ละติจูด 19.909721991 , ลองจิจูด 99.8285960283
พิกัด
ตำบลเวียง อำเภออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ
วัด วัดร้าง ศาสนสถาน
ความสำคัญ/ลักษณะ
วัดมุงเมือง ไม่ปรากฏความเป็นมาในเอกสารโบราณ คนท้องถิ่นเรียก วัดต้นตอง ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระบวช (ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนพหลโยธิน) สันนิษฐานว่าแต่เดิมอาจเป็นวัดเดียวกัน แต่ภายหลังมีถนนพหลโยธินตัดคั่นกลาง ทำให้วัดแยกออกเป็น 2 ส่วน สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัด ได้แก่ เจดีย์ประธานตั้งอยู่ด้านหลังวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูโขงอยู่ทางทิศใต้ ด้านทิศใต้ของวิหารมีอุโบสถและวิหารขนาดเล็กอีกอย่างละ 1 หลัง เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ก่ออิฐถือปูน ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกสูงซ้อนกัน 3 ฐาน กว้างด้านละ 7 เมตร รองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่และส่วนเรือนธาตุที่เป็นห้องสี่เหลี่ยมยกเก็จ มีซุ้มจรนำสี่ด้านประดับลายปูนปั้น ส่วนล่างเป็นฐานบัวคว่ำ ส่วนบนเป็นบัวหงาย ที่ผนังมีการประดับบัวคว่ำและบัวหงายเส้นเล็ก ๆ ส่วนล่างและบนประดับลูกแก้วอกไก่แทรกระหว่างบัว ส่วนยอดเป็นฐานแปดเหลี่ยม 1 ฐาน ที่มุมฐานทั้ง 4 มุมประดับด้วยสถูปิกะ ถัดขึ้นไปจากฐานแปดเหลี่ยมเป็นบัวปากระฆัง องค์ระฆังทรงกลมขนาดเล็กสูง และบัลลังก์ตามลำดับ (เหนือขึ้นไปจากนี้หักหายไป) วิหารของวัดมุงเมือง ก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 14 เมตร ยาว 20 เมตร หันหน้าปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าเป็นห้องเปิดโล่ง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ผนังก่อทึบ ประกอบด้วยฐานชุกชีหรือแท่นแก้วประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ด้านทิศใต้มีบันไดเชื่อมต่อกับทางเดินไปยังอุโบสถและวิหารเล็กที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารและเจดีย์ อุโบสถ มีขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก หรือหันหน้าไปชนกับวิหารเล็ก ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใกล้เคียงกับอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประตูโขงหรือประตูหลักของวัดอยู่บริเวณกำแพงแก้วด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันออก (หน้าวิหาร) ก่อด้วยอิฐถือปูน จากองค์ประกอบเจดีย์ในส่วนต่าง ๆ สันนิษฐานว่าเจดีย์วัดมุงเมืองมีอายุช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 20 โดยมีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาจากพระธาตุสองพี่น้องและเจดีย์วัดป่าสัก
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
-
แก้ไขเมื่อ
2020-12-03