ปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย


ละติจูด 13.747677919902 , ลองจิจูด 102.395055826

พิกัด

ตำบลผักขะ อำเภออำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว รหัสไปรษณีย์ 27160

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน สถาน หลักเมือง

ความสำคัญ/ลักษณะ

        ปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย หรือ ปราสาทบ้านน้อย ตั้งอยู่ที่ ตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง มีกำแพงล้อมรอบ ด้านนอกกำแพงทางทิศตะวันออกมีบารายขนาดใหญ่ กลุ่มโบราณสถานนี้ ประกอบด้วย

  1. ปราสาทประธาน เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพประจำศาสนสถาน
  2. บรรณาลัย เป็นที่เก็บรักษาเครื่องใช้ในพิธีกรรม รวมถึงคัมภีร์ต่างๆ
  3. กำแพงแก้ว เป็นกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน มีประตูทางเข้าขนาดใหญ่ซึ่งเรียกว่า โคปุระ
  4. บาราย เป็นสระสำหรับกักเก็บน้ำ
  5. กำแพงชั้นนอก เป็นคันดินล้อมรอบโบราณสถานทั้งหมด

        ปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใยเป็นศาสนสถานประจำอโรคยาศาลหรือโรพยาบาล ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 3 โปรดให้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ตามเส้นทางที่ทรงแผ่พระราชอำนาจไปถึง เพื่อใช้เป็นสถานที่รักษาผู้เจ็บป่วย มักพบร่วมกับที่พักคนเดินทางหรือธรรมศาลา ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบอโรคยาศาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในภาคตะวันออกนั้นพบที่โบราณสถานบ้านปราสาทและกลุ่มโบราณสถานสระมรกต จังหวัดปราจีนบุรี

        การสืบค้นและสำรวจปราสาทเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2514 เนื่องจากอำเภอวัฒนานครยึดทับหลังศิลาเขียวแกะสลัก ประกอบกับนายคำ อนงค์เทพ มอบเสากลมศิลาเขียวให้กับทางอำเภอวัฒนาคร จึงเริ่มสำรวจขุดแต่งจนพบโบราณวัตถุหลายรายการ เช่น ชิ้นส่วนราชยานคานหาม (3 ชิ้น) ครุฑดินเผา ทวารบาลดินเผา ชิ้นส่วนศิลาจารึก (2 ชิ้น) เศียรยักษ์ดินเผา ฤษีดินเผา ยักษ์ดินเผา พระพุทธรูปดินเผา และก้อนดีบุก จนกระทั่งก่อน ปี พ.ศ. 2547 คณะสำรวจได้แก่ นายอาณัติ บำรุงวงศ์ (นักวิชาการสำนักงานศิลปรที่ 5 ปราจีน และคณะ) น.ส.ทิพรัตน์ เฮงตระกูล นายเจษฎา ชมเชย (ครูโรงเรียนสระแก้ว) พร้อมกับปลัดองค์การบริหารตำบลผักขะและคณะ ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจและสืบหาทับหลังเพิ่มเติม สัมภาษณ์ชาวบ้านบริเวณปราสาท ได้ความว่า นอกจากโบราณวัตถุที่พบนั้น ยังมีโบราณวัตถุอื่น และมีทับหลังอีก 4-5 ชิ้นที่เคยพบในปราสาท แต่มีหลักฐานบ่งชี้ได้เพียง 2 ชิ้น เท่านั้น  

        ทับหลังชิ้นที่ 1 เป็นทับหลังสลักรูปเทพพระเจ้า 3 องค์ (ตรีภูมิ) ได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ทับหลังชิ้นนี้ นายคำ อนงค์เทพ (ผู้มาก่อสร้างสะพาน) เป็นผู้นำในการชักลากมาไว้ที่วัดหนองบัวเหนือ แต่หลังจากนั้นคณะทำงานได้นำทับหลังและจารึกหินสีดำไปแลกไม้เพื่อมาทำสะพาน ทำให้ยังไม่สามารถสืบหาได้ว่าทับหลังชิ้นนี้อยู่แห่งใด เหลือเพียงภาพถ่ายที่คณะทำงานกับหลวงพ่อบิด (เจ้าอาวาสวัดหนองบัวเหนือ) และสามเณรบุญรอด ถ่ายคู่กับทับหลังชิ้นดังกล่าวไว้เป็นที่ระลึกเท่านั้น

        ทับหลังชิ้นที่ 2 เป็นทับหลังศิลาเขียว ศิลปะไพรกเมง รูปหงส์คาบแก้ว ที่ทางอำเภอวัฒนานครยึดได้ ซึ่งสงสัยว่าจัดแสดงอยู่ในห้องลพบุรี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร คุณอาณัติ บำรุงวงศ์ และคณะสำรวจ จึงนำชาวบ้านที่เคยอยู่บริเวณรอบปราสาท เข้าชมทับหลังศิลาเขียวดังกล่าว ทุกคนต่างยืนยันว่าเป็นทับหลังของปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใยที่พวกตนเคยเห็นสมัยเด็ก

        ส่วนโบราณวัตถุอื่นๆ ที่สูญหายไปก่อนนั้น ชาวบ้านเล่าว่าถูกขนไปสร้างโบสถ์บ้าง บางส่วนเก็บไว้ที่วัดธรรมมาวาส (วัดทางหลวง) หมู่ 9 บ้านทางหลวง อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว แต่มีบางส่วนที่เป็นหินแกะสลักดอกบัว ถูกขนไปยังจังหวัดสุรินทร์โดยใช้ช้างลาก เนื่องจากใช้เกวียนแล้วแต่เกวียนหักถึง 2 ครั้ง ซึ่งทางคณะสำรวจไม่อาจสืบหาได้ เนื่องจากระยะเวลาผ่านมานาน

        กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานบ้านน้อยในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนพิเศษ 38 ง วันที่ 20 พฤษภาคม- 2541 มีเนื้อที่โบราณสถาน 45 ไร่ 95 ตารางวา

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

สภาพน้ำท่วมปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย

        เนื่องจากปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ บริเวณรอบปราสาทเป็นพื้นที่ทำนา ทำให้ช่วงฤดูฝนเกิดน้ำท่วมปราสาทเมื่อนานวันเข้าก็ก่อให้เกิดความเสียหายกับปราสาท ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการบูรณะ ซ่อมแซม โดยกรมศิลปากร

 

แก้ไขเมื่อ

2021-10-30

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร