วัดปากบาง


ละติจูด 13.873035 , ลองจิจูด 99.802384

พิกัด

วัดปากบาง ตำบลท่าเสา อำเภออำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ 71120

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

วัดปากบาง อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

          วัดปากบางเป็นวัดเก่าแก่ ที่ปรากฏชื่อเอกสารการเสด็จพระราชดำเนินการเสด็จประพาสมาแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ที่หมู่ ๑ ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ไม่มีหลักฐานว่าวัดปากบางสร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากการศึกษาศิลปกรรมอย่างอุโบสถ น่าเชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ – ๖

อุโบสถ : ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
          อุโบสถวัดปากบาง เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออกฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ตัวอาคารเป็นฐานปัทม์ ภายในอุโบสถด้านหน้าพระประธานมีแท่นเชิงเทียนก่อด้วยปูนยึดติดกับพื้น มีหน้าต่าง ฝั่งละ ๒ บาน มีประตูเข้า-ออก ๑ ประตู ส่วนหลังเป็นตัวอาคารทึบ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย นามว่า “หลวงพ่อพระพุทธศรีมงคล” ทราบว่า นานมาแล้วที่พระประธานและพระพุทธรูปในอุโบสถถูกผู้ร้ายลักตัดพระเศียรไป ต่อมาทางวัดได้ปั้นซ่อมแซมพระเศียรใหม่โดยฝีมือช่างชาวบ้าน

          ด้านหน้าพระประธานผนังอุโบสถไม่มีลวดลาย ล่าสุดมีปรับปรุงพื้นเพดานโดยการปูด้วยไม้กระดานขัดมันยกระดับ ๒ ชั้น มีพาไลคลุมเฉลียงด้านหน้า

          หลังคาอุโบสถเป็นทรงจั่วซ้อน ๒ ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ งวงไอยรา มีเสารับพาไลด้านหน้า ๒ ต้น หัวเสามีการเขียนลวดลายเป็นรูปกลีบบัว

         หน้าบันด้านทิศตะวันออก (ภาพด้านบน) เป็นประติมากรรมนูนต่ำ ปูนปั้นผสมสี ภาพพระพุทธเจ้าปางสมาธิ (ภาพด้านล่าง) เป็นภาพพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาธรรมให้เทวดา มีครุฑอยู่ฝั่งซ้ายและขวา

         ส่วนหน้าบันด้านทิศตะวันตก (ภาพด้านบน) เป็นประติมากรรมนูนต่ำ ปูนปั้นผสมสี ภาพพระพุทธเจ้าประทับยืนอยู่ระหว่างพระสาวก ๒ องค์ (ภาพด้านล่าง) เป็นพระพุทธเจ้ารับถวายดอกบัวที่ชาวบ้านนำขึ้นมาจากสระบัว

จากการสำรวจพบว่า โดยรอบอุโบสถไม่พบใบสีมาปรากฏอยู่เลย

บริเวณเหนือกรอบประตูและหน้าต่างมีประติมากรรมแบบนูนต่ำ เรื่อง พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ โดยจัดวางตามลำดับวงศ์ในภัทรกัปป์ ดังนี้

         • หน้าต่าง ฝั่งทิศใต้ บานแรกนับจากประตู มีภาพปูนปั้นพระกกุสันธพุทธเจ้า และแมไก่
         • หน้าต่าง ฝั่งทิศเหนือ บานที่ ๒ นับจากประตู มีภาพปูนปั้นพระโกนาคมนพุทธเจ้า และแม่นาค
         • หน้าต่าง ฝั่งทิศใต้ บานที่ ๒ นับจากประตู มีภาพปูนปั้นพระกัสสปพุทธเจ้า และแม่เต่า
         • หน้าต่าง ฝั่งทิศเหนือ บานแรกจากประตูมีภาพปูนปั้นพระโคตมพุทธเจ้า และแม่โค
         • ประตูด้านหน้ามีภาพปูนปั้นพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า และแม่ราชสีห์

พระเจดีย์รอบอุโบสถ
         โดยรอบอุโบสถมีเจดีย์บรรจุกระดูกบรรพบุรุษของชาวบ้านปากบางเป็นจำนวนมาก มีรูปทรงและขนาดแตกต่างกันไป เจดีย์องค์สำคัญองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายมือ ใกล้ประตูทางเข้าอุโบสถ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้ ๑๒ ใช้บรรจุอัฐิหลวงปู่ชื่น อดีตเจ้าอาวาส และเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านปากบางให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่ง

          นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าจากบรรพบุรุษของคนในพื้นที่ ว่า “เจดีย์บริเวณวิหารแบ่งเป็น ๒ ยุค คือเจดีย์ที่มีอายุเกินกว่าร้อยปีโดยประมาณจะเป็นเจดีย์ของคนไทย ซึ่งไม่มีพื้นที่วางของเซ่นไหว้มีเพียงนิมนต์พระมาบังสุกุลช่วงตรุษสงกรานต์ ส่วนเจดีย์ที่มีอายุต่ำกว่าร้อยปีโดยประมาณจะเป็นเจดีย์และเก๋งจีนของคนไทยเชื้อสายจีน ญาติจะมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษในช่วงวันเช็งเม้ง”

          อุโบสถเก่าวัดปากบางเคยถูกปิด ไม่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสังฆกรรมเมื่อหลายสิบปีก่อน และมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับ พระกินเณรในวัด พระโอษฐ์มีคราบเลือดสีแดงเต็มไปหมด นี้จึงเป็นสาเหตุทำให้อุโบสถดังกล่าวถูกปิดการใช้งานไป ทางวัดเพิ่งเปิดอุโบสถหลังเก่าให้ประชาชนได้เข้าไปไหว้พระตามปกติเมื่อไม่กี่ปีมานี้

——————-

เขียน : ฟ้อน เปรมพันธุ์, อรพรรณ ศรีทอง
ภาพ : ประพฤติ มลิผล, รัตนากร พุฒิเอก
ผู้ร่วมสำรวจ/ข้อมูล : ประพฤติ มลิผล (เล็ก บ้านใต้), สมชาย แสงชัยศรียากุล

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2021-04-22

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร