ปราสาทบ้านปราสาท


ละติจูด 15.1952139901 , ลองจิจูด 102.1769209664

พิกัด

ตำบลเมืองปราสาท อำเภออำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา รหัสไปรษณีย์ 30160

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

ปราสาทบ้านปราสาท ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 บ้านโนนพัฒนา ตำบลเมืองปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมาเป็นปราสาทขอมล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า มีโคปุระหรือซุ้มประตูที่สร้างด้วยศิลาแลงมีหินทรายแดงเป็นโครงตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ภายในปราสาทมีองค์ปรางค์ประธานที่พังทลายลงมาหมดแล้วเหลือแค่ฐาน ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีบรรณาลัย รูสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันตก นอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กรุด้วยศิลาแลง อายุสมัย เมื่อพิจารณาจากแผนผังของอาคารแล้วสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในศิลปะขอมยุคแบบบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 18 และเป็นอโรคยศาลาสถานพยาบาลสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

หมายเหตุ: ปัจจุบันเปลี่ยนจากชื่อตำบลจันอัด เป็น ตำบลเมืองปราสาท

สภาพปัจจุบัน

          ปราสาทบ้านปราสาท ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ บ้านปราสาท ตำบลเมืองปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมาเป็นศาสนสถานในคติพุทธศาสนายมหายาน ประเภทอโรคยาศาล ปราสาทมีสภาพไม่สมบูรณ์ตัวปราสาทประกอบด้วย ปราสาทประธานเหลือเพียงฐาน ๑ หลัง สร้างด้วยศิลาแลง ชาลาดำเนิน ๑ แห่ง สร้างด้วยศิลาแลง บรรณาลัย ๑ หลัง โคปุระ ๑ หลัง มีซากวัตถุโบราณกองอยู่บริเวณข้าง ๆตัวปราสาท และมีกำแพงแก้วโดยรอบ ตัวปราสาทประธานสร้างด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง ส่วนสถาปัตยกรรมอื่นๆ สร้างด้วยศิลาแลงและหินทรายมีป้ายบอกประวัติความเป็นมาของปราสาทบ้านปราสาทอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

          ปัจจุบันปราสาทบ้านปราสาทมีความสำคัญคือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชน   และบริเวณลานข้างปราสาทมีการตั้งศาลตาปู่ประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่า ตาปู่เจ้าปรางค์ โดยชาวบ้านจะมีการบวงสรวงเป็นประจำทุกปีในทุกเดือนพฤษภาค

การเปลี่ยนแปลง

          ปราสาทบ้านปราสาท แต่เดิมบริเวณโดยรอบมีต้นไม้และป่ารกทึบตัวปราสาทประธานพังทลายเหลือเพียงส่วนฐาน โคปุระ และบรรณาลัยมีสภาพไม่สมบูรณ์ พื้นดินโดยรอบของตัวปราสาทเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน และชาวบ้านมองปราสาทแห่งนี้เป็นเพียงพื้นที่วางกองหิน จึงถูกปล่อยทิ้งร้างเป็นเวลานาน ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๔๘ทางสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา กรมศิลปากร มีการบูรณะซ่อมแซม และอนุรักษ์ตัวปราสาท ทำให้ตัวปราสาทมีสภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ เช่น พระวัชระธร เศียรพระอวโลกิเตศวร สลักจากหินทรายสีขาวชิ้นส่วนพระหัตถ์ถือคัมภีร์ชิ้นส่วนพระหัตถ์ถือดอกบัว และฐานรองน้ำมนต์ ปัจจุบันมีความสำคัญ โดยการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา

ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

            ปราสาทบ้านปราสาท บ้านปราสาท ตำบลเมืองปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมามีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังนี้   

          ๑) ปราสาทบ้านปราสาทเป็นศาสนสถานประเภทอโรคยาศาล ดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีเมื่อปีงบประมาณ ๒๕๔๖ และดำเนินการบูรณะและปรับภูมิทัศน์ เมื่อปีงบประมาณ ๒๕๔๘ เพื่อศึกษาถึงความสำคัญของปราสาท คติความเชื่อ และโบราณวัตถุที่ขุดพบ

๒) โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ พระวัชระธร ชาวบ้านปราสาทได้นำไปจัดเก็บไว้ที่วัดบ้านปราสาท ส่วนโบราณวัตถุอื่นไม่ปรากฏสถานที่จัดเก็บ

๓) ปราสาทบ้านปราสาทปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวศึกษาประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากเป็นโบราณสถานในพุทธศาสนาคติความเชื่อแบบมหายาน ประเภท อโรคยาศาลา ๑ ใน ๑๐๒ แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้างขึ้น

บทสรุป

          ปราสาทบ้านปราสาท เป็นศาสนสถานประจำโรงพยาบาลที่เรียกว่า “อโรคยาศาล” ในคติพุทธศาสนามหายาน สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรเขมร ประกอบด้วยปราสาทประธานทรงสี่เหลี่ยม ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกมีชาลาดำเนินรูปกากบาท มีวิหารตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน โคปุระทางเข้าด้านตะวันออกของปราสาทประธานมีกำแพงแก้วล้อมรอบ นอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นบารายสร้างด้วยศิลาแลง ก้นสระมีแท่นน้ำมนต์เจาะรูตรงกลางให้น้ำใต้ดินไหลออกมา โบราณวัตถุที่ค้นพบได้แก่ ชิ้นส่วนพระเศียร พระหัตถ์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นรูปเคารพในพุทธศาสนาคติความเชื่อมหายาน ศิลปะเขมรแบบบายนพร้อมทั้งชิ้นส่วนของประติมากรรมรูปเคารพ เช่น พระหัตถ์ถือดอกบัว พระหัตถ์ถือคัมภีร์ และพระบาทประติมากรรมรูปเคารพยืนบนแท่น ทั้งหมดสลักจากหินทราย ปัจจุบันปราสาทบ้านปราสาทได้รับการขุดแต่งและบูรณะเป็นอย่างดี จึงเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้และท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังมีการดูแลสภาพแวดล้อมอยู่สม่ำเสมอ

 

แก้ไขเมื่อ

2021-08-31

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร