ชุมชนบางขันหมาก


ละติจูด 14.8055841 , ลองจิจูด 100.595016

พิกัด

ลพบุรี ตำบลบางขันหมาก อำเภออำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี รหัสไปรษณีย์ 15000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

ย่านชุมชนเก่า

ความสำคัญ/ลักษณะ

     ชุมชนบางขันหมากเป็นชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ด้วยประวัติการตั้งชุมชนประกอบด้วย ชาวไทยภาคกลาง และชาวไทยเชื้อสายมอญ ด้วยเหตุนี้ชุมชนบ้านหมี่จึงมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต   

     มอญบางขันหมากมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลพบุรีเมื่อใดไม่สามารถระบุได้  เพราะไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าอยู่อาศัยหรืออพยพมาที่เมืองลพบุรีครั้งใดสมัยใด มีการสันนิฐานกันว่า ชาวมอญบางขันหมากได้อพยพมามาจากพม่าในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้อพยพชาวมอญกลุ่มนี้มาสร้างเมืองลพบุรี  เพราะชาวมอญมีความถนัดในการทำอิฐเมื่อสร้างเสร็จแล้วเห็นว่าภูมิประเทศแห่งนี้ทำเลดีเหมาะที่จะตั้งหลักปักฐานเลยไม่ขอกลับไปกรุงศรีอยุธยา  จึงตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลบางขันหมากจนทุกวันนี้ แต่ชาวมอญบางขันหมากเองนั้นมีความเชื่อว่าตนอพยพต่อเนื่องมาจากที่สามโคก ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยาและจากที่อื่นๆ  เพราะมีรกรากและเครือญาติที่ยังสามารถติดต่อและสืบเชื้อกันได้อยู่ แต่ส่วนหนึ่งอ้างว่าได้รับการบอกเล่าจากบรรพบุรุษของตนว่า  ตระกูลของตนอพยพมาจากเมืองมอญ โดยเดินทางมาตามแม่น้ำสายหลักเป็นกลุ่มจำนวนมาก บางกลุ่มเห็นว่าถิ่นฐานแห่งใดเหมาะสมอุดมสมบรูณ์ก็ตั้งรกรากที่นั่น  บางส่วนก็อพยพต่อไปเรื่อยๆ  จนมาตั้งรกรากที่ลพบุรี  เมื่ออาศัยอยู่แล้วเห็นว่าอุดมสมบรูณ์ดีก็ชักชวนพี่น้องชาวมอญที่ตั้งรกรากถิ่นฐานอื่นๆ  มาอยู่ที่ลพบุรี  แต่อย่างไรก็ตามชาวมอญบางขันหมากน่าจะอาศัยอยู่ที่ลพบุรีก่อนปีพุทธศักราช  2393  เพราะมีหลักฐานปรากฏชัดเกี่ยวกับการสร้างวัดโพธิ์ระหัต  ซึ่งเป็นวัดมอญที่เก่าแก่ที่สุดในชุมชนบางขันหมากที่มีสร้างวัดในปีพุทธศักราช  2393

     ชุมชนบางขันหมากอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมืองลพบุรี  ห่างจากเขตเทศบาลเมืองลพบุรีประมาณ  2 กิโลเมตร  อยู่ทางด้านใต้ของทางหลวงจังหวัดหมายเลข  311  สายลพบุรี-สิงห์บุรีระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 161 - 162  สำหรับชาวลพบุรีเมื่อพูดถึงมอญก็จะคิดถึงบ้านมอญบางขันหมากทันที   เพราะเป็นชุมชนที่มีชาวมอญอาศัยอยู่มากประมาณร้อยละ 60 และอยู่รวมกลุ่มในเขตหมู่ที่ 1,2,3,6,7,9 และ 12 ของตำบลบางขันหมาก ในอดีตบางขันหมากแบ่งการปกครองเป็นสองตำบล คือบ้านบางขันหมากใต้เป็นที่อาศัยของชาวมอญ  ส่วนบ้านบางขันหมากเหนือจะเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวไทย  เมื่อทางราชการยุบเขตหมู่บ้านทั้งสองรวมเป็นตำบลบางขันหมาก  คนในถิ่นอื่นจึงมักจะเข้าใจว่าเป็นที่อาศัยของชุมชนมอญ  ซึ่งตำบลบางขันหมากมีทั้งชาวมอญและชาวไทยอาศัยร่วมกัน

     ชาวมอญบางขันหมากในปัจจุบันมีลักษณะใกล้เคียงกับคนไทยเพราะความผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมแต่ยังคงมีการอนุรักษ์และรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไว้ชัดเจนอย่างเห็นได้ชัดอาทิการกินอยู่ อาหารพื้นบ้าน การแต่งกาย  ผู้หญิงนิยมไว้ผมมวยนุ่งผ้าถุงที่เรียกว่า “นิ่น” สวมเสื้อคอกลมแขนกระบอก คล้องสไบ ชายนุ่งลอยชายแบบมอญ  ส่วนภาษาพูดนั้น  ชาวมอญบางขันหมากยังคงพูดภาษาถิ่นคือภาษามอญในกลุ่มชาวมอญด้วยกัน และใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสาร พระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกายังคงใช้ภาษามอญในการสวดมนต์ไหว้พระ 

 

     สิ่งที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญบางขันหมากคือความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาแม้สภาพเศรษฐกิจสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใดแต่ความศรัทธาของ ชาวมอญยังคงเหนียวแน่น เมื่อถึงหน้าเทศกาลงานบุญต่างๆ เช่น สงกรานต์  เข้าพรรษา  ออกพรรษา  แห่รูปหลวงปู่ทอกรัก  งานศพพระ ฯลฯ ชาวบางขันหมากทุกครัวเรือนจะไปร่วมทำบุญที่วัด  ผู้ที่ไปทำงานต่างถิ่นก็มักจะกลับมาเยี่ยมเยียนบ้านเดิมในโอกาสนี้   ชาวมอญบางขันหมากยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีไว้เป็นอย่างดี มีการ  “ถือผี” อย่างเคร่งครัด ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางเครือญาติเป็นอย่างดี      ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความผูกพันกันยึดมั่นในคุณธรรม และมีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม  แม้สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรแต่ความเป็นอยู่ของชาวมอญบ้านบางขันหมากยังคงเหนียวแน่นด้วยวัฒนธรรมประเพณีของตนอย่างดี

 

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2022-12-19

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร