ภาพเขียนสีถ้ำผีหัวโต (เขากะโหลก)


ละติจูด 8.3820494 , ลองจิจูด 98.6804351

พิกัด

หมู่ ๒ บ้านบ่อท่อ ตำบล อ่าวลึกใต้ อำเภอ อ่าวลึก จังหวัด กระบี่ พิกัด ละติจูด ๘ ํ ๒๒' ๔๐" เหนือ และลองติจูด ที่ ๙๘ ํ ๔๐' ๒๕ " ตะวันออก ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ รหัสไปรษณีย์ 81110

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

ปี พ.ศ. 2528 เจ.บูลเบท์ (Jean Boulbet) ชาวฝรั่งเศส เข้ามาศึกษาและสำรวจภาพเขียนสีเพิ่มเติมต่อจาก เอเดียน เอ็ดมองต์ ลูเน็ต เดอลาจงกีแยร์ ซึ่งศึกษาภาพเขียนสีในถ้ำ จังหวัดพังงา เมื่อประมาณ 80 ปีก่อน และเสนอไว้ในรายงานชื่อ ภาพเขียนโบราณ บริเวณอ่าวพังงา อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ (Un Heritage Etrange : Lunet de Thailand Du Sud Provinces de Phangnga at Krabi) ต่อมา ในปี พ.ศ. 2531 กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจและรายงานการสำรวจแหล่งภาพเขียนสีถ้ำผีหัวโต ตามโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี (ภาคใต้) พ.ศ. 2531 พบว่า เป็นแหล่งภาพเขียนสีที่มีภาพเขียนสีมากที่สุดของจังหวัดกระบี่ ประมาณ 238 ภาพ ภาพเขียนสีถ้ำผีหัวโต พบบริเวณถ้ำอยู่ในเขาของกลุ่มเขาถ้ำลอดใต้ เป็นภูเขาหินปูนในอ่าวพังงาในแนวเทือกเขาภูเก็ต ตัวถ้ำอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ 10 เมตร ลักษระเป็นถ้ำโปร่งมีอากาศและแสงสว่างเข้าไปในถ้ำได้หลายทิศทาง ลมพัดผ่านตลอด มีหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ มีลักษณะเป็นถ้ำที่แท้จริง ทางเข้าถ้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีความลาดชันประมาณ 45 องศา หน้าถ้ำกว้างพอควร ภายในแบ่งเป็น 2 คูหาใหญ่ มีทางเข้า 2 ทาง ทั้งสองคูหาเดินทะลุถึงกันได้ มีความกว้างขวางและเพดานสูง พบเศษกระดูกมนุษย์ และกองเปลือกหอยแครง (Arcidae) จำนวนมากกองสุมอยู่บริเวณพื้นถ้ำ ภาพเขียนมีปรากฏในถ้ำทั้งสองคูหาตามฝาผนังถ้ำและเพดานเป็นจุด ๆ ไป ภาพเขียนกลุ่มใหญ่อยู่บนฝาผนังถ้ำด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ในคูหา 2 เขียนต่อเนื่องกันตลอดแนวยาวผนัง ลักษณะภาพเขียนสีที่ถ้ำผีหัวโตนี้แตกต่างไปจากภาพเขียนสีที่พบในที่อื่น ๆ ในประเทศไทย ภาพที่ปรากฏเป็นภาพคน ภาพสัตว์ประเภท นก ไก่ ปลา ปลาหมึก จระเข้ เม่น และกุ้ง ภาพมือและเท้า และภาพลายเส้น ซึ่งอาจเป็นภาพเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น แห หรืออวน และเรือ เป็นต้น ภาพทั้งหมดนั้นมีประมาณ 163 ภาพ ภาพคนนั้นมีจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยพบ (ประมาณ 40 ภาพ) มีหลายขนาดด้วยกัน สูงตั้งแต่ 15 ซม. จนถึง 95 ซม. และมีวิธีการเขียนรายละเอียดแตกต่างไม่ซ้ำแบบกัน แสดงให้เห็นใบหน้าและเส้นผม ประดับตกแต่งร่างกายหรือมีการแต่งตัวไม่ซ้ำแบบกันเลย แสดงอาการเคลื่อนไหวและอยู่นิ่งเฉย ๆ ภาพปลาก็มีจำนวนมากเช่นกัน เขียนเหมือนธรรมชาติมาก มีรายละเอียดไม่เหมือนกันจนทำให้สามารถบอกได้ว่าภาพปลาบางตัวนั้นเป็นปลาชนิดใด ภาพเขียนเหล่านั้นเขียนด้วยสีแดง น้ำตาลแดง สีดำ และสีเหลือง เขียนในแบบต่าง ๆ กัน คือแบบระบายเงาทึบ (silhouette) แบบโครงร่างรอบนอก (outline) และเขียนแบบเค้าโครงร่างรอบนอก แล้วตกแต่งหรือเขียนลวดลายภายในด้วยลายเรขาคณิตเป็นเส้น หรือจุดสี ภาพที่น่าสนใจและเป็นจุดเด่นของถ้ำนี้ คือภาพที่อยู่บนเพดานใกล้ปากทางเข้าเป็นภาพคนคล้ายสวมเสื้อลายขวางยาวถึงข้อเท้า มีเขา กำลังเดินหันข้าง ซึ่งอาจเป็นคนแต่งกายเลียนแบบสัตว์ อาจเป็นหมอผีหรือผู้ประกอบพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ภาพสูงประมาณ 80 ซม. อีกกลุ่มภาพหนึ่ง อยู่บนเพดานถัดเข้าไปในคูหา 1 ทางขวามือ มีภาพ 4 ภาพเรียงกัน มือซ้ายมี 6 นิ้วและมือขวา 5 นิ้ว แบบเงาทึบ ภาพลายเส้นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และภาพกุ้ง ระบายสีทึบ แต่ภาพที่น่าสังเกตที่ถ้ำผีหัวโตนี้คือภาพคนแทบทุกภาพมีภาพนกเกาะอยู่บนแขนหรือข้อมือซ้ายเสมอ (ที่มา : http://www.era.su.ac.th/)

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในปัจจุบัน

          กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เล่ม ๑๒๑ ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ดำเนินการจัดการทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดี แต่ละปีมีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก ขณะนี้ อยู่ในระหว่างการดำเนินการปรับปรุงเส้นทางเดินเข้าชมภายในถ้ำสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อป้องกันการทำลายภาพเขียนสี

ปัญหาที่พบในพื้นที่

          สืบเนื่องจากในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นจำนวนมาก ทำให้การเฝ้าระวังไม่ทั่วถึง นักท่องเที่ยวบางส่วนไม่สนใจคำเตือน บ้างก็ใช้มือสัมผัสรูปภาพ ใช้แฟลตถ่ายภาพ ส่งผลต่อการทำลายคุณภาพของสีที่ใช้เขียนภาพ นอกจากนั้นความชื้นจากธรรมชาติก็ทำให้ภาพลบเลือนไปเช่นกัน

แก้ไขเมื่อ

2022-09-16

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร