เมืองเสมา หรือเมืองนครราชสีมาเก่า


ละติจูด 14.92263 , ลองจิจูด 101.79792

พิกัด

หมู่บ้าน คลองขวาง ตำบล เสมา อำเภอ สูงเนิน จังหวัด นครราชสีมา ตำบลเสมา อำเภออำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา รหัสไปรษณีย์ 30170

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

ชุมชนโบราณ เมืองโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์

ความสำคัญ/ลักษณะ

โบราณสถานหมายเลข ๑

                 โบราณสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมขอม อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ก่อสร้างด้วยหินทรายและอิฐ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๔๕ เมตร ยาว ๕๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศใต้สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐานสูงประมาณ ๑ เมตร ประกอบด้วยอาคารต่างๆ ดังนี้

                   ๑) ปราสาทประธาน ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๒ เมตรหันหน้าไปทางทิศใต้ เหลือเพียงส่วนฐาน ตัวปราสาทมีมณฑปยื่นออกมาทางด้านหน้า มีบันไดทางขึ้น ๓ ทาง โดยทางด้านหน้ามีการก่ออิฐเป็นทางเดินเชื่อมต่อกลับประตูทางเข้าของกำแพงแก้ว

                   ๒) อาคาร ๒ หลัง ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒.๓๐ เมตร ก่อด้วยอิฐส่วนฐานก่อด้วยหินทราย หันหน้าไปทางทิศใต้ ขนาบข้างปราสาทประธาน

                   ๓) อาคารขนาดเล็ก ขนาดกว้าง ๓.๘๐ เมตร ยาว ๕ เมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน

                   อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีซุ้มประตูทางเข้า  (โคปุระ) ทางด้านทิศใต้

โบราณสถานหมายเลข ๒

                 เป็นเจดีย์ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด กว้าง ๘ เมตร สภาพชำรุดมากเหลือเพียงส่วนฐานสูงประมาณ ๑ เมตร แกนกลางถูกทำลายจากการขุดหาโบราณวัตถุ ทางด้านทิศใต้และทิศตะวันออกยังคงเห็นสภาพของฐานส่วนด้านอื่นๆ มีสภาพที่ชำรุดหักพัง มีทางเดินเข้าสู่เมืองเจดีย์ทางด้านทิศใต้ส่วนด้านทิศเหนือปรากฏทางเดินเพียงเล็กน้อย ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้มีแนวอิฐปูเป็นลานกว้าง ห่างออกไปประมาณ ๑๕ เมตร ในทิศเดียวกันมีอาคารก่ออิฐขนาดเล็กตั้งอยู่อีกหนึ่งหลัง

            โบราณสถานหมายเลข ๓

                 โบราณสถานแห่งนี้ประกอบด้วยอาคาร ๒ หลัง คือ เจดีย์แปดเหลี่ยมและอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

                   ๑) เจดีย์แปดเหลี่ยม ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน สภาพชำรุดมาก เหลือเพียงส่วนฐานสูงจากพื้นประมาณ ๗๐ เวนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖.๗๐ เมตร

                   ๒) อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ทางทิศเหนือของเจดีย์ ขนาดกว้าง ๖.๗๐ เมตร ยาว ๑๐.๙๐ เมตร มีใบเสมาโกลน แต่งอย่างหยาบๆไม่มีลวดลายใดๆปักอยู่โดยรอบเป็นใบเสมาคู่ เดิมอาจจะปักอยู่รอบทั้งแปดทิศ แต่ปัจจุบันเหลือพียงสี่ทิศ ได้แก่ ทิศใต้ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศตะวันตก และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

            โบราณสถานหมายเลข ๔ ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐานสูงจากพื้นประมาณ ๑.๒๐ เมตร มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๘.๒๕ เมตร ยาว ๑๓.๕๐ เมตร มีทางเข้าด้านทิศตะวันออก โดยก่อเป็นบันไดออกมาที่ด้านเดียวกันนี้ปรากฏลวดลายปูนปั้นประดับ ผนังด้านนอกทั้งสี่ด้าน รอบอาคารมีใบเสมาโกลนแต่งอย่างหยาบๆไม่มีลวดลายใดๆปักอยู่เป็นคู่ๆเดิมอาจจะปักทั้งแปดทิศ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงสี่ทิศ คือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

             โบราณสถานหมายเลข ๕

                ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐขนาดเล็ก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๖.๑๒ เมตร ยาว ๖.๔๐ เมตร สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐาน สูงประมาณ ๑ เมตร

            โบราณสถานหมายเลข ๖

ตัวโบราณสถานถูกทำลายจากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุจนโบราณสถานหมดสภาพ

            โบราณสถานหมายเลข ๗

                 ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง ๙.๖๐  เมตร ยาว ๙.๖๐ เมตร มีทางเข้าด้านทิศใต้ สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐาน ประมาณ ๑.๘๐ เมตร

                   ภายในมีลักษณะเป็นห้องถมพื้นด้วยก้อนหินทรายและฉาบพื้นด้วยปูนขาว กึ่งกลางของผนังแต่ละด้านยกเว้นด้านทิศใต้ ก่อเป็นบันไดทางขึ้นสู่ซุ้มที่ประดิษฐานรูปเคารพ ที่ผนังด้านทิศเหนือยังเหลือร่องรอยของฐานบัวอยู่

            โบราณสถานหมายเลข ๘

                 ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมขนาดเล็กเหลือเพียงส่วนฐานสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ด้านทิศตะวันตกขององค์เจดีย์มีแนวอิฐปูเป็นบริเวณกว้าง

            โบราณสถานหมายเลข ๙

                   ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐขนาดเล็ก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๔.๑๐ เมตร ยาว ๘.๑๐ เมตร เหลือเพียงส่วนฐานสูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร

            คูน้ำคันดิน

คูน้ำคันดินชั้นนอกมีลักษณะเป็นทางยาวไปโดยรอบเมือง ซึ่งบางแห่งจะมีต้นไม้ขึ้นปกคลุม  บางแห่งแห้งแล้ง คูน้ำบางแห่งก็แห่งขอดอีกบางแห่งก็มีน้ำอยู่และมีหญ้าขึ้น

คูน้ำคันดินชั้นในจะเห็นร่องรอยของคูน้ำที่แห้งขอดหมด มีต้นไม้เกิดขึ้นทั่วบริเวณ  ยังเห็นการเป็นคูน้ำคันดินอยู่อย่างสมบูรณ์

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลง

            เมืองเสมาโบราณได้รับการขุดค้น การขุดแต่ง และการบูรณะโบราณสถาน อีกทั้งยังมีการปรับสภาพพื้นที่โดยรอบให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้หลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุถูกนำไปเก็บรักษาเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์

   ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

๑) ระยะเวลา  สภาพภูมิอากาศที่ทำให้เมืองเสมาโบราณเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  และมีสภาพทรุดโทรมอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

๒) การถูกลักลอบขุดทำลายเพื่อหาโบราณวัตถุไปจำหน่ายของคนในสมัยนั้น  ทำให้โบราณสถานมีสภาพที่ทรุดโทรมมาก

๓) การเลื่อมใสศรัทธาของผู้คน และรวมถึงไม่มีคนดูแลแหล่งโบราณสถานปล่อยให้เสื่อมลงไปตามกาลเวลา  ทำให้โบราณสถานชำรุดลงเป็นอย่างมาก

บทสรุป

เมืองโบราณเสมาตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอสูงเนินมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๕ กิโลเมตร  ซึ่งมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน  ขนาด ๑,๗๐๐-๑,๕๐๐ เมตร มีกำแพงเป็นคันดินสูง  แต่บางช่วงมีศิลาแลงและหินทรายอยู่ส่วนบนของกำแพง  และคูน้ำซึ่งตื้นเขินกลายเป็นพื้นที่นาเกือบทั้งหมด  โอบรอบเมืองโบราณแห่งนี้ ภายในเมืองชั้นในมีโบราณสถานจำนวน  ๖ แห่ง ส่วนเมืองชั้นนอกมีโบราณสถานจำนวน ๓ แห่ง และบริเวณกลางเมืองชั้นนอกยังปรากฏแนวคูน้ำมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมอีกด้วย

บริเวณรอบตัวเมืองโบราณมีร่องรอยของชุมชนโบราณและศาสนสถานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทวารวดี เช่น บ้านคลองขวางมีพระพุทธรูปหินทราย  และธรรมจักรหินทรายที่วัดธรรมจักรเสมาราม

จากการสำรวจเมืองโบราณเสมามีฐานปราสาทและร่องรอยของชุมชนโบราณ มีใบเสมาล้อมรอบเมือง  และคูน้ำคันดิน  ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะพบว่าบริเวณนี้เป็นเมืองโบราณที่ยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก  แต่ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานบวกกับสภาพดินฟ้าอากาศที่ เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เมืองเสมาโบราณมีสภาพที่ทรุดโทรมและรวมไปถึงสมัยนั้นมีการลักลอบขุดโบราณวัตถุไปจำหน่าย จึงทำให้โบราณสถานทรุดโทรมมาก

แก้ไขเมื่อ

2023-09-05

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร