แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ (พิกัดวัดโป่งตะขบ)


ละติจูด 14.8345670043 , ลองจิจูด 101.186280957

พิกัด

ตำบลวังม่วง อำเภออำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 15 ไร่ โดยพื้นที่ของแหล่งโบราณคดีส่วนหนึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของโรงเรียนบ้านโป่งตะขบในปัจจุบัน ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของแหล่งโบราณคดีเป็นพื้นที่ของราษฎรในหมู่บ้าน ซึ่งใช้พื้นที่ทำไร่ข้าวโพดและไร่อ้อย ที่ระดับผิวดินของแหล่งโบราณคดีมีโบราณวัตถุกระจายอยู่หนาแน่น ข้อมูลจากการสำรวจพบโบราณวัตถุประเภทสำคัญได้แก่ เศษภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ เศษภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยการทาน้ำดินสีแดง ขวานหินขัดขนาดเล็ก และเศษกำไลข้อมือทำจากหินอ่อนสีขาว นอกจากนี้ ยังพบเศษกระดูกสัตว์หลายชนิด เช่น วัว-ควาย เก้ง กวาง และหมู ข้อมูลจากการขุดค้นของ รศ.สุรพล นาถะพินธุ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ (สุรพล นาถะพินธุ 2552 ; สุรพล นาถะพินธุ มปป. ; นิติพัฒน์ แก้วประสิทธิ์ 2556 : 20) ดังนี้ 1.เศษภาชนะดินเผา ได้แก่ ภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้งผสมลายกดประทับให้เป็นลายจุดต่อเนื่องกัน ลักษณะคล้ายเกล็ดปลา ภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเขียนสีเป็นเส้นสั้น ๆ สีแดง หรือเป็นจุดสีแดง 2.เครื่องมือหินขัด ได้แก่ ขวานหินขัดขนาดเล็ก สะเก็ดหินที่แตกมาจากขวานหินขัด 3.ลูกปัดทำจากเปลือกหอยทะเล ลูกปัดที่ทำจากหินอ่อนสีขาว และเปลือกหอยกาย 4.โบราณนิเวศวัตถุ ได้แก่ กระดูกสัตว์บกและสัตว์น้ำ เช่น ฟัน และกระดูกสัตว์ต่าง ๆ ของหมู เก้ง กวาง วัว ควาย ลิง และสุนัข รวมถึงเปลือกหอยประเภทต่าง ๆ จำนวนมาก และกระดิงเต่า 5.ร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ ประกอบด้วย กิจกรรมตามประเพณีความเชื่อ การดำรงชีวิตและการอยู่อาศัย โดยในหลุมขุดค้นหมายเลข 1 พบร่องรอยที่สำคัญคือ หลุมฝังศพ 2 หลุม อันแสดงให้เห็นว่าประเพณีการฝังศพของคนสมัยโบราณที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ซึ่งพบเป็นแห่งแรกในประเทศไทย คือการฝังศพผู้ตายในหลุมสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ขุดลึกประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วใช้ดินฉาบหนาเฉลี่ยประมาณ 1 เซนติเมตร เป็นผนังของหลุมฝังศพทั้ง 4 ด้าน ลักษณะคล้ายให้เป็นโลงศพ โดยวางศพให้อยู่ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว มีสร้อยลูกปัดทำจากเปลือกหอยสวมที่คอ แล้วมีการวางเครื่องปั้นดินเผาสำหรับอุทิศให้แก่ผู้ตาย โดยมีการวางไว้บริเวณเหนือศีรษะและปลายเท้าของผู้ตาย และวางขวานหินขัด 2 ชิ้น ที่บริเวณต้นขาข้างขวาของผู้ตาย ในหลุมขุดค้นหมายเลข 3 พบหลุมฝังศพที่มีโครงกระดูกถึง 3 โครง ฝังซ้อนทับกัน แยกได้เป็นโครงกระดูกผู้ใหญ่ อาจเป็นเพศชาย 1 โครง วางอยู่บนสุด ถัดมาเป็นโครงกระดูกวัยรุ่น ยังไม่ทราบเพศ 1 โครง และล่างสุดเป็นโครงกระดูกเด็กอายุน้อย 1 โครง ข้างและใต้ขาขวาของโครงกระดูกที่บนสุด มีเครื่องมือเหล็กวางเป็นของอุทิศให้ศพ รวม 3 ชิ้น แบ่งเป็นขวานบ้อง 1 เล่ม ใบหอก 1 เล่ม และมีดขอ 1 เล่ม ที่ขอบหลุมศพด้านซ้ายมือของโครงกระดูก มีภาชนะดินเผาวางเป็นของอุทิศไม่น้อยกว่า 5 ใบ และที่ปลายเท้ามีภาชนะดินเผา 1 ใบ แหล่งโบราณคดีโรงเรียนบ้านโป่งตะขบเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายโบราณวัตถุหลายชนิดที่พบที่บ้านโป่งตะขบเหมือนกับที่เคยพบแล้วที่แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหลายแหล่งในภาคกลางของประเทศไทย และบางแห่งได้รับการขุดค้นแล้ว

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2020-12-03

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนงานและโครงการ
- ไม่มีเอกสาร -