วัดมหาธาตุวรวิหาร


ละติจูด 13.5447720078 , ลองจิจูด 99.8169586577

พิกัด

ตำบลหน้าเมือง อำเภออำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

วัดมหาธาตุวรวิหาร เดิมเรียกวัดหน้าพระธาตุ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของเมืองราชบุรี ตั้งอยู่เกือบในกลางเมืองราชบุรีทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง ถนนเขางู ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 125 ไร่ จากหลักฐานทางด้านโบราณคดี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 13) ซึ่งศูนย์กลางของเมืองในสมัยนั้น ได้แก่ เมืองคูบัว และในราวพุทธศตวรรษที่ 18 วัฒนธรรมเขมรได้แพร่เข้ามาในเมืองราชบุรี มีการก่อสร้างและดัดแปลงศาสนสถานกลางเมืองขึ้นเป็นพระปรางค์ และมีการสร้างกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของเมืองตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลของเขมร ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 20 - 21) ได้มีการสร้างพระปรางค์แบบอยุธยาขึ้นซ้อนทับพระปรางค์องค์เดิม และมีการสร้างพระปรางค์บริวารขึ้นด้านข้างด้านละ 1 องค์ ด้านหลัง 1 องค์ ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ได้มีการย้ายเมืองราชบุรีใหม่ โดยย้ายไปตั้งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง (ค่ายภาณุรังษีในปัจจุบัน) เมื่อมีการย้ายศูนย์กลางเมืองจากวัดมหาธาตุ ประชาชนก็ย้ายตามความเจริญของเมืองไปด้วย จึงเป็นสาเหตุให้วัดมหาธาตุและวัดใกล้เคียงกลายเป็นวัดร้าง ไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ประมาณปี พ.ศ. 2388 ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ บุญมา ได้เดินทางกลับจากธุดงค์วัตรออกจาริกไปทางภาคเหนือ มาพักปักกลดในบริเวณวัดมหาธาตุพิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่ร่มรื่นเหมาะสมที่จะบำเพ็ญสมณะธรรม จึงได้ร่วมกันกับชาวบ้านทำการหักร้างถางพงและซ่อมแซมเสนาสนะต่าง ๆ ที่เหลืออยู่ให้มีสภาพมั่นคง และสร้างเสนาสนะอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อที่จะเป็นที่พักอยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ได้ วัดมหาธาตุจึงกลับกลายสภาพมาเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อีกครั้ง และเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาที่มีความสำคัญของจังหวัดราชบุรีมาจวบจนปัจจุบัน หลักฐานทางด้านโบราณคดีที่พบภายในบริเวณวัดมหาธาตุวรวิหาร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงรูปแบบศิลปกรรมของแต่ละยุคสมัย ที่สำคัญ ได้แก่ กำแพงแก้ว หรือกำแพงศิลาแลงล้อมรอบพระปรางค์ ศิลปะเขมรแบบบายน (ประมาณพุทธศักราช 1720 - 1760) วิหารหลวง ศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น พระมณฑป สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพุทธรูปสมัยต่างๆ เช่น พระพุทธรูปสมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยอยุธยาปัจจุบันวัดมหาธาตุวรวิหารจัดเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 13 - 16) ถึงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ประเภทศาสนสถานในพุทธศาสนาที่ยังมีการใช้ประโยชน์ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2018-09-10

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนงานและโครงการ
- ไม่มีเอกสาร -