เมืองโบราณเวียงบัว


ละติจูด 19.037127 , ลองจิจูด 99.954917

พิกัด

บ้านบัว ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา ตำบลแม่กา อำเภออำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา รหัสไปรษณีย์ 56000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

เวียงบัว ลักษณะผังเมืองวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีรูปแบบคล้ายกับรูปหนึ่งใบโพธิ์ โดยส่วนปลายใบโพธิ์จะอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ขนาดของเมืองยาวที่สุดประมาณ 800 เมตร กว้างที่สุดประมาณ 400 เมตร

        คูเมืองด้านทิศเหนือ-ตะวันตกและตะวันออก มีเพียงชั้นเดียวและเฉพาะด้านทิศตะวันออกจะเป็นลักษณะของลำห้วยที่ไหลชิดผ่านคันดินกำแพง เมืองด้วยโดยคูเมืองจะกว้างประมาณ 10.50 เมตร คันดินกำแพงเมืองชั้นใน กว้างประมาณ 6.50 เมตร นอกจากนี้ยังพบลักษณะคันดิน นอกเมืองที่คงเกิดจากการขุดคูเมืองแล้วนำเอาดินส่วนหนึ่งมาถมเป็นคันดินด้านนอกด้วย แต่มีขนาดและปริมาณน้อยกว่าด้านในโดยจะกว้างประมาณ 5 เมตร

        ส่วนลักษณะของคูเมืองด้านทิศใต้ของเวียงบัวนี้ จะมีคูเมือง 2 ชั้น มีคันดินคั่นอยู่ระหว่างกลาง คูเมืองชั้นในกว้างประมาณ 8.20 เมตร คันดินกว้างประมาณ 7.80 เมตร และคูนอกกว้างประมาณ 9 เมตร แนวคูในชั้นนี้จะขุดอยู่บนเนินเขาสูงกว่าอีก 3 ด้าน และวางตัวเป็นเส้นตรงในแนวทิศตะวันออก- ตะวันตก ความลึกของคูเมืองทั้งหมดโดยเฉลี่ยประมาณ 1.50 - 2.00 เมตร

        นอกจากนี้ทางด้านทิศใต้ของเวียงบัวนี้ ยังสามารถสังเกตเห็นแนวคันดินที่วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ จากเวียงบัวลงมา เชื่อมต่อกับเมืองอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเวียงบัวนี้

        สภาพภายในเวียงบัว จะเทลาดจากด้านทิศใต้ เข้ามาภายในเมือง สภาพพื้นที่ภายในเมืองจะมีลักษณะเป็นที่ลาดเชิงเขา แบบลอนลูกคลื่นที่ไม่มีความสูงต่างระดับกันมากนัก บริเวณต่ำสุดน่าจะอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะคล้ายกับเป็นแอ่ง โดยมีคันดินกำแพงเมืองลดเป็นขอบสูงกว่า คันดินด้านอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

        ในปัจจุบันภายในเวียงบัวเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านบัว มีทั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและโรงเรียน มีการทำไร่นา และสวนของชาวบ้านอยู่กระจัดกระจายเป็นแห่งๆ มีแนวถนนติดต่อกันเอง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวกำแพงเมือง แต่ละด้านถูกรุกล้ำทำลายลงไปเป็นอันมาก

        สำหรับเมืองอีกเมืองหนึ่ง ที่อยู่ด้านทิศใต้ ติดต่อกับเวียงบัวนั้นยังไม่มีชื่อเรียกที่แน่นอน ในที่นี้ขอเรียกว่าเป็น เวียงบัวสอง ซึ่งจะตั้งอยู่บนเนินเขาสูงกว่า เวียงบัวหนึ่ง พื้นที่ภายในเมืองจะมีลักษณะเป็นลอนลูกคลื่นขนาดใหญ่ ซ้อนๆกันอยู่ ไม่พบโบราณวัตถุภายในเมือง

        ลักษณะผังเมืองน่าจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ กว้างประมาณ 400 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร คูเมืองด้านทิศเหนือที่ติดต่อกับเวียงบัวหนึ่ง นั้นพบคูเมืองชั้นเดียว กว้างประมาณ 9.70 เมตร คันดินกว้างประมาณ 7 เมตร

        ส่วนคูเมืองด้านทิศตะวันออก มีคูเมือง 2 ชั้นคูเมืองชั้นในกว้างประมาณ 11 เมตร คันดินกว้างประมาณ 8 เมตร คูเมืองชั้นนอกกว้างประมาณ 7 เมตร และคันดินกว้างประมาณ 4 เมตร ความลึกโดยเฉลี่ยประมาร 1.50 – 2.00 เมตร เช่นกัน

        คูเมืองเวียงบัวหนึ่ง ด้านทิศใต้และตะวันตก จะมีสภาพไม่สมบูรณ์เท่าใดนักเพราะพื้นที่บางส่วนถูกใช้ในการเกษตรกรรม มีการขุดตักหน้าดินไปบ้าง สภาพภายในเมือง มีไม้ยืนต้นขึ้นอยู่บ้างเป็นแห่งๆ ไม่พบโบราณวัตถุ ไม่มีการสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย พื้นที่ค่อยๆเทลาดลงไปโดยรอบ

        เวียงบัวมีแผนผังเป็นรูปดอกบัวสองดอกอยู่ติดกัน หากมองจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศจะดูเหมือนตัวเต่า เพราะคูเวียงบัวหนึ่ง นั้นมีลักษณะเป็นดอกบัวตูมรูปร่างคล้ายหัวเต่า ส่วนคูเวียงบัวสอง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม เมื่ออยู่ใกล้กันจึงมองคล้ายเป็นรูปเต่า ปัจจุบันบ้านเวียงบัวได้กลายเป็นหมู่บ้านโดยชาวบ้านอาศัยที่นั้นส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร ไม่ค่อยมีใครรู้มาก่อนในอดีตแห่งนี้เคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ของเมืองพะเยาและมีความสำคัญต่อชุมชนในอดีต

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2019-08-13

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร