ความหมาย


ศิลปกรรมนับเป็นมรดกของชาติที่มีคุณค่าจำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้ ในขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมโดยรอบแหล่งศิลปกรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งที่จะต้องอนุรักษ์ควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งแวดล้อมของศิลปกรรม เพื่อจัดระเบียบให้สิ่งแวดล้อมและรักษาคุณภาพของแหล่งเหล่านั้นโดยตรง เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาการทำลาย สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม พบว่า มีทั้งที่เกิดจากการกระทำ โดยเจตนา ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และผลกระทบจากการพัฒนาต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ย่อมหมายถึง จะมีการใช้ปัจจัยศิลปกรรมจำนวนมากยิ่งขึ้น จนเป็นที่น่าห่วงว่า แหล่งศิลปกรรมที่ยังมิได้ศึกษา และวางแผนการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมอาจถูกทำลายลงได้ในที่สุด.

ศิลปกรรม หมายถึง สิ่งที่มนุษย์ได้สร้างหรือกำหนดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันด้วยความสามารถสติปัญญากำลังกายกำลังใจ และได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าในทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาตร์ โบราณคดี และ เทคโนโลยี ศิลปกรรม ที่กล่าวถึง สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

  • ลักษณะที่ 1 คือ ศิลปกรรมที่ใช้งานอยู่ เช่น วัด สถานที่ราชการ อาคารพาณิชย์ บ้านเรือน ย่านวัฒนธรรม
  • ลักษณะที่ 2 คือ ศิลปกรรมที่ไม่ได้ใช้งาน (ตามหน้าที่เดิม) แล้ว เช่น ซากโบราณสถาน วัดร้าง กำแพงเมือง คูเมือง แหล่งประวัติศาสตร์ และ โบราณคดี

ศิลปกรรมที่กล่าวถึงทั้ง 2 ลักษณะ นอกจากจะมีคุณค่า แห่งความงามอยู่ในตัวเองแล้ว สิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญด้วย คือ เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมความงามของศิลปกรรมนั้นให้เด่นชัดยิ่งขึ้น สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมจึงประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ

  • ตัวศิลปกรรม ทั้ง 2 ลักษณะที่กล่าวแล้วข้างต้น
  • สภาพแวดล้อม ที่อยู่โดยรอบและที่เกี่ยวข้อง คือ ปริมณฑล รอบตัวศิลปกรรม หรือ อาณาบริเวณเมืองเก่า หรือชุมชนเมือง ที่แหล่งศิลปกรรม ดังกล่าวตั้งอยู่ เช่น กรุงรัตนโกสินทร์ เมืองเก่าลพบุรี เมืองเก่าเชียงใหม่ เมืองพิมาย เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น

แนวความคิดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมนั้น เกิดจากการที่ท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศไทย มีแหล่งศิลปกรรมอยู่มากมาย แต่ความสำคัญของแหล่งศิลปกรรมกำลังถูกมองข้ามเพราะประชาชนในท้องถิ่นยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องความสำคัญประโยชน์ และคุณค่าของแหล่งศิลปกรรมนั้นๆ จึงเกิดการทำลาย โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แหล่งศิลปกรรมจึงอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมเสื่อมโทรม เป็นผลให้ต้องสูญหายหรือหมดคุณค่า หมดความสวยงาม เช่น การทำลายความงาม แหล่งศิลปกรรมโดยตรง โดยการเปลี่ยนแปลง รื้อถอน ลักลอบขุดเจาะ หรือการใช้ที่ดินโดยรอบ หรือภายในบริเวณแหล่งศิลปกรรมเพื่อที่จอดรถ จัดสรรเป็นอาคารพาณิชย์หรือการทำลายอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาต่างๆ ประชิดรุกล้ำตัวศิลปกรรม ปัญหาการทำลายเช่นนี้ จึงเป็นปัญหาที่เกินกำลัง และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรับผิดชอบที่จะดูแล คือ กรมศิลปากร จึงอาจกล่าวได้ว่า การที่แหล่งศิลปกรรมเสื่อมโทรม นั้นมีสาเหตุ มาจากสิ่งแวดล้อม ที่อยู่โดยรอบ