ภาพเขียนสีเพิงผาช้าง


ละติจูด 18.229444 , ลองจิจูด 98.486111

พิกัด

ตำบลหางดง อำเภออำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

ภาพเขียนสีเพิงผาช้าง พบบริเวณผาช้างอยู่ห่างจากออบหลวงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 300-400 เมตร สภาพพื้นที่เป็นเพิงผาสูงประมาณ 15 เมตร ผนังเพิงผาตั้งเอียงทำมุมกับพื้นดินประมาณ 75 องศา ยาวประมาณ 10 เมตร วางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เจ้าหน้าที่โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) สำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีบริเวณเพิงผาและที่ลาดเชิงเขา หลักฐานที่พบมีทั้งเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน มีส่วนผสมของทรายในเนื้อภาชนะสูง ลวดลายสำคัญที่พบเป็นลายเชือกทาบและลายขีด (corded-mark and incised potsherds) ชิ้นส่วนของภาชนะดินเผารูปทรงคล้ายพาน (pedestaled bowls) เครื่องมือหินกะเทาะทำจากหินกรวดท้องน้ำ (flaked cobble tools) ทั้งประเภท scraper และ sumatralith สะเก็ดหิน และเครื่องมือหินขัด ที่เพิงผาโดยเฉพาะบริเวณผาช้างพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ และเศษภาชนะดินเผาผิวขัดมันสีน้ำตาลเข้มบนผิวดิน นอกจากนั้นยังพบภาพเขียนสีแดงอมดำเข้มและสีขาว วาดเป็นรูปสัตว์และคนอยู่หลายภาพ ภาพเขียนสีที่เพิงผาช้างมีลักษณะการเขียนภาพ 2 แบบ คือ การเขียนเป็นภาพลายเส้นและการเขียนภาพลงสีทึบ การเขียนจะระบายหรือเขียนสีหนามาก สีที่ใช้คือสีแดงและสีขาว โดยภาพเขียนสีแดงเขียนเป็นรูปคนและสัตว์ แต่ลบเลือนมาก และภาพเขียนสีขาวเขียนเป็นรูปคนช้าง ซึ่งจากการขุดค้นพบก้อนแร่เฮมาไทต์ที่มีร่องรอยฝนหลายก้อนในชั้นทับถมระดับล่าง จึงอาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยในระยะแรก เป็นผู้วาดภาพเขียนสีเหล่านี้ ซึ่งกำหนดอายุไว้ประมาณ 8,500-7,500 ปีมาแล้ว ขนาดของภาพมีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ตามตำแหน่งบนผนังเพิงผา ได้แก่ ภาพเขียนสีกลุ่มที่1อยู่ทางทิศใต้ของผนัง ภาพที่เขียนเป็นภาพคน 1 คน ยืนมองเห็นด้านหน้า ขากางออก ผมคล้ายกับมัด 2 ข้าง ลักษณะการเขียนเป็นการเขียนภาพลายเส้นแสดงโครงร่างด้านนอก ถัดจากภาพคนไปทางด้านเหนือเป็นภาพคล้ายดอกไม้ 1 ดอก เขียนเป็นภาพลายเส้นเช่นเดียวกัน บริเวณรอบ ๆภาพยังมีร่องรอยของสีที่ยังติดอยู่เป็นจุด ๆ ซึ่งอาจเป็นภาพเขียนที่สีกะเทาะหลุดออกไป ภาพกลุ่มนี้อยู่ในตำแหน่งสูงตั้งแต่ 1.6-2.7 เมตร จากพื้นเพิงผา ภาพเขียนสีกลุ่มที่ 2 อยู่ห่างไปทางทิศเหนือของกลุ่มภาพเขียนสีที่ 1 ประมาณ 2 เมตร ประกอบไปด้วยภาพสัตว์ โดยเป็นช้างตัวเล็ก 1 ตัว ตัวใหญ่ 1 ตัว เขียนเป็นภาพลายเส้น และภาพสัตว์คล้ายนก ซึ่งวาดโดยการระบายสีทึบ บริเวณรอบ ๆภาพนี้มีจุดสีกระจายอยู่ทั่วไป คงมีการเขียนเป็นภาพอื่น ๆอีกแต่สีหลุดหายไป ภาพกลุ่มนี้อยู่ในตำแหน่งสูงตั้งแต่ 1.3-2.6 เมตร จากพื้นเพิงผา จากการสำรวจและขุดค้นที่เพิงผาช้างพบว่าชั้นทับถมระดับล่างปรากฏเครื่องมือหินกะเทาะแบบโฮบิเนียน (Hoabinhian) กระดูกสัตว์ ทั้งสัตว์น้ำและสัตว์ป่า เช่น เก้ง กวาง วัวป่า เป็นต้น อีกทั้งยังพบว่ากระดูกสัตว์บางชิ้นมีร่องรอยตัดและเผาไฟ ผู้ขุดค้นสันนิษฐานว่าชั้นทับถมระดับนี้น่าจะเป็นของกลุ่มคนที่ยังชีพด้วยการล่าสัตว์และหาของป่า ในช่วงสมัยโฮโลซีนตอนต้น หรือเมื่อประมาณ 8,500-7,500 ปีมาแล้ว แต่มีเครื่องหินกะเทาะที่เป็นหินกรวดขนาดกลางบางส่วนที่อาจมีอายุเก่าถึง 28,000 ปีมาแล้ว (ที่มา : https://sac.or.th/)ภาพเขียนสีผาช้าง พบบริเวณ วนอุทยานออบหลวง อำเภอฮอด อำเภอออบหลวง พบเครื่องมือหินกะเทาะ ก้อนดินเทศ (haematite) ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ กระดูกสัตว์ เครื่องมือหินขัด และเศษภาชนะสีน้ำตาลเข้ม ผิวขัดมัน ภาพเขียนสีอยู่บนผนังเพิงผาหินแกรนิต เป็นภาพคนและสัตว์หลายภาพ เขียนด้วยสีแดงคล้ำและสีขาวในแบบระบายสีเงาทึบและลายเส้น (ที่มา : http://www.era.su.ac.th/)

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2020-12-03

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนงานและโครงการ
- ไม่มีเอกสาร -