วัดขุนแผน (พระปรางค์)


ละติจูด 14.118198 , ลองจิจูด 99.399609

พิกัด

ตำบลลาดหญ้า อำเภออำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ 71190

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

 วัดขุนแผนตั้งอยู่ในเขตเมืองกาญจนบุรีเก่า ห่างจากวัดป่าเลไลยก์ไปทางทิศใต้ประมาณ ๕๐๐ เมตร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ พระครูจวนได้มาจำพรรษาที่วัดนี้ ได้ชักชวนชาวบ้านให้สำรวจวัดโบราณ และเป็นผู้เรียกวัดโบราณเหล่านี้ว่าวัดขุนแผน วัดนางพิม วัดแม่หม้าย วัดขุนไกร ฯลฯ กรมศิลปากรได้เข้าทำการขุดแต่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ โบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่มีดังนี้ 
            ปรางค์เดี่ยวขนาดเล็ก  ก่ออิฐฉาบปูน ลักษณะเป็นปรางค์สมัยอยุธยา ฐานหน้ากระดานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๙ เมตร สูง ๖๕ เซนติเมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานชุดลายบัว ย่อมุมไม้สิบสองย่อมุมถัดขึ้นไปเป็นซุ้มจระนำกลีบขนุนเรียงตัวอย่างมีระเบียบ ส่วนยอดนภศูลหัก ลักษณะส่วนยอดคล้ายฝักข้าวโพด 
            ฐานโบราณสถาน  เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐสอดินฉาบปูน กว้าง ๔.๗๐ เมตร ยาว ๕.๐๐ เมตร สูง ๙๐ เซนติเมตร เป็นฐานหน้ากระดานมีบันไดขึ้นทางด้านทิศตะวันออก กว้าง ๑.๕๐ เมตร สันนิษฐานว่า เป็นส่วนฐานของเจดีย์ราย ในการขุดแต่งได้พบหอยเบี้ยเป็นจำนวนมาก 
            เจดีย์มุมทรงกลม  ก่ออิฐสอดินฉาบปูนมีอยู่ที่องค์ติดกัน ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ ๗ เมตร และ ๔ เมตร ตามลำดับ สูงประมาณ ๑ เมตร เหนือขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยม เจดีย์ทั้งสี่องค์ยอดหักพังลงหมด ใกล้กับฐานเจดีย์องค์ใหญ่ ทางด้านทิศใต้มีฐานเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๓.๓๐ เมตร ยาว ๓.๗๐ เมตร บริเวณฐานเจดีย์พบว่า มีการฝังภาชนะบรรจุกระดูกคน ที่เผาไฟแล้วจำนวนหลายสิบใบ 
            ฐานพระอุโบสถ  ก่ออิฐสอดินฉาบปูน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๗.๒๐ เมตร ยาว ๑๗.๘๐ เมตร สูง ๒.๕๐ เมตร มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก กว้างประมาณ ๑.๖๕ เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบกระเบื้องกาบู ที่ชายคามีกระเบื้องเชิงชายประดับเป็นรูปบันแถลง มีลายตกแต่งเช่นลายเทพนม ลายครุฑยุดนาค ลายกระจังตาอ้อยและลายกนก ภายในอุโบสถด้านตะวันตกมีฐานชุกชี ติดผนังอุโบสถด้านทิศเหนือพบแท่นฉาบปูนขาเป็นแข้งสิงห์ มีร่องรอยการประดับกระจกสี สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์จำนวนหลายองค์ 
            ภายนอกอุโบสถด้านหน้าปูอิฐเป็นลาน กว้าง ๑.๘๐ เมตร ยาว ๑๙.๖๐ เมตร บริเวณรอบฐานอุโบสถ พบฐานใบเสมา รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง ๑.๔๐ เมตร ประจำอยู่ทั้งแปดทิศ ใบเสมามีลักษณะแบบสมัยอยุธยานตอนปลาย 
            กำแพงแก้ว  ก่ออิฐสอดินฉาบปูน กว้าง ๓๒ เมตร ยาว ๙๐ เมตร สูง ๒๐-๙๐ เซนติเมตร หนา ๑.๔๐ เมตร ประตูกว้าง ๑.๘๐ เมตร และ ๑.๑๐ เมตร ประตูมีการย่อมุม จากการขุดแต่งพบว่าที่ฐานเจดีย์รายมีกระดูกคนบรรจุอยู่ และมีการฝังภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกไว้รอบๆ ฐานเจดีย์รายด้วย 
            ฐานเจดีย์รอบกำแพงแก้ว  มีอยู่สามองค์ ก่ออิฐสอดินฉาบปูนเป็นฐานหน้ากระดานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง ๓.๗๐ เมตร สูง ๔๐ เซนติเมตร รอบฐานด้านทิศเหนือ และทิศตะวันตก พบภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกคนหลายใบ 

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2021-05-06

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร