ประตูชุมพล


ละติจูด 14.9707506438 , ลองจิจูด 102.101854225

พิกัด

ตำบลในเมือง อำเภออำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา รหัสไปรษณีย์ 30000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

ประตูชุมพล เป็นประตูเมืองทางทิศตะวันตกของเขตเมืองเก่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองหน้าด่านเมื่อ ปี 2199 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา และโปรดเกล้าฯให้สร้างกำแพงประตูเมืองอย่างแข็งแรง เพื่อป้องกันการรุกรานจาก เขมร ญวน ลาว โดยเกณฑ์ช่างจากกรุงศรีอยุธยา เกณฑ์แรงงานจากเมืองโคราชและเมืองเสมาช่วยกันสร้างขึ้น ซึ่งในขณะนั้นมีนายช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบและวางผังเมืองให้ ประตูเมืองแห่งนี้เป็นเพียงแห่งเดียว ในบรรดาประตูทั้ง 4 ประตูของเมืองโคราชที่ยังคงสภาพเดิมอยู่พร้อมกับกำแพงเมืองเก่า ซึ่งประตูทั้ง 4 มีรูปแบบเป็นทรงไทยโบราณ ศิลปะสมัยอยุธยา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา และมีช่อฟ้าใบระกาเหมือนกันทุกแห่ง โดยมีชื่อเรียกประตูเมืองทั้ง 4 ว่า ประตูชุมพล ประตูพลแสน ประตูพลล้าน ประตูไชยณรงค์ แต่ทว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ได้ผุกร่อนไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะเหตุการณ์ศึกเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ที่ได้เข้ามายึดเมืองโคราช ประกอบกับสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นฝนตก แดดออก น้ำท่วม ก็ได้ทำลายประตูเมืองให้ชำรุดทรุดโทรมลงจนเหลือเพียงประตูเดียว นั่นก็คือ ประตูชุมพล ชื่อของประตูชุมพล มีหมายความว่า ชุมนุมพล เนื่องจากเป็นประตูที่เอาไว้เตรียมไพร่พลยามออกศึก ในอดีตมีความเชื่อว่าเมื่อลอดผ่านประตูชุมพลไปทำศึกจะได้กลับมาอย่างแคล้วคลาดปลอดภัย รวมทั้งใช้เป็นเส้นทางที่กองคาราวานการค้าในอดีต ต้องผ่านประตูชุมพลเพื่อเข้าสู่เมืองนครราชสีมาอีกด้วย

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2480

 

สภาพปัจจุบัน

          ประตูชุมพลสภาพปัจจุบันเป็นเสมือสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองโคราช ที่อยู่หลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ประตูชุมพลสร้างด้วยอิฐก้อนใหญ่เป็นรูปเชิงเทิน ด้านบนเป็นหอรบสร้างด้วยไม้แก่นมีการทาสีใหม่ หลังคามุงกระเบื้องช่อฟ้าใบระกาได้ปรับปรุงเป็นปูนปั้นแทนไม้ กำแพงก่อด้วยอิฐทั้งสองข้าง คงเหลือกำแพงใบเสมาไว้ข้างละ ๑๐ใบเสมา มีการสร้างบันได้สำหรับให้ขึ้นไปบนหอรบ ได้เปิดให้ประชาชนขึ้นไปชมในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาในปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมามีการล้อมรั้วรอบประตูเพื่อป้องกันการเข้าไปบุกรุก มีการประดับด้วยต้นไม้และหญ้า ในช่วงเวลากลางคืนมีการประดับไฟเพื่อความสวยงาม มีป้ายชื่อแขวนทั้งสองฝั่งของประตูว่า “ประตูชุมพล”

 

การเปลี่ยนแปลง

          มีการเปลี่ยนแปลงจากวงเวียน เป็นลานท้าวสุรนารี บูรณะโดยทาสีใหม่บริเวณหอรบ ปรับปรุงช่อฟ้าใบระกาเป็นปูนแทนไม้มีการฉาบปูนบริเวณกำแพงเพื่อเสริมความแข็งแรง ล้อมรั้วป้องกันการบุกรุกทำลาย

 

 ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

๑) การปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณอนุสาวรีย์ย่าโมและประตูชุมพลมีสถานะเป็นลานคนเมือง

          ๒) การทำถนน และการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว

บทสรุป

          ประตูชุมพลเป็นประตูเมืองทางทิศตะวันตกของเขตเมืองเก่า เป็นประตูเมืองเพียงแห่งเดียว ในบรรดาประตูเมืองทั้งหมด ๔ ประตูของเมืองนครราชสีมา ที่ยังคงสภาพเดิมอยู่พร้อมกำแพงเมืองเก่า ซุ้มประตูก่อด้วยอิฐก้อนใหญ่แล้วต่อเป็นกำแพงออกไปทั้ง ๒ ข้าง เหนือกำแพงตรงช่องประตู มีเรือนไทยหลังเล็กๆอยู่หลังหนึ่ง ทำด้วยไม้แก่น เรียกว่า “หอรบ” หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา กำแพงที่ต่อออกไปทั้ง ๒ ข้าง ส่วนบนทำเป็นรูปใบเสมาเหลือเพียง ๑๐ ใบเสมา ชื่อประตู "ชุมพล" นั้นหมายความถึง ที่ชุมนุมพลส่วนใหญ่ เป็นประตูสำหรับเตรียมไพร่พล และออกศึก เนื่องจากมีภูมิประเทศเปิดกว้าง ไม่มีป้อมปราการตามธรรมชาติเหมือนประตูอื่น ๆ ในอดีตมีความเชื่อว่า เมื่อลอดผ่านประตูชุมพลไปทำศึกแล้ว จะแคล้วคลาดได้กลับบ้านเมือง ทางกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐  และ กำแพงเมืองโคราช ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙

แก้ไขเมื่อ

2021-08-31

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร