วัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร


ละติจูด 13.5404369954 , ลองจิจูด 99.815838983

พิกัด

ตำบลหน้าเมือง อำเภออำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

วัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ที่ถนนอัมรินทร์ ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี ที่ตั้งเดิมเป็นที่ดินรกร้างใกล้ชุมชนตลาด เป็นที่ดินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสมุหพระกลาโหมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านมีดำริว่าจะสร้างวัดนี้ให้เป็นวัดประจำตระกูลบุนนาค สร้างด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของท่านเอง ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2415 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2421 หลังจากนั้นได้กราบบังคมทูลถวายวัดนี้ให้เป็นพระอารามหลวง พร้อมกับขอพระราชทานนามวัดและวิสุงคามสีมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานนามวัดว่า “วัดศรีสุริยวงษาวาส” (ตามลายพระราชหัตถเลขา ร.ท จ.ศ. 1241) และมีพระบรมราชโองการพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2422 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระครูอุดมบัณฑิต (อ่อน) จากวัดพิชยญาติการามมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงร่วมพระราชทานเงินสมทบในการปฎิสังขรณ์วัดศรีสุริยวงศ์ด้วย ในวันพุธ เดือนยี่ ขึ้น 5 ค่ำ ปีเถาะ เอกศกจุลศักราช 124 (พ.ศ. 2422) ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสมภพของสมเด็จเจ้าพระยาฯ และได้พระราชทานเงินแก่สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นจำนวน 50 ชั่ง เพื่อนำไปใช้ในการปฏิสังขรณ์ หรือสร้างสิ่งใดในพระอารามแห่งนี้ตามสมควร หลักฐานทางด้านโบราณคดีที่สำคัญที่พบภายในบริเวณวัดศรีสุริยวงศาราม ได้แก่ พระประธาน พระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ใบเสมา เป็นใบเสมาปูนปั้นรูปดอกบัว ยอดส่วนบนแหลมเท่ากันหมดทั้ง 4 ด้าน มีการตกแต่งเป็นเส้นนูนบริเวณตรงกลางและขอบของแต่ละด้าน ใบเสมาลักษณะนี้เป็นที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 4 เจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนสูง 5 เมตร ฐานเจดีย์ยกสูงเป็นรูปแปดเหลี่ยม ด้านนอกมีเสาแบบคอรินเธียนประกอบกับช่องอาร์คโค้งประดับ สูง 2.50 เมตร องค์เจดีย์ทรงระฆังสูง 2.50 เมตร ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง และซุ้มประตูและกำแพงวัด ปัจจุบันวัดศรีสุริยวงศารามวรวิหารจัดเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 5 พุทธศักราช 2415) ประเภทศาสนสถานในพุทธศาสนาที่มีการใช้ประโยชน์ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 87 ง วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2544 มีพื้นที่โบราณสถาน 1 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2018-09-10

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนงานและโครงการ
- ไม่มีเอกสาร -