วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร


ละติจูด 13.667579 , ลองจิจูด 100.526796

พิกัด

ตำบลบางพึ่ง อำเภออำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ราชวรวิหาร ประวัติของวัดนี้มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าในคราวเมื่อสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการ ทรงพระราชดำริว่า ป้อมที่ได้สร้างขึ้นที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ แต่ก่อน ก็ยังค้างอยู่ไม่สำเร็จสมบูรณ์ จึงโปรดให้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่น ศักดิพลเสพ เป็นแม่กองทำการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ยังค้างอยู่ ให้สร้างป้อมขึ้นอีกป้อมขึ้นอีกป้อมหนึ่ง ชื่อ ป้อมเพชรหึง เปลี่ยนให้ขุดคลองลัดหลังเมืองนครเขื่อนขันธ์ คลองหนึ่งมาทะลุออกคลองตาลาวคลองลัดที่ขุดใหม่นี้ เมื่อขุดกว้าง 6 วา ลึก 5 ศอก ยาว 50 เส้น กรมหมื่นศักดิพลเสพ ทรงสร้างวัดขึ้นในคลองลัด ที่ขุดใหม่นี้วัดหนึ่ง พระราชทานนามว่า วัดไพชยนต์พลเสพย์พระเพชรพิชัย (เกศ) ซึ่งเป็นนายงานสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ สร้างวัดหนึ่งขึ้น ใกล้กับวัดไพชยนต์พลเสพย์ ชื่อวัดโปรดเกศฐาราม ยังเป็นพระอารามหลวงอยู่จนทุกวันนี้ทั้งสองวัด จากหลักฐานนี้ทำให้ทราบว่าวัดนี้ได้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเสิศหล้านภาลัย พร้อม ๆกับการขุดคลองปากลัด แต่จะสร้างขึ้นเมื่อปีใด และคลองปากลัดจะขุดขึ้นในปีใดไม่มีบอกไว้ อย่างไรก็ตาม อาจจะประมาณได้ว่าไม่ก่อนปี พ.ศ. 2362 เพราะในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าปีนี้เป็นปีที่เริ่มสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการหลายป้อมด้วยกัน เพื่อป้องกันญวนที่อาจจะยกมาทางทะเล และในคราวสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการนี้เอง ก็ได้ขุดคลองลัด และสร้างวัดไพชยนต์พลเสพย์ ขึ้นดังที่กล่าวข้างต้น ผู้สร้างวัดนี้คือ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ซึ่งทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าต่างกรม กำกับราชการในกรมพระกลาโหมในรัชกาลที่ 2 แลละต่อมาได้เลื่อนยศเป็นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ในรัชกาลที่ 3 ชื่อของวัดที่ว่า ไพชยนต์พลเสพย์นี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานว่าคงจะเป็นนามใหม่เดิมเมื่อแรกสร้างในรัชกาลที่ 2 เห็นจะเรียกว่า วัดกรมศักดิหรือ วัดปากลัดถึงรัชกาลที่ 3 คนทั้งหลายก็คงจะเรียกว่า วัดวังหน้าที่ในพระราชราชพงศาวดารอ้างว่า พระราชทานนามว่า วัดไพชยนต์พลเสพย์นั้น เห็นจะไม่หมายถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชทานไว้แต่แรกสร้างก็ได้ เพราะมีเค้าเงื่อนตามพระวินิจฉัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในหนังสือสาสน์สมเด็จ ซึ่งทรงแน่พระทัยว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้พระราชทานนามในเวลาต่อมา สิ่งสำคัญที่เป็นปูชนียสถานในวัดนี้ ได้แก่ 1) พระประธานปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 ศอกเศษเป็นพระพุทธรูปปั้นบุทองประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ (ตามดำรัสของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อเสด็จไปเยี่ยมของเก่าในวัด พ.ศ. 2374 ) บุษบกนี้ทำด้วยไม้สัก และแกะสลักลวดลายประดับกระจกอย่างวิจิตร จัดว่าเป็นศิลปะเยี่ยมสมัยโบราณชั้นหนึ่งสันนิษฐานว่าได้เคยสถาปนามาแล้วหนหนึ่ง จะเป็น พ.ศ. ใดไม่ทราบ เพราะบางแห่งมีรอยกะเทาะ เห็นของเก่าลงรักปิดทองอยู่ชั้นในบุษบกนี้มีรูปร่างคล้ายพระปรางค์ มีจัตุรมุข 4 ด้าน ทุกด้านมีพระพุทธรูปหล่อประจำด้านละองค์ หน้าตักกว้าง 1 ศอก 4 นิ้ว ฐานบุษบกกว้าง 9 ศอก สูงสุดยอด 4 วา 1 ศอก พระอุโบสถลักษณะก่ออิฐถือปูน ทรงจีน กว้าง 8 วา 3 ศอก ยาว 12 วา ด้านในมีเสารายใหญ่หาดูได้ยากในจังหวัดนี้ อาสน์สงฆ์ปูลาดด้วยพรมผืนใหญ่และพื้นที่ด้านล่างอีก 2 ผืนใหญ่ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชวีริยาภรณ์ (สวัสดิ์ ฐิตาโภ) อดีตเจ้าอาวาสได้บริจาคทรัพย์ส่วนตัวสร้างไว้ และประดับด้วยโคมไฟทั้งใหม่และเก่าสว่างไสวในยามค่ำคืน นอกจากพระอุโบสถแล้ว ยังมีวิหารทิศอีก 4 หลัง ลักษณะทรงจีนเหมือนกัน 2) พระพุทธรูปหล่อ ปางหลวงพ่อเนตร ที่ซุ้มมุขหน้าพระวิหาร 1 องค์ สูง 1 วา 9 นิ้ว มาทราบว่าเป็นพระสมัยใด มีประชาชนเป็นจำนวนมากเคารพนับถือพากันมาบวงสรวงกันเสมอ 3) พระประธานใหญ่ในพระวิหารปางมารวิชัย ไม่ทราบว่าเป็นพระหล่อหรือบุด้วยโลหะ สมัยใด หน้าตักกว้าง 1 วา 16 นิ้ว กับมีพระโมคคัลลาน์ สารีบุตร ยืนคู่กัน คูหาตามฝาผนังวิหารชั้นในมีพระพุทธรูปนั่งอยู่รอบรวม 44 องค์ หน้าตักกว้างประมาณ 16 นิ้ว ในซุ้มมุขหลังพระวิหารมีรอยพระพุทธบาทจำลอง พระวิหารกว้าง 8 วา 2 ศอก ยาว 11 วา 2 ศอก มีลักษณะทรงจีน ประดับด้วยผลไม้มงคลบูชา ลอยพระบาท 4) หน้ากำแพงพระอุโบสถกับพระวิหาร มีพระปรางค์ฐานล่าง 4 เหลี่ยม เป็นของเก่งองค์พระปรางค์ชำรุด นางสาวชม วังเป๋า นางแสร์ ชั้นหงส์ นางเน้ย วังเป๋า ได้รื้อแล้วถ่ายแบบปฏิสังขรณ์ขึ้นตามรูปเดิม ด้านหลังพระอุโบสถกับพระวิหาร มีเจดีย์ทรงเครื่องสมัยเดียวกัน 3 องค์ ฐานกว้าง 4 วา สูงสุดยอดประมาณ 14 วา ชนิดย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง กับมีที่จงกรมมีกำแพงล้อมรอบอยู่ด้านเหนือ หลังพระอุโบสถได้จำรุดทรุดโทรมมากแล้วจึงไม่ได้สถาปนาไว้ ทางวัดจึงจัดการรื้อแล้วสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นแทน ณ ที่นั้น ปัจจุบันโรงเรียนวัดไพชยนต์พลเสพย์ทางราชการได้ย้ายออกไปอยู่ข้างนอก เนื่องจากมีผู้ศรัทธาบริจาคที่ดินและทรัพย์สร้างโรงเรียนขึ้นหลังใหม่ โดยผู้สร้างได้ตั้งชื่อเสียใหม่ว่า (โรงเรียนพลอยจาตุรจินดา) เดี๋ยวนี้สร้างฌาปนสถานและศาลาบำเพ็ญกุศลแทนในเขตโรงเรียนเดิม และ 5) กุฏิที่อยู่ของสงฆ์ แต่ก่อนทราบว่ามีอยู่ถึง 5 คณะ ส่วนราชาคณะอยู่หลังพระวิหารด้านใต้ ภายหลังถูกรื้อถอนของช่างเก่าไปปฏิสังขรณ์ของเก่าด้วยกันให้ดีขึ้น สมัยนั้นทางวัดอาจเสื่อมลงมีภิกษุอาศัยน้อยรูป กล่าวกันว่าศาลาและกุฏินอกเขตทางด้านใต้ออกไปก็เคยมี ต่อมาไม่มีผู้ดูแล จึงรื้อถอนเข้ามารวมในคณะสงฆ์เป็นอันเดียวกันจนที่เหล่านั้นกลายเป็นสวนไปหมดในสมัยหลวงพ่อพระราชวิริยาภรณ์หาเป็นที่สวนไม่เจอ กลายเป็นที่บ้านเต็มไปหมด ในอดีตเฉพาะเขตวัดมีหอระฆังเครื่องไม่จริง ฐานก่ออิฐถือปูน หอไตรฝาไม้กระดาน เสาไม้จริงอยู่หน้าจงกรมด้านเหนือ ศาลาดินหน้าวัด 4 หลัง ศาลาท่าน้ำ 2 หลัง อยู่ริมคลองลัดหลวง กับหมู่กุฏิเลียบไปตามคลองเพลงมีอีก 2 คณะ หอสวดมนต์และหอฉันพร้อมและยังมีศาลาท่าน้ำแบบทรงไทยสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังมีช่อฟ้าใบระกา (ที่มา : https://samutprakan.mots.go.th/)

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2020-12-03

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนงานและโครงการ
- ไม่มีเอกสาร -