แหล่งโบราณคดีบ้านขาม


ละติจูด 16.165963 , ลองจิจูด 102.542013

พิกัด

บ้านขาม หมู่ที่ 5 ตำบลสวนหม่อน อำเภออำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น รหัสไปรษณีย์ 40160

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

แหล่งโบราณคดีบ้านขาม เป็นแหล่งโบราณคดีที่ประกอบด้วยเนินดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านและโนนค้อ เนินดินมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 200-600 เมตร สูง 120 เมตร และพื้นที่โดยรอบสูง 160 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เนินดินลาดเอียงจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปทางตะวันตก - เฉียงเหนือ มีแหล่งน้ำสำคัญอยู่ทางตะวันตกของหมู่บ้าน คือ ห้วยชีรอง และทางตะวันออก คือ ลำห้วยปากดาว ดินบริเวณที่ตั้งของแหล่งฯ คือ ดินชุดโคราช ส่วนพื้นที่โดยรอบคือ ดินชุดร้อยเอ็ด และดินชุดสตึก หลักฐานโบราณวัตถุที่พบ ได้แก่

          1. เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ

          2. ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก

          3. เสมาหินทรายสีแดง เรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม ทอดตัวยาวไปตามแนวตะวันออกตะวันตก

          4. ชิ้นส่วนดินเผารูปโค้งกระจายอยู่หลายชิ้น เป็นแผ่นคล้ายเศษภาชนะดินเผาแต่ ด้านหัวตัดตรงเป็นสัน บางชิ้นมีดินม้วนรูดอยู่ทางด้านข้าง

          5. พระพุทธรูปสำริด (จากการสัมภาษณ์)

          6. เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง 3 ชิ้น เคลือบผิวแบบเครื่องถ้วยเขมรและไม่เคลือบผิว

จากการสำรวจพบว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่ประกอบด้วยเนินดิน 2 เนิน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำชี เป็นบริเวณที่นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า บริเวณนี้มีการขยายตัวทางวัฒนธรรมกว้างขวางกว่าบริเวณอื่นมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะมีภูมิประเทศที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐาน ดังนั้นจึงพบชุมชนโบราณหนาแน่น ได้พบหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ภาชนะดินเผา, เสมาหิน และภาชนะบรรจุกระดูก และจากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่าชุมชนโบราณแห่งนี้คงมีอายุตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องจนถึงพุทธศตวรรษที่ 12 ลงมา

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีบ้านขามเป็นที่ตั้งของบ้านขาม หมู่ที่ 5 ตำบลสวนหม่อน อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ซึ่งไม่ได้มีการพบเห็นโบราณวัตถุแล้ว เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาประกอบกับมีการปรับพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทำให้โบราณวัตถุต่าง ๆ ไม่หลงเหลืออยู่แล้ว แต่ยังพบว่าบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นเนินดินสูงกว่าบริเวณโดยรอบ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ร้อยตำรวจโทสุระไกร เกรียงไกรชล (ชาวบ้านขาม หมู่ที่ 5) ทำให้ทราบว่า ในอดีตบ้านขามจะมีบริเวณที่เป็นเนินดินและมีต้นค้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “โนนค้อ” เป็นบริเวณที่มีการพบโบราณวัตถุ เช่น เครื่องปั้นดินเผา หม้อ ไห เข็มขัดนาค สตางค์แดง เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะพบได้หลังจากฝนตกชะล้างหน้าดินไปหรือเมื่อมีการปรับพื้นที่ แต่ปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านั้นได้สูญหายไปแล้ว เนื่องจากไม่ได้มีผู้สนใจเก็บรวบรวมไว้

แก้ไขเมื่อ

2022-07-21

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
- ไม่มีเอกสาร -