สผ. จัดประชุมชี้แจงระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ภายใต้โครงการจัดทำผังพื้นที่อนุรักษ์แหล่งศิลปกรรม ประเภทย่านชุมชนเก่า ตามภูมินิเวศ พื้นที่ภาคใต้ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช
20/11/2024 - 21/11/2024
เมื่อวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.30 – 16.00 น. สผ. โดย ดร.ฉัตรชัย อินต๊ะทา ผู้อำนวยการกองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สผ. ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (ที่ปรึกษาโครงการฯ) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช (ทสจ.) และ หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดประชุมชี้แจงการดำเนินงานโครงการจัดทำผังพื้นที่อนุรักษ์แหล่งศิลปกรรม ประเภทย่านชุมชนเก่า ตามภูมินิเวศ พื้นที่ภาคใต้ ณ ห้องประชุมศรีปราชญ์ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดย นายศรีธรรม ราชแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม
ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดและท้องถิ่น รวมทั้งผู้แทนชุมชนจากย่านชุมชนเก่าของจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 9 แห่ง ได้แก่ 1) ย่านชุมชนเก่าตลาดขนอม 2) ย่านชุมชนเก่าตลาดแขก 3) ย่านชุมชนเก่าตลาดท่าม้า 4) ย่านชุมชนเก่าตลาดท่าวัง 5) ย่านชุมชนเก่าตลาดปากเชียร (ตลาดออก-ตลาดตก) 6) ย่านชุมชนเก่าตลาดปากพนัง 7) ย่านชุมชนเก่าตลาดปากแพรก 8) ย่านชุมชนเก่าบ้านหมน และ 9) ย่านชุมชนเก่าปากน้ำสิชล เข้าร่วมประชุมรวม 40 คน
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อชี้แจงรายละเอียด ขั้นตอน และแนวทางการดำเนินงานโครงการจัดทำผังพื้นที่อนุรักษ์แหล่งศิลปกรรม ประเภทย่านชุมชนเก่า ตามภูมินิเวศ พื้นที่ภาคใต้ พร้อมทั้ง รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีความมุ่งหวังเพื่อให้ได้ผังพื้นที่อนุรักษ์แหล่งศิลปกรรม ประเภทย่านชุมชนเก่า ตามภูมินิเวศ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สำหรับเป็นกรอบในการสงวน รักษา อนุรักษ์และฟื้นฟู มรดกทางสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และวิถีชีวิติพื้นถิ่นในพื้นที่ สร้างความยั่งยืนทางภูมินิเวศ ภูมิสังคม และภูมิวัฒนธรรม ต่อไป
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่ 6 พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ซึ่ง สผ. เป็นหน่วยงานสนับสนุนหลักในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ประเทศไทยมีแผนผังภูมินิเวศ เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชนบทมั่นคง เกษตรยั่งยืน และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมทั้งผังพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งโบราณคดี ให้ครบทั้ง 6 ภาค ของประเทศ ภายในปี 2580