทรงคุณค่าและบ่งบอกถึงความเก่าแก่ของบ้าน คือภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ทรงอุ้มพระธิดาและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงอุ้มพระโอรสในวัยทารก คือ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งทรงพระราชสมภพได้ไม่นาน

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2020-12-03

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนงานและโครงการ
- ไม่มีเอกสาร -