ปราสาทโนนกู่/ปราสาทหินโนนกู่


ละติจูด 14.9081289631 , ลองจิจูด 101.833731996

พิกัด

ตำบลโคราช อำเภออำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา รหัสไปรษณีย์ 30170

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

ปราสาทโนนกู่เป็นโบราณสถานร้าง มีขนาดเล็ก ก่อด้วยหินทรายและอิฐ (ใช้ก้อนหินทรายก่อส่วนฐาน ส่วนอิฐใช้ก่อสร้างตัวสิ่งก่อสร้างด้านบน) มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทประธานมีอาคารขนาดเล็ก ฐานสูงก่อด้วยหินทราย ตัวอาคารก่อด่วยอิฐ พื้นภายในอาคารเป็นอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นไปที่ด้านหน้าและหลัง มีกรอบประตูทำจากก้อนหินทรายตั้งอยู่ก่อนเข้าห้องประธาน ภายในห้องประธานหรือห้องครรภคฤหะ (หรือเรือนธาตุ) มีฐานประติมากรรมหินทรายวางอยู่ภายใน ด้านหน้าปราสาทประธานเบื้องซ้าย-ขวา มีอาคารขนาดเล็ก อาจเป็นวิหารหรือบรรณาลัยตั้งอยู่ด้านละ 1 หลัง ส่วนฐานอาคารก่อด้วยหินทราย ตัวอาคารด้วยอิฐ พื้นเป็นอิฐ ตั้งหันหน้าเข้าปราสาทประธานหรือหันไปทางทิศตะวันตก วิหารหรือบรรณาลัยเบื้องขวาหรือด้านใต้มีบันไดขึ้นสู่อาคารที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว ตัวอาคารแบ่งเป็นห้องมุขด้านหน้าและห้องประธาน มีกรอบประตูหินทรายอยู่ที่ช่องประตูด้านหน้าของแต่ละห้อง ส่วนวิหารหรือบรรณาลัยเบื้องซ้ายหรือด้านทิศเหนือ มีบันไดขึ้นสู่อาคารที่ด้านทิศตะวันออกหรือด้านหลัง (?) ตัวอาคารแบ่งเป็นมุขหน้าและห้องประธานเช่นเดียวกัน ภายในห้องประธานมีฐานประติมากรรมหินทรายตั้งอยู่กลางห้อง อาคารทั้ง 3 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ก่อด้วยอิฐ มีโคปุระหรือซุ้มประตูชั้นใน ที่ด้านหน้าและด้านหลัง คือด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ผังเป็นรูปกากบาท ฐานก่อด้วยหินทรายตัวซุ้มก่อด้วยอิฐ ถัดออกไปด้านทิศตะวันออกของซุ้มประตูกำแพงแก้วด้านหน้า ซึ่งอยู่ส่วนหน้าสุดของปราสาทโนนกู่ ปรากฏฐานก่อด้วยหินทรายของสิ่งก่อสร้างลักษณะคล้ายซุ้มประตู ผังรูปกากบาท สันนิษฐานว่าเป็นโคปุระหรือซุ้มประตูชั้นนอก จากประวัติการขุดค้นขุดแต่งของกรมศิลปากรพบโบราณวัตถุหลายชิ้น รวมทั้งโคนนทิหมอบที่ลานระหว่างวิหารหรือบรรณาลัยทั้งสองหลัง ทำให้สันนิษฐานได้ว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูไศวนิกาย และจากรูปแบบสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุต่าง ๆ นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าปราสาทโนนกู่สร้างขึ้นตามแบบศิลปะเกาะแกร์ในศิลปะเขมรเช่นเดียวกับปราสาทเมืองแขก มีอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 หรือราว พ.ศ. 1440-1490

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

หมายเหตุ: ชื่อหมู่บ้านเปลี่ยนจากบ้านกุดหิน เป็น บ้านกกกอก

สภาพปัจจุบัน

ปราสาทโนนกู่แห่งนี้ในปัจจุบันนั้นเป็นโบราณสถานที่มีขนาดเล็ก อยู่ในสภาพพังทลาย แต่มีการบูรณะให้มีสภาพคงทน ด้านหน้าทางทิศตะวันออกมีร่องรอยของฐานซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระชั้นนอก ส่วนซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระชั้นในเชื่อมกำแพงแก้วที่ก่อเรียงด้วยอิฐเข้าหากัน ปราสาทประธานมีลักษณะสูงชะลูด ก่อสร้างด้วยหินทรายขนาดใหญ่

การเปลี่ยนแปลง

๑) มีการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุหลายชิ้น ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

๒) ปราสาทโนนกู่ได้รับการบูรณะวิธีการอนัสติโรซิส ให้อยู่ในสภาพที่เกือบจะสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีการปรับสภาพพื้นที่โดยรอบให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

          ๑) กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะให้โบราณสถานมีลักษณะที่เกือบจะสมบูรณ์ดังเดิม

          ๒) กรมศิลปากรมีการสำรวจขุดค้นและขุดแต่งและนำโบราณวัตถุมากมายที่สำคัญแล้วนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

          ๓) มีการปรับสภาพพื้นที่โดยรอบให้เหมาะแก่การศึกษาเรียนรู้และการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

บทสรุป

          ปราสาทโนนกู่ แห่งนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อการศึกษาหาข้อมูลจากการศึกษาหลายๆแขนงและยังเป็นโบราณสถานที่ศิลปะงดงามตามข้อสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูไศวนิกาย และจากรูปแบบสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุต่างๆ นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าปราสาทโนนกู่สร้างขึ้นตามแบบศิลปะเกาะแกร์ในศิลปะเขมรเช่นเดียวกับปราสาทเมืองแขก มีอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ หรือราว พ.ศ.๑๔๔๐-๑๔๙๐

          กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะและนำโบราณวัตถุที่สำคัญแล้วนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย อีกทั้งยังมีการปรับสภาพพื้นที่โดยรอบให้เหมาะแก่การศึกษาเรียนรู้และการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

แก้ไขเมื่อ

2021-08-31

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร