ปราสาทกู่ปราสาท (คูปราสาท)


ละติจูด 15.1900074542 , ลองจิจูด 102.177839252

พิกัด

ตำบลเมืองปราสาท อำเภออำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา รหัสไปรษณีย์ 30160

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

ปราสาทกู่ปราสาทหรือคูปราสาท มีอายุเก่ากว่าหลังอื่นทั่วทั้งอำเภอโนนสูง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 7 บ้านโนนเมือง ตำบลเมืองปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา สันนิษฐานว่า กู่บ้านปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในศิลปะแบบเกาะแกร์ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ราวพุทธศตวรรษที่ 15 เพื่อเป็นศาสนสถานในคติศาสนาฮินดู ประกอบไปด้วยปราสาท 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันตามแนวทิศเหนือ-ใต้ มีวิหาร หรือบรรณาลัย อยู่ด้านหน้าปราสาทด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ก่อด้วยหินศิลาแลง มีอาคารแผนผังรูปกากบาท อยู่ด้านหน้าปราสาททางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาคารอิฐผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีบันไดทางขึ้น แนวทางเดินหรือวิหารโถง เป็นอาคารโปร่งพื้นปูด้วยอิฐมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีคูน้ำหลังเหลืออยู่ทางด้านทิศใต้ มีโคปุระหรือทางเข้าทางเดียวทางทิศตะวันออกสมัยที่สองศิลปะแบบนครวัดสมัยที่สาม ศิลปะแบบบายน ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ศาสนสถานแห่งนี้ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานในคติพุทธศาสนานิกายมหายาน อายุสมัย เมื่อพิจารณาจากแผนผังของอาคารแล้วสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในสมัยขอมศิลปะแบบเกาะแกร์ กลางพุทธศตวรรษที่ 15 ใช้เป็นเทวสถานประจำชุมชน (ศรุก) ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู

 

๑. สภาพปัจจุบัน

          โบราณสถานกู่บ้านปราสาทตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ ๑๑ บ้านโนนพัฒนา ตำบลเมืองปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เป็นปราสาทในศิลปะเขมรที่มีการขุดแต่งทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ บูรณะตัวปราสาทเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑โดยสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา กรมศิลปากร สภาพโดยทั่วไปไม่สมบูรณ์ส่วนใหญ่เหลือแต่เพียงฐานอาคาร เป็นปราสาทที่ก่อด้วยศิลาแลงและศิลาทรายประกอบด้วยปราสาทประธานสามหลังบนฐานไพทีเดียวกันวางตัวในแนวเหนือ- ใต้ ปราสาทฝั่งทิศใต้พบทับหลังที่แกะสลักไม่เสร็จบนขอบประตู บรรณาลัย๑ หลัง อาคารแผนผังรูปกากบาท๑ หลังอาคารอิฐ ๑ หลังชาลาดำเนินเชื่อมระหว่างโคปุระและปราสาทประธาน ๑ แห่ง โคปุระ๑ แห่ง กำแพงแก้วล้อมรอบตัวปราสาท บริเวณภายนอกกำแพงแก้วทางด้านทิศตะวันออกมีกองอิฐชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เหลือจากการบูรณะ ส่วนด้านทิศใต้พบบารายแท่นประดิษฐานรูปเคารพ ทับหลังที่สลักยังไม่แล้วเสร็จ และเศษหินชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เหลือจากการบูรณะ

          ปัจจุบันโบราณสถานกู่บ้านปราสาท เป็นสถานที่สำคัญของหมู่บ้านโนนพัฒนาในเรื่องของความเชื่อ เนื่องจากทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือภายนอกโคปุระมีการจัดตั้งศาลตาปู่ ซึ่งคนในหมู่บ้านจะจัดงานเลี้ยงศาลตาปู่บริเวณกู่บ้านปราสาทในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี และกู่บ้านปราสาทยังเป็นสถานที่สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบศิลปะ สถาปัตยกรรมที่สำคัญนอกจากนี้ยังถือว่ากู่บ้านปราสาทเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

๒. การเปลี่ยนแปลง

          กู่บ้านปราสาทก่อนการขุดแต่งและบูรณะมีสภาพเป็นเนินดินสูงมีอิฐโผล่พ้นเนินดิน และกระจายทั่วทั้งบริเวณเนินดิน ต่อมาทางสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา กรมศิลปากร ได้ดำเนินการสำรวจและดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานกู่บ้านปราสาท โดยได้ดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และดำเนินการบูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ด้วยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) จากการขุดแต่งและการบูรณะกู่บ้านปราสาท พบว่า มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ มีปราสาทสามหลังอยู่บนฐานไพทีเดียวกันในแนวเหนือ –ใต้ปราสาทฝั่งทิศใต้พบทับหลังที่สลักยังไม่แล้วเสร็จบนขอบประตู บรรณาลัย๑ หลังอาคารแผนผังรูปกากบาท๑ หลัง อาคารอิฐ ๑ หลังชาลาดำเนินเชื่อมระหว่างโคปุระและปราสาทประธาน ๑ แห่งโคปุระ๑ แห่ง มีแนวศิลาแลงวางเรียงเป็นแนวกำแพงแก้วล้อมรอบปราสาท แต่ขาดหายเป็นช่วง ๆ ในปัจจุบันกู่บ้านปราสาทมีความสำคัญ คือ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมา

๓. ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

          กู่บ้านปราสาทบ้านโนนพัฒนา ตำบลเมืองปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังนี้

            ๑) กู่บ้านปราสาทมีการขุดแต่งทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และได้ดำเนินการบูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๕๑โดยสำนักศิลปากรที่ ๑๒นครราชสีมา กรมศิลปากร เพื่อศึกษาถึงลักษณะของแผนผัง ประเภทของปราสาท รูปแบบของศิลปะ และลักษณะของตัวปราสาท

            ๒) กู่บ้านปราสาทเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งศึกษาทางศิลปะขอมร่วมสมัยของจังหวัดนครราชสีมา จึงทำให้ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี

            ๓) โบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่งมีจำนวนมาก ได้แก่ ฐานโยนิ แท่นวางพระพุทธรูป ทับหลังที่แกะสลักไม่เสร็จ ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ว่าอยู่ส่วนใดของตัวปราสาท จึงมีการแยกมากองบริเวณทางด้านทิศใต้ภายนอกกำแพงแก้ว โบราณวัตถุที่ถูกเคลื่อนย้าย ได้แก่ บราลี เหล็กรูปตัวไอเทวรูปพระวิษณุประติมากรรมรูปเทวบุรุษ ประติมากรรมรูปเทวสตรี ทวารบาล ประติมากรรมพระรัตนตรัยมหายาน เป็นต้น โดยนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ส่วนเศียรทวารบาล นำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น

 

บทสรุป

          กู่บ้านปราสาท เป็นโบราณสถานที่เป็นศาสนสถาน ตามแบบจำลองของคติจักรวาล มีการสร้างครั้งแรกตามศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์-แปรรูป ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖    ซึ่งปรากฏหลักฐาน คือ ทับหลังที่ยังแกะไม่เสร็จที่คล้ายกันกับปราสาทเมืองแขก ต่อมาในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ได้มีการเข้ามาของศิลปะเขมรแบบนครวัด ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ มีการเปลี่ยนเพื่อเป็นศาสนสถานในคติศาสนาฮินดู หลักฐานที่พบ คือ เทวรูปพระวิษณุ ประติมากรรมรูปเทวบุรุษ ประติมากรรมรูปเทวสตรีช่วงสุดท้ายในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ศิลปะเขมรแบบบายนได้เข้ามาศาสนสถานแห่งนี้จึงถูกดัดแปลงเป็นศาสนสถานในคติศาสนาพุทธมหายาน ดังที่พบหลักฐาน คือ ประติมากรรมพระรัตนตรัยมหายาน

          นอกจากนี้ด้านหน้าปราสาทประธานยังมีแนวอิฐก่อปิดทับและพบแนวหินของอาคารโถงยาวจากหน้าบันไดปราสาทไปจนถึงบันไดซุ้มประตูทางเข้า ถูกดัดแปลงให้เป็นอาคารโถง มีร่องรอยการก่ออิฐเตี้ย ๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นอาคารขนาดเล็กที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือแท่นสำหรับบูชาโดยมีหลังคาคลุม และวิหารด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีการดัดแปลงจากศิลาแลงเป็นการก่ออิฐเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นวิหารที่มีการดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ทางศาสนา โดยเปลี่ยนแปลงศิลปะเขมรแบบนครวัดมาเป็นศิลปะเขมรแบบบายน

          ดังนั้น การบูรณะจึงยังคงรูปแบบศิลปะเขมรไว้ทั้ง ๒ สมัย คือ แบบนครวัด และแบบบายนเพื่อเป็นประโยชน์แก่การศึกษาของคนรุ่นหลัง และความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นในเรื่องของวิวัฒนาการของศิลปะ วัฒนธรรมที่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

แก้ไขเมื่อ

2022-08-08

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร