ทะเบียนย่านชุมชนเก่าในพื้นที่ภาคกลาง


เอกสารเผยแพร่ 07-09-2023 16:19:08 บุศราพร ใจมา

ทะเบียนย่านชุมชนเก่าในพื้นที่ภาคกลาง

ย่านชุมชนเก่า หมายถึง พื้นที่ที่แสดงออกถึงลักษณะการตั้งถิ่นฐานในเงื่อนไขของภูมินิเวศที่แตกต่างกัน ทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท มีพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานในมิติที่หลากหลายสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประจักษ์ได้จากอัตลักษณ์ที่ชัดเจนทางกายภาพ และสภาพทางสังคมวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ประเพณี กิจกรรม และการประกอบอาชีพของชุมชน ประกอบควบคู่กันอย่างเหมาะสม ภายใต้บริบทสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมของประเทศ ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของย่านชุมชนเก่าซึ่งถือได้ว่าเป็นรากฐานของประวัติศาสตร์เมืองที่ต่อเนื่องและมีชีวิตที่มีความเข้าใจในบริบทแวดล้อม และสภาพธรรมชาติ อาคารบ้านเรือนที่ยังคงอยู่มีคุณค่าต่อการปรับปรุงพัฒนามากกว่าการรื้อถอนสร้างใหม่ เป็นเสมือนแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต และยังเป็นพื้นที่ที่แสดงออกถึงการอยู่ร่วมกัน พื้นที่พบปะ รูปแบบประชาสังคมต่างๆ จึงควรค่าแก่การดูแลรักษาเพื่อเชื่อมอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมแล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และเป็นฐานเศรษฐกิจชุมชนด้วย 

ในช่วงปี พ.ศ. 2555- 2557 สำนักงานฯ ได้จัดทำมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ประเภทย่านชุมชนเก่า พร้อมด้วยทะเบียนย่านชุมชนเก่าในทุกภาคของประเทศ รวมทั้งหมด 613 ย่าน โดยจำแนกคุณลักษณะของย่านชุมชนเก่า ออกได้เป็น 7 คุณลักษณะ 1.ชุมชนริมน้ำ 2.ชุมชนรถไฟ 3.ชุมชนโดยรอบโบราณสถาน 4.ชุมชนตลาด 5.ชุมชนชนบท 6.ชุมชนตามกลุ่มอาชีพ 7.ชุมชนชาติพันธุ์ / ความทรงจำ  แบ่งออกเป็นย่านชุมชนเก่าภาคกลางและภาคตะวันตก 140 ย่าน  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 138 ย่าน  ภาคตะวันออก 54 ย่าน ภาคเหนือ 153 ย่าน ภาคใต้ 128 ย่าน

สำนักงานฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานส่วนท้องถิ่นตลอดจนประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์ย่านชุมชนเก่า และนำทะเบียนย่านชุมชนเก่านี้ใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการดำเนินงานในย่านชุมชนเก่าของตน ด้วยเป้าหมายให้ย่านชุมชนเก่าซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนา อย่างกลมกลืนกับการรักษาความสมดุลของพื้นที่ อันเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีสิทธิและบทบาทในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมให้มีความตระหนักถึงความสำคัญของวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น

รูปภาพ


ไฟล์