ปราสาทหินพนมวัน/วัดพนมวัน


ละติจูด 15.0313074808 , ลองจิจูด 102.192538348

พิกัด

ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภออำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา รหัสไปรษณีย์ 13110

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

ปราสาทหินพนมวัน ตั้งอยู่ที่บ้านมะค่า ตำบลโพธิ์ สันนิษฐานว่าเดิมก่อสร้างด้วยอิฐในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 จึงได้สร้างอาคารหินซ้อนทับลงไป ปราสาทนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบขอม มีลักษณะคล้ายครึงกับปราสาทหินพิมายแต่มีขนาดเล็กกว่า จากจารึกที่ค้นพบ เรียกปราสาทแห่งนี้ว่า ""เทวาศรม"" เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ต่อมา จึงได้เปลี่ยนแปลงให้เป็นพุทธสถาน ปัจจุบันแม้จะหักพังไปมาก แต่ยังคงเห็นซากโบราณสถานหลงเหลือเป็นเค้าโครงค่อนข้างชัดเจนเช่น ปรางค์จตุรมุของค์ประธานหลักซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกโดยมีมณฑปอยู่ เบื้องหน้าและมีฉนวน (ทางเดิน) เชื่อมต่อระหว่างอาคารทั้งสองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปรางค์มีอาคารก่อด้วยหินทรายสีแดงเรียกว่า ""ปรางค์น้อย"" ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่ บริเวณโดยรอบปราสาทมีระเบียงคตสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลงล้อมเป็นกำแพงอยู่ มีโคปุระ (ประตูทางเข้าเทวสถาน) ก่อสร้างเป็นรูปหอสูงทั้งสี่ทิศ บริเวณรอบนอกปราสาททางด้านทิศตะวันออกห่างจากโบราณสถานเกือบ 300 เมตร มีร่องรอยของคูน้ำและเนินดินเรียกว่า ""เนินอรพิม"" นอกจากนี้ยังพบศิลาแลงจัดเรียงเป็นแนวคล้ายซากฐานอาคารบนเนินแห่งนี้ด้วย

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

สภาพปัจจุบัน

          โบราณสถานปราสาทพนมวัน ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตบ้านมะค่า ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาเป็นศาสนสถานในคติศาสนาพราหมณ์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ประกอบปราสาทภายในระเบียงคดประกอบไปด้วย ปราสาทประธาน มีการขุดแต่งให้สมบูรณ์มณฑปมีการประกอบส่วนที่พังทลายให้มาไว้ในตำแหน่งเดิม รวมทั้งสามารถประกอบทับหลัง ในทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตกและทิศใต้ ให้ลงตำแหน่งเดิมและมีการเสริมความมั่นคงให้ตัวอาคารด้วย นอกจากนี้ภายใต้ตัวอาคารยังพบการจารึกด้วยตัวอักษรเขมร ภาษาเขมรและภาษาสันสกฤต หลายหลักบริเวณกรอบประตู ภายในปราสาทประธานและมณฑปพบพระพุทธรูปสมัยอยุธยา จำนวน ๔ องค์ คือ พระพุทธรูปปางแสดงธรรมประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทประธานพระพุทธรูปปางแสดงธรรมประดิษฐานอยู่ทางทิศเหนือพระพุทธรูปประทับยืนและพระพุทธรูปปางประทานอภัยปรางค์น้อยมีการขุดแต่งให้สมบูรณ์ โดยภายในห้องมีแท่นยกสูงชิดพนังด้านตะวันตกใช้ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ปราสาทอิฐพบซากปราสาทอิฐที่ยังมองเห็นอยู่จำนวน ๕หลังโดยสองหลังอยู่ทางทิศตะวันออกของเส้นแกนส่วนอีกสามหลังอยู่ทางทิศตะวันตกมีบางส่วนถูกฐานปราสาทสร้างทับ จึงมีให้เห็นเฉพาะฐาน บางหลังยังคงมีกรอบประตูทางเข้าหลงเหลืออยู่ชาลาดำเนินเชื่อมต่อระหว่างโคปุระและปราสาทประธาน ระเบียงคด มีการขุดแต่งระเบียงคด และมีโคปุระเชื่อมระเบียงคดประจำทิศทั้ง ๔ทิศ

          องค์ประกอบปราสาทภายนอกระเบียงคด ประกอบด้วย บารายทางทิศเหนือ ปัจจุบันตื้นเขิน มีต้นธูปฤาษีขึ้นทั่วบริเวณบาราย สระน้ำทิศตะวันออก มีป่ารกทึบ แต่ยังคงมีลักษณะของบ่อน้ำเดิมไว้ แนวถนนโบราณ ปัจจุบันไม่พบแนวถนนโบราณ โดยในปัจจุบันบริเวณนั้นถูกสร้างเป็นวัด และเป็นที่ตั้งของโบสถ์วัด ซากโบสถ์ร้าง ปัจจุบันพบเพียงฐานราก ที่มีการขุดแต่งไว้โดยกรมศิลปากรเนินอรพินท์หรือพลับพลาพบเพียงฐานของอาคาร ภายในมีดินเป็นเนินสูงขึ้น พบหลุมฝังเสาตรงกลางเนิน

          ปราสาทพนมวันมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีความสำคัญในด้านการศึกษามาตั้งแต่สมัยอดีตแล้ว เนื่องจากมีนักวิชาการที่มีความสนใจทั้งที่เป็นชาวต่างชาติและชาวไทย ทำการศึกษาโบราณสถานแห่งนี้อย่างต่อนื่อง เมื่อทางกรมศิลปากรได้มีการขุดแต่งตัวปราสาทให้มีสภาพสมบูรณ์และสวยงาม ทำให้ปราสาทแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นสถานที่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์แก่ผู้ที่มีความสนใจเข้ามาศึกษา ด้วยเหตุนี้เองทำให้ในปัจจุบันปราสาทพนมวันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา

การเปลี่ยนแปลง

แต่เดิมนั้นปราสาทพนมวันเป็นเพียงซากปรังหักพัง ซึ่งต่อมากรมศิลปากรได้มีการขุดแต่งและบูรณะปราสาทให้สมบูรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๒โดยปราสาทประธานได้มีการบูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) และยังได้มีการบูรณะสถานที่ภายนอกระเบียงคด ได้แก่ ซากโบสถ์ร้าง เนินอรพินท์ เป็นต้น จึงทำให้ปราสาทพนมวันค่อย ๆ สมบูรณ์ขึ้น

จากการบูรณะก็ส่งเสริมให้รูปแบบศิลปะทางสถาปัตยกรรมสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมหรือผู้ศึกษาเฉพาะทางที่ได้ศึกษาในสภาพที่ใกล้เคียงกับของเดิม และยังมีการปรับแต่งพื้นที่เพื่อให้เกิดความสวยงามในการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งสำคัญของจังหวัดนครราชสีมาอีกด้วย

  ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

          วัดพนมวันหรือปราสาทพนมวัน ตั้งอยู่ที่บ้านมะค่า ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองนครราชสีมามีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังนี้   

๑) ปราสาทพนมวันได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๒และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๒โดยสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา กรมศิลปากรเพื่อศึกษาถึงความสำคัญของปราสาท คติความเชื่อ โบราณวัตถุที่พบในการขุดแต่งปราสาท

๒) โบราณวัตถุที่พบในการขุดแต่งปราสาท คือ ทับหลังภาพพระวิษณุทรงครุฑ ชิ้นส่วนหน้าบันรูปหน้ากาล เทวสตรีและพระพุทธรูป เป็นต้น ได้ถูกเคลื่อนย้ายนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

            ๓) ปราสาทพนมวันจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งของจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากปราสาทพนมวันเป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่ เป็นอันดับ ๓ ของประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นทั้งศาสนสถานในศาสนาฮินดูเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา และยังเป็นที่ศึกษารูปแบบของสถาปัตยกรรมที่สำคัญอีกแห่งของจังหวัดนครราชสีมา

แก้ไขเมื่อ

2021-08-31

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร