วัดห้วยสะพาน


ละติจูด 14.108242 , ลองจิจูด 99.658154

พิกัด

1 ตำบลหนองโรง อำเภออำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ 71140

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

พระครูโสภณกาญจนพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดห้วยสะพานรูปปัจจุบันให้ข้อมูลว่า  วัดห้วยสะพานเป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๒๙ หลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ไม่นาน เดิมชื่อวัด “ช่องลมธาราม”   กระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เมื่อมีการก่อตั้งโรงเรียนประชาบาลประจำหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนบ้านห้วยสะพาน   นายอำเภอสมัยนั้นจึงให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ว่า “วัดห้วยสะพาน” 

ปัจจุบันตั้งอยู่ติดถนนสายกาญจนบุรี-อู่ทอง  เลขที่ ๒๐๐ หมู่ ๒ ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี 

ยุคสมัยการสร้างอุโบสถ

          อุโบสถสร้างในสมัยหลวงพ่อชม  เจ้าอาวาสรูปที่ ๔  ของวัด  พระครูโสภณกาญจนพัฒน์เล่าว่า มีโยมที่เกิดทันการสร้างอุโบสถหลังนี้ สมัยที่ยังเป็นเด็กนักเรียน  แต่ท่านได้เสียชีวิตไปเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐  หากนับอายุการสร้างอุโบสถตามอายุของโยมคนดังกล่าวจนถึงปีปัจจุบัน  ก็น่าจะประมาณ  ๑๔๐  ปี  หรือราวช่วงกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

อุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาด ๕ ห้อง   ฐานโบสถ์เป็นฐานปัทม์  หลังคาทรงจั่วลดหลั่น ๒ ชั้นมุงด้วยกระเบื้อง  โครงสร้างหลังคาและพาไลมีการซ่อมแซมมาเป็นระยะ

พื้นที่รอบนอกอุโบสถประกอบด้วยกำแพงแก้วทั้ง  ๔  ด้าน มีซุ้มทางเข้าด้านหน้า ๑ ซุ้ม  ซุ้มด้านทิศใต้ ๑ ซุ้ม ถูกโบกปูนปิดทับเมื่อคราวสร้างอุโบสถหลังใหม่  ด้านหลังมีช่องเล็ก ๆ ที่สามารถเดินเข้าออกได้

          ซุ้มประตูด้านหน้ามีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจเป็นพิเศษ  อาจารย์ ดร. ปรัชญา  เหลืองทอง  ได้บรรยายศิลปะสถาปัตยกรรมไว้ดังนี้ 

เรือนซุ้มมีรูปทรงคล้ายกับหอระฆังในสมัยอยุธยาตอนปลายและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ตัวซุ้มประตูสร้างแบบก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยม เชื่อมต่อกับกำแพงแก้ว ตัวซุ้มมีลักษณะการสร้างที่ลดหลั่นกันสี่ชั้น ประดับส่วนยอดด้วยเจดีย์ทรงเครื่อง แต่ละชั้นมีรายละเอียดดังนี้

          ชั้นที่ ๑  ทำเป็นช่องประตูทรงใบหอก  ใช้สำหรับเดินเข้าสู่ภายในเขตอุโบสถ

ชั้นที่ ๒  สร้างลดหลั่นจากชั้นที่ ๑ ย่านกลาง เจาะช่องทึบทำเป็นรูปทรงใบหอก

ชั้นที่ ๓  สร้างลดหลั่นจากชั้นที่ ๒ ย่านกลาง เจาะช่องทึบทำเป็นรูปทรงใบหอกเช่นเดียวกับชั้นที่ ๒ แต่มีการประดับกรอบช่องด้วยลายกระหนก พื้นที่มุมทั้ง ๔ มุม  มีการประดับด้วยเจดีย์ทรงระฆังขนาดย่อม ซึ่งความสูงของเจดีย์ประดับมุมทั้ง ๔ องค์มีความสูงจากฐานถึงยอดเท่ากับความสูงของชั้นนี้

ชั้นที่ ๔ ทำเป็นลักษณะคล้ายเรือนยอด ต่อด้วยเจดีย์ทรงเครื่องที่มีบัวทรงคลุ่มและองค์ระฆังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมต่อด้วยส่วนยอดเจดีย์ที่ทำเป็นบัวคลุ่มเถา ซึ่งรูปแบบของเจดีย์ดังกล่าวเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงเครื่องที่นิยมทำกันมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ถัดมาเป็นซุ้มเสมาทรงสี่เหลี่ยมยอดเจดีย์  ภายในมีใบเสมาหินทรายขนาดเล็กวางอยู่  เรียงรายรอบอุโบสถจำนวน ๘  ซุ้ม

พาไลรองรับด้วยเสาก่ออิฐถือปูน ๓ ต้น  ยื่นออกมาทางด้านหน้าอุโบสถ มีทางเข้าทางทิศเหนือและทิศใต้ มีบันใดทางขึ้นพาไลด้านทิศเหนือและทิศใต้ด้านละ ๑ ขั้น  มีเสาหัวเม็ดก่ออิฐถือปูนด้านละ ๒  เสา ประตูทางเข้าอุโบสถมี ๒ ช่อง  ไม่มีช่องประตูด้านทิศตะวันตก  หน้าต่างด้านทิศเหนือ-ใต้ มีด้านละ  ๓  ช่อง  ซุ้มประตูประดับด้วยลายปูนปั้นเขียนสีรูปชฎา ส่วนซุ้มหน้าต่างประดับลายปูนปั้นเขียนสีก้านขดแบบฝรั่ง  ภายในอุโบสถมีฐานชุกชีเป็นที่ประดิษฐานพระประธานประจำอุโบสถมีพระนามตามข้อความเขียนไว้ใต้ชายผ้าทิพย์ว่า “พระพุธทะโคตม” กับพระพุทธรูปปูนปั้นฝีมือช่างพื้นบ้านอีกจำนวน  ๔ องค์  และมีเสาไม้ทรงกลมรองรับคานเพดานด้านละ  ๔  ต้น 

           หน้าบันด้านทิศตะวันออกเป็นปูนปั้นเขียนสี ช่องบนเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างสามเศียร มีเทวดาบริวารนั่งพนมมืออยู่ที่มุมด้านล่างฝั่งละ ๑ ตน ท่ามกลางลายพรรณพฤกษา  ช่องล่างเป็นภาพคล้ายพระพรหมถือแว่นแก้ว คั่นด้วยแว่นฟ้า และภาพฤๅษี ๒ ตน นั่งพนมมือไหว้ ด้านนอกเป็นภาพดอกไม้ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ

          หน้าบันด้านทิศตะวันตก ช่องบนเป็นปูนปั้นเขียนสีภาพพระสุนทรีวาณี เป็นเทพธิดาตามคติในศาสนาพุทธในประเทศไทย มีหน้าที่คุ้มครองดูแลรักษาพระธรรมและพระไตรปิฎก ช่องล่างเป็นภาพสระบัว ตรงกลางมีภาพกบอยู่บนใบบัว  กับพญานาคอีก ๒ ตัว และมีสัตว์อื่น ๆ ได้แก่ กุ้ง ปู ปลา  มีปูนปั้นเป็นตัวอักษร แต่ชำรุดหลุดหายไป  ยังพออ่านได้ในตอนท้ายว่า “.......เปรียบด้วยพระรัตนตรัย”

          โดยรวมอุโบสถเก่าวัดห้วยสะพานเป็นอุโบสถที่มีศิลปะสถาปัตยกรรมที่งดงามโดดเด่น แปลกตามากแห่งหนึ่ง   ที่ผ่านการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาโดยเฉพาะส่วนหลังคา  พาไล และกำแพงแก้วด้านที่ติดกับอุโบสถหลังที่สร้างขึ้นใหม่

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

มีการดูแลจากทางวัดเป็นอย่างดี

แก้ไขเมื่อ

2021-07-28

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร