วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง


ละติจูด 13.961286 , ลองจิจูด 99.6348

พิกัด

เลขที่ ๘๙ หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ตำบลท่าม่วง อำเภออำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ 71110

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง

ที่ตั้ง: เลขที่ ๘๙ หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

ตามข้อมูลของวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุงระบุว่า สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2330 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ภายหลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพียง ๕ ปี โดยชาวจีนชื่อ “โหละ” ดังนั้นชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดนี้ว่า “วัดตาเจ๊กโหละ”

ต่อมาพระศรีสวัสดิ์ ผู้ครองเมืองศรีสวัสดิ์ ซึ่งมีหน้าที่เก็บรวบรวมส่วยส่งให้กรุงเทพ ได้มาตั้งเตาถลุงแร่โลหะที่ริมท่าน้ำใต้วัด จึงได้เปลี่ยนชื่อของวัดเป็น “วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง”

ในปี พ.ศ.2446 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระภิกษุพรต จนฺทโสภ (ร.ท.พรต โยธาพิทักษ์) อดีตนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งบรรพชาอุปสมบท ณ วัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒาราม) ได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดนี้ และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง เป็นรูปที่ ๖ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ และตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอท่าม่วง ได้รับสมณศักดิ์ที่ “พระครูยติวัตรวิบูลย์”

จากเอกสาร พระราชนิพนธ์เสด็จประพาศไทรโยค ปีฉลูจุลศักราช ๑๒๓๙ ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๒๐พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จผ่านวัดศรีโลหะตอนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทรงมีบันทึกว่า

“ถึงบ้านสีโหละ ๔ โมง ๕๐ บ้านนี้กลายเปนเมืองศรีสวัสดิ์ไปทีเดียว ด้วยตัวพระศรีสวัสดิ์แลหลวงปลัด ก็มาตั้งอยู่ที่สีโหละ ไม่ได้ขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองศรีสวัสดิ์ ที่หัวบ้านข้างเหนือมีวัดต้นไม้โต ๆ มาก พื้นลานวัดหมดจดดี ต่อวัดไปเปนเป็นท่าน้ำแล้วจึงถึงบ้าน มีบ้านเรือนตั้งอยู่ตามริมแม่หลายสิบหลังเรือน ต้นไม้นั้นมีตามธรรมเนียม มะพร้าว มะม่วง มะขาม เปนต้น เขาปลูกพลับพลาไว้ที่หาดริมน้ำ มีกรงใหญ่ตั้งไว้กรงหนึ่ง ให้ไปดูว่ากวาง แต่เราไม่ได้แวะที่พลับพลา ต่อมาก็มีบ้านอีกหย่อม อยู่ในเขตรสีโหละนั้นเอง...”(หน้า ๑๙๑)

ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เสด็จประพาสกาญจนบุรี ได้โปรดให้นายเรือเอก หลวงสุนาวินวิวัฒน์ (เหลียง สุนาวิน) จดรายวันที่เสด็จประพาส ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ เรื่องเที่ยวไทรโยค คราวสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เสด็จประพาส เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ขาล่องกลับมีบันทึกว่า

“เวลา ๑๑ –๔๓ ถึงวัดอินทาราม (วัดสีโหละ) มีพระสงฆ์สวดชยันโตถวาย ถัดลงมามีบ้านคนอยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำ เรียกว่าบ้านสีโหละ ใต้ลงมาหน่อยทางฝั่งซ้ายเรียกว่าตำบลวังขนาย ส่วนบ้านทางฝั่งขวาเรียกว่าบ้านต้นมะม่วง” (หน้า ๘๑)

เมื่อคราวสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์แขวงเมืองกาญจนบุรี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระองค์ได้เสด็จถึงวัดศรีโลหะ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม และลงเรือเสด็จกลับ ณ ท่าเรือวัดนี้ เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม เวลา บ่าย ๒ โมง ๔๑ นาที ทรงมีบันทึกเรื่องราวของวัดศรีโลหะฯ ดังความตอนหนึ่งดังนี้

“เวลาบ่าย ๕ โมง ๖ นาที (วันที่ ๓ ธันวามคม) ถึงพลับพลาอันปลูกอยู่ที่ท่าหน้าวัดศรีโละ อำเภอวังขนาย ซึ่งเมืองจัดไว้เป็นที่ประทับแรม มีพระสงฆ์และข้าราชการพลเรือน ตำรวจภูธรตลอดถึงราษฎรคอยรับเสด็จ พระสงฆ์ประมาณ ๔๐ รูป มีพระครูวิสุทธิรังสี เจ้าคณะเมือง เป็นประธาน ข้าราชการและราษฎรประมาณ ๑๐๐ คนเศษ มีพระสัจจาภิรมย์ ผู้ว่าราชการเมือง เป็นประธาน เสด็จขึ้น ทรงปฏิสันถารแก่ผู้มารับเสด็จเหล่านั้นตามสมควรแล้ว ทรงพระดำเนินทอดพระเนตรภูมิสถานของวัด เสด็จเข้าทรงนมัสการพระในอุโบสถ แล้วเสด็จกลับลงประทับในเรือที่นั่งฯ ....วัดศรีโละ ที่ประทับแรมคืนนี้ มีอีกชื่อหนึ่งว่า วัดอินทาราม มีภูมิฐานค่อนข้างดี มีต้นไม้ใหญ่ ร่ม มีอุโบสถก่อ กุฎี ฝากระดานมากหลัง ตั้งเป็นหมู่ มีพระสงฆ์อยู่ ๒๑ รูป เจ้าอธิการพรต เป็นเจ้าอาวาส รักษาวัดสะอาดเรียบร้อย เป็นพระกว้างขวางในตำบลนี้ มีผู้นิยมนับถือมาก แม้ในหมู่พระสงฆ์ ตลอดถึงพวกชาวบ้านทั่วไป ทั้งเอาใจใส่การวัดการพระศาสนาแข็งแรง รู้ความเป็นไปทางวัดอื่นด้วย ทูลได้คล่อง เป็นช่างด้วย ปั้นพระพุทธรูปไว้ที่วัดนี้งามพอใช้ฯ

ต่อมา พ.ศ.2494 พระครูโสภณประชานารถ (นารถ นาคเสโน) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 9 ได้ชักชวนประชาชนก่อสร้างพระอุโบสถจัตุรมุขขึ้น เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเททองหล่อพระพุทธชินสีห์จำลอง พระประธานในอุโบสถ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ นับว่าเป็นพระประธานที่มีพุทธลักษณะที่งดงามอย่างยิ่ง ผนังภายในพระอุโบสถตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก เป็นเรื่องพุทธประวัติ ช่างแกะสลักต้องมาอยู่พักที่วัดและใช้เวลาหลายปีในการแกะสลักกว่าจะแล้วเสร็จ

อุโบสถและลักษณะทางสถาปัตยกรรม

จากการสัมภาษณ์พระเจตฎน์ จนฺทวํโส จึงทราบว่า เดิมอุโบสถหลังเก่าตั้งอยู่ด้านหลังวิหารพระนอน ซึ่งถูกรื้อถอนในคราวสร้างอุโบสถหลังใหม่ ประวัติการก่อสร้างไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาแต่คราวใด แต่จากแผ่นจารึกบันทึกของวัดที่ติดอยู่ที่ทางเข้าอุโบสถหลังเก่าระบุว่า ในสมัยพระครูยติวัตรวิบูลย์ (พรต) เป็นเจ้าอาวาส อุโบสถอยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงมีการซ่อมแซมบูรณะครั้งใหญ่ขึ้น แล้วมีการซ่อมแซมใหญ่อีกคราวหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ สมัยพระครูบวรพัฒนกิจ (บรรทม กิตฺติสาโร) เป็นเจ้าอาวาส

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมโดยภาพรวมไม่แตกต่างจากอุโบสถเก่าวัดอื่น ๆ กล่าวคือ อุโบสถเป็นอาคารขนาดกว้างประมาณ ๖ เมตร ยาวประมาณ ๑๒ เมตร ภายนอกมีกำแพงแก้วล้อมทั้ง ๔ ด้าน มีพาไลที่เปิดทางเข้าออก ๒ ด้าน ประตูทางเข้าโบสถ์มี ๒ ประตู ด้านหลังทึบ ไม่มีประตูออก มีหน้าต่างด้านละ ๓ ช่อง มีความยาว ๕ ช่วงเสา ด้านในสุดเป็นแท่นประดิษฐานพระประธานและพระพุทธรูปบริวารประจำอุโบสถ

เมื่อคราวซ่อมแซมในปี ๒๕๔๒ ได้รื้อเสาไม้ภายในพร้อมทั้งคานและเพดานไม้ออกทั้งหมด (ภาพเสาโบสถ์เก่า) ศิลปกรรมที่สำคัญที่ควรกล่าวถึงคือ

หน้าจั่วทั้ง ๒ เครื่องลำยองโดยเฉพาะช่อฟ้า และหางหงส์ เป็นรูปหัวนาค ลวดลายหน้าบันทั่ง ๒ ด้านเป็นภาพเดียวกัน มีการแบ่งพื้นที่เป็น ๒ ช่อง ช่องบนพื้นเป็นลายพรรณพฤกษา ส่วนกลางตอนล่างสุดเป็นภาพผ้าไตรวางอยู่บนพาน ถัดไปเป็นยันต์เฑาะว์อุณาโลม สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งเป็น พระพุทธรูป และสูงสุดน่าจะเป็นมหามงกุฎ ด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน ประดับด้วยฉัตร มีสิงโตจีน ประคองคันฉัตรข้างละตัว

หน้าบันช่องล่างเป็นภาพคลายดอกไม้จีน มีสัตว์ในเทพนิยายจีนอยู่ด้านซ้ายและขวา ด้านข้างมีภาพอาคารคล้ายเก๋งจีนตั้งอยู่บนเนินเขา หน้าบันด้านหลังพื้นที่ส่วนนี้หลุดล่วงหายไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาพส่วนตรงกลาง

ศิลปกรรมปูนปั้นเหนือกรอบประตู

ลักษณะเด่นของประติมากรรมเหนือกรอบประตูทั้ง ๒ ช่อง เป็นภาพเดียวกัน ภาพหลักเป็นรูปปั้นบุคคลมีปีกทั้งลอยตัว เหนือศีรษะเป็นรัศมีแสงอาทิตย์ ด้านร่างเป็นลวดลายพรรณพฤกษา ล้อมรอบด้วยจั่วมีช่อฟ้าใบระกา ๒ ชั้น ตามบันทึกของวัดระบุว่า ภาพปั้นรูปบุคคลดังกล่าว เป็นรูปปั้นของ พลเรือโท พระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ทรงเป็นพระโอรสองค์โตในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กับหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา

ตามบันทึกระบุว่า พลเรือโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงเป็นผู้อุปถัมถ์วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง ในสมัยพระครูยติวัตรวิบูลย์ (พรต) เป็นเจ้าอาวาส

เพราะเหตุใดรูปปั้นนั้นจึงมีปีก

เพื่อจะหาคำตอบนี้ ผู้เขียนจึงศึกษาประวัติพลเรือโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา พบว่า พระองค์เกิดเมื่อ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ทางจันทรคติตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง เมื่อสืบค้นเรื่องเทพประจำวันวันอาทิตย์ พบว่า ในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพรามหณ์ ตอนที่ว่าด้วย ฤคเวท กล่าวว่า “ร่างของสุริยเทพมีลักษณะเป็นนก มีปีกอันสง่างาม มีรัศมีกายสีแดงเป็นแสงรุ่งโรจน์รอบตัว มี ๔ กรและมีอรุณเป็นสารถี”

ดังนั้น ด้วยคติความเชื่อนี้จึงน่าจะเป็นที่มาของปีกนกสุริยเทพที่รูปปั้นของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาที่เราเห็นที่เหนือกรอบประตูอุโบสถดังกล่าว

ช่องหน้าต่างด้านเหนือและใต้ด้านละ ๓ ช่อง ทุกช่องมีกรอบปูนปั้น เหนือกรอบหน้าต่างมีลักษณะเป็นซุ้ม ซุ้มกลางมีตำแหน่งที่สูงกว่า กรอบด้านซ้ายและขวา ปั้นเป็นภาพหน้าบัน มีเครื่องลำยองทั้งช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์ ซ้อน ๒ ชั้น ช่อฟ้าปั้นเป็นเศียรพญานาค ๓ เศียร ส่วนหางหงส์เป็นรูปนาคเศียรเดียว ภายในซุ้มด้านซ้ายมือ ส่วนบนสุดมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ด้านล่างทำเหมือนภูเขามอ มีช่องว่างคล้ายถ้ำแต่ละช่องมีพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ประดิษฐานอยู่ประมาณ ๒๐ องค์ ช่องล่างมุมขวาปรากฏภาพเสือตัวหนึ่งด้วย ส่วนภายในซุ้มขวามือปั้นเป็นภาพคล้ายภูเขา มีพระอยู่ในช่องเหมือนกัน ส่วนบนสุดปั้นเป็นรูปดอกไม้

ซุ้มหน้าต่างช่องแรกนับจากด้านหน้าอุโบสถ ช่องทางซ้ายมือ ตรงช่องว่างเหนือกรอบหน้าต่างปั้นรูปมังกร ภายในซุ้มหน้าต่างเหนือขึ้นไปเป็นหน้าบันไม่มีช่อฟ้า ปั้นเป็นรูปดอกโบตั๋นและเครือพรรณพฤกษา ด้านขวามือช่องว่างเหนือกรอบหน้าต่างปั้นรูปหงส์ ภายในซุ้มหน้าต่างเหนือขึ้นไปประดับด้วยปูนปั้นรูปเครือพรรณพฤกษาทาด้วยสีทอง

เหนือช่องหน้าต่างด้านในสุดฝั่งซ้ายมือ ช่องว่างเหนือกรอบหน้าต่างภาพหลักเป็นหงส์ มีภาพอื่น ๆ อีก ๒ ตำแหน่ง กรอบซุ้มมีลักษณะเป็นหน้าบันไม่มีช่อฟ้า ใบระกา คล้ายสถาปัตยกรรมตามพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ ๓ ภายในประดับกระถางดอกไม้ ประดับด้วยดอกไม้อย่างจีนงดงาม ส่วนช่องว่างใต้ซุ้มเหนือกรอบหน้าต่างขวามือประดับด้วยภาพปั้นชาวพม่า ๒ คน อยู่ในอิริยาบถเล่นดนตรี ถัดขึ้นไปภายในซุ้มเป็นภาพดอกไม้ปักในแจกันเช่นกัน

ซุ้มเสมา เป็นซุ้มก่ออิฐถือปูนเรือนซุ้มรูปทรงคล้ายกุฎีจีนหรือญี่ปุ่น จำนวน ๘ ซุ้ม ภายในเป็นที่วางใบสีมาวัสดุหินทรายแดง ลวดลายแต่งต่างกันบ้าง นอกจากนี้ยังพบใบสีมาอีกหลายใบที่ทางวัดนำมาวางไว้บริเวณด้านหน้าอุโบสถ สันนิษฐานว่า ส่วนใดส่วนหนึ่งน่าจะเป็นใบสีมาดั้งเดิม เมื่อมีการซ่อมแซมอุโบสถใหม่จึงน่าจะทำเพิ่มขึ้นใหม่

ศิลปะปูนปั้นเรื่องราวพุทธศาสนา

บริเวณรอบ ๆ อุโบสถหลังเก่ามีการนำประติมากรรมปั้นปูนซีเมนต์จำนวนมากมาติดตั้งไว้ ประวัติการสร้างรูปประฏิมากรรมไม่ทราบแน่ชัด เป็นการปั้นปูนซีเมนต์แสดงเรื่องราวพุทธประวัติ เช่น รูปปั้นแม่ธรณีบีบมวยผม พระนาสิริมหามายา ตอนประสูติ ธิดามารยั่วพระพุทธองค์ พระอินทร์ ฤๅษี ยักษ์ และรูปปั้น มหาเวสสันดรชาดก เป็นต้น

หากพิจารณาอายุการปั้นก็น่าจะมีอายุใกล้ ๆ ๑๐๐ ปี และเป็นฝีมือการปั้นของช่างพื้นถิ่น รูปปั้นเหล่านี้ทราบว่า แต่เดิมตั้งอยู่บริเวณส่วนฐานบัวรอบนอกของอุโบสถ เมื่อมีการบูรณะอุโบสถ จึงถูกขยับย้ายรูปปั้นต่าง ๆ ไปวางอยู่รอบกำแพงแก้ว แต่ครั้นบูรณะอุโบสถเสร็จแล้ว กลับมิได้นำรูปปั้นนั้นกลับเข้าไปติดตั้ง ณ ที่เดิม จึงถูกวางระเกะระกาอยู่ ต่อมาพระครูบวรพัฒนกิจ เจ้าอาวาสจึงนำรูปปั้นดังกล่าวมาจัดวางใหม่ ณ ที่ปัจจุบัน

_______________________________

เอกสารอ้างอิง

ครรชิต จูประพัทธศรี และธิดารัชต์ ตกแต่ง จูประพัทธศรี. (๒๕๖๓). ภูมิเมืองกาญจน์ ย่านเก่าตลาดท่าม่วง พลวัตทางประวัติศาสตร์. กาญจนบุรี : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

นุ เพชรรัตน์. (๒๕๓๗). รวมภาพวัตถุมงคล หลวงพ่อพรต หลวงพ่อนารถ วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง. กรุงเทพ : บริษัท จูปิตัส จำกัด.

พระเจตฏน์ จนฺทวํโส อายุ ปี สัมภาษณ์เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๖๔

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล (๒๕๕๘). บรรณาธิการ. “ระยะทางสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ แขวงเมืองกาญจนบุรี พ.ศ. ๒๔๕๘” ใน กาญจนสังฆปิตรานุสรณ์. คณะสงฆ์ ราษฎรชาวกาญจนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทรราวาส กรุงเทพมหานคร วันพุธที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘. กรุงเทพฯ: หจก. สามลดา.

_________________

เขียน : ฟ้อน เปรมพันธุ์, อรพรรณ ศรีทอง
ภาพ : ประพฤติ มลิผล, รัตนากร พุฒิเอก
ผู้ร่วมสำรวจ/ข้อมูล : ประพฤติ มลิผล (เล็ก บ้านใต้), สมชาย แสงชัยศรียากุล

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

มีการบูรณะให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

แก้ไขเมื่อ

2021-08-25

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร