วัดท่าเรือ


ละติจูด 13.960809 , ลองจิจูด 99.758624

พิกัด

ตำบลท่าเรือ อำเภออำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ 71130

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

อุโบสถวัดท่าเรือ

 

๔๖๘ ถนนแสงชูโต  ตำบลท่าเรือ  อำเภอท่ามะกา กาญจนบุรี ๗๑๑๓๐

 

วัดท่าเรือ  เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งที่อยู่บนเส้นทางสัญจรทางน้ำตามลำน้ำแม่กลอง  บริเวณวัดตั้งอยู่บริเวณเดียวกับสถานที่เป็นที่ตั้งของท่าเรือสำคัญในอดีต  ที่คนแต่โบราณเรียกว่า ท่าเรือพระแท่น[1]  เป็นที่พักของเรือที่ใช้สัญจรขึ้นล่องขนถ่ายสินค้า  และเป็นท่าเรือสำคัญและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี  เพราะเป็นท่าที่ผู้จะเดินทางไปนมัสการพระแทนดงรัง  จะต้องใช้ท่าเรือนี้เดินทางต่อไปเพื่อนมัสการพระแท่นดงรัง  วัดท่าเรือตั้งอยู่ที่  ตำบลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา กาญจนบุรี

ตามประวัติระบุว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๐๘[2]   หลวงจงภักดี (ต้นสกุลพันธุ์ภักดี) เป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้น เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วไม่มีพระพุทธรูปที่จะบูชาประจำวัด จึงได้ไปอาราธนาพระพุทธรูปที่อยู่ในโบสถ์ร้างบ้านท่าสารอยู่เหนือจากตำบลท่าเรือขึ้นไปตามลำน้ำประมาณ 1 กิโลเมตร ให้มาเป็นพระประธานประจำวัด และขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "หลวงพ่อเพชร" (ภาพ)

พุทธลักษณะโดยรวมเป็นพระพุทธรูปตอนปลายสมัยอยุธยา ปางขัดสมาธิ  แต่ที่พิเศษสร้างด้วยศิลาแดง ขนาดหน้าตัก ๒๙  นิ้ว มีลักษณะพุทธศิลป์แตกต่างจากองค์อื่น ๆ คือ มีพระพักตร์ดุ มีพระศก (เกศา) เป็นหนามขนุนซึ่งบ่งบอกว่าสร้างในสมัยอู่ทอง รวมไปถึงยอดพระเกตุบนสุด ก็เป็นลักษณะหนามขนุนด้วย

อุโบสถ

          พระครูถาวรกาญจนกิจ เจ้าอาวาสวัดท่าเรือรูปปัจจุบัน ให้ข้อมูลว่า โบสถ์เก่าของวัดน่าจะสร้างเมือปี พ.ศ. ๒๔๖๐  เนื่องจากกระเบื้องหลังคาโบสถ์เดิมมุงเป็นตัวเลข  ๒๔๖๐ ไว้  หากเป็นดังนั้น อุโบสถหลังนี้จะก่อสร้างตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ 

          อุโบสถเก่านี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายคราว  แต่โดยภาพรวมถือว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยรวมนัก   ตัวอาคารเป็นอุโบสถก่ออิฐถือปูน  ตั้งอยู่บนฐานปัทม์  มีพาไลยื่นออกมารองรับด้านหน้าอุโบสถ ทางเข้าออกพาไลมี ๒ ช่องทาง ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้  เสาทางขึ้นเป็นเสาสี่เหลี่ยม ยอดเสาสอบเข้าเป็นทรงปีระมิด   ตัวอุโบสถมีประตูทางเข้ามี ๒ ช่อง  กำแพงด้านทิศตะวันตกทึบ    ช่องหน้าต่างมีด้านละ ๒  ช่อง  ภายในมีการปรับปรุงพื้น  ฝ้าเพดาน และฐานชุกชีที่สร้างขึ้นใหม่  พระประธานและพระพุทธรูปประจำอุโบสถถูกย้ายออกไปทั้งหมด 

          พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย    ส่วนฐานของพระมีข้อความหล่อติดไว้ดังนี้  “พระองค์นี้ นางมอน  หลงกุศล  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓    อุทิศมนุญผลฉลองคุณ  - นายหลง - บิดา,   นางพุก - มารดา”    ปัจจุบันพระประธานองค์นี้ทางวัดเคลื่อนย้ายไปประดิษฐานที่กุฏิสงฆ์

                หลังคาอุโบสถเป็นหลังคาซ้อน ๒ ชั้น มุงกระเบื้อง เครื่องลำยองเป็นปูนทั้งหมด ช่อฟ้าปากครุฑ หางหงส์เป็นแบบนาคเศียรเดียว หน้าบันด้านหน้าและหลังเป็นปูนปั้นเขียนสีลายพรรณพฤกษา   ตรงกลางมีรูปปูนปั้นเทพพนมเช่นเดียวกัน

          แต่เดิมโดยรอบอุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมรอบ  และเจดีย์อนุสาวรีย์บรรจุเถ้าอัฐิที่ชาวบ้านสร้างขึ้นค่อนช้างหนาแน่น (ดังภาพ)   ปัจจุบันทั้งกำแพงแก้วทั้ง ๔  ด้าน  และเจดีย์บรรจุอัฐิได้ถูกรื้อถอนออกไปทั้งหมด  เนื่องจากทางวัดต้องการใช้พื้นที่บางส่วนในการก่อสร้างศาลาทรงจัตุรมุขหลังใหม่ 

 


[1] โดยนัยหมายถึงท่าเทียบเรือสำหรับการเดินทางต่อไปเพื่อนมัสการพระแท่นดงรัง

[2] ข้อมูลบางแห่งบางแห่งว่าตั้งวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐  รับวิสุงคามสีมา  ๒๕๑๕

 

 

 

 

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2021-08-20

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร