วัดช้างค้ำ


ละติจูด 20.2698810376 , ลองจิจูด 100.081009955

พิกัด

ตำบลเวียง อำเภออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

วัดช้างค้ำเป็นโบราณสถานของเมืองโบราณเชียงแสน โบราณสถานสำคัญภายในวัด ได้แก่ เจดีย์ที่ทำประติมากรรมรูปช้างล้อมรอบ เดิมวัดช้างค้ำเป็นเนินดินโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเตี้ย ๆ หลังจากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบฐานเจดีย์ 1 องค์ รูปทรงฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีการก่อสร้างซ้อนทับกันคือ องค์ในมีลักษณะเป็นชุดฐานบัวคว่ำบัวหงาย 3 ชั้น โดยแต่ละชั้นตกแต่งส่วนท้องไม้ด้วยลวดบัวและบัวคว่ำบัวหงายขนาดเล็ก รวม 4 เส้น จึงทำให้ทราบว่าเจดีย์องค์ในน่าจะเป็นทรงกลมแบบล้านนา ส่วนองค์นอกเป็นเจดีย์ทรงกลมเช่นกัน แต่ส่วนฐานประดับช้างล้อม (ครึ่งตัวด้านหน้า) ทุกด้าน ด้านละ 3 เชือก (ปัจจุบันส่วนใหญ่แตกหักออกไป เหลือร่องรอยเพียงส่วนเท้าหน้าทั้ง 2 ข้าง ยกเว้นด้านทิศตะวันออกที่เหลือประติมากรรมช้างให้เห็นมากที่สุด) มีบันไดเป็นทางเดินทอดยาวไปทางองค์เจดีย์ แล้วยกชั้นบันไดขึ้นไปบนทางเดินประทักษิณรอบองค์เจดีย์ ทั้ง 2 ข้างของทางเดินมีแท่นฐานก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และบริเวณนี้พบชิ้นส่วนเศียรสิงห์ขนาดใหญ่ตกหล่นอยู่ สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นฐานรองรับราวบันไดที่ตกแต่งสิงห์ ทั้งยังมีกำแพงแก้วและซุ้มประตู (ซุ้มโขง) ทางด้านทิศตะวันออกอีกด้วย ส่วนด้านทิศตะวันตกขององค์เจดีย์พบฐานก่ออิฐรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาววางตัวตามแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ ด้านบนอาคารพบพื้นปูอิฐและเสา พร้อมทั้งบันไดทางขึ้นด้านทิศใต้ของอาคาร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอาคารโถงประเภทศาลาหรือซุ้มสักการะบูชาองค์เจดีย์ ในบริเวณด้านทิศตะวันออกห่างจากองค์เจดีย์ พบแนวกำแพงก่ออิฐต่อเนื่องเข้าไปในพื้นที่ของวัดอโศกทางด้านทิศใต้ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาโดยเฉพาะที่ผลิตจากแหล่งเตาล้านนาที่พบ ได้แก่ แหล่งเตาเวียงกาหลง (พุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22) แหล่งเตาพาน (ปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21) และแหล่งเตาสันกำแพง (ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึง กลางพุทธศตวรรษที่ 23) นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปหินทราย สกุลช่างเมืองพะเยา แม้ว่าจะไม่พบเศียรที่มีพระพักตร์ แต่สามารถกำหนดอายุโดยรวมได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22 และยังพบจารึกบนอิฐและกระดิ่ง เป็นอักษรธรรมล้านนาที่นิยมใช้ในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2020-12-03

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนงานและโครงการ
- ไม่มีเอกสาร -