แหล่งโบราณคดีบ้านสงเปือย (ดงเมืองเตย)


ละติจูด 15.644884483 , ลองจิจูด 104.254178736

พิกัด

ตำบลสงเปือย อำเภออำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร รหัสไปรษณีย์ 35110

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

แหล่งโบราณคดีบ้านสงเปือย (ดงเมืองเตย) อยู่ที่บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว  ดงเมืองเตย เป็นชุมชนโบราณในลุ่มแม่น้ำชีตอนปลาย  ลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างรี  มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ  ความกว้างตามแนวแกนทิศตะวันตกเฉียงเหนือ - ทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๕๔๐ เมตร  ความยาวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ - ทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๖๕๐ เมตร  คู้กว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร ปัจจุบันดงเมืองเตยเป็นป่าโปร่ง  มีถนนตัดผ่ากลางตามแนวเหนือ - ใต้  มีซากโบราณสถานก่ออิฐสมัยเจนละ  มีเศษภาชนะดินเผาสมัยทวาราวดีกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก  ดงเมืองเตย เป็นชุมชนโบราณที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  เป็นชุมชนเกษตรกรรมใช้ขวานหินขัด  รู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผาและถลุงโลหะ  เพราะพบเศษภาชนะดินเผาแบบทุ่งกุลาร้องไห้ และตะกรันเหล็ก  มีประเพณีการฝังศพแบบฝังครั้งที่สอง ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในบริเวณ แม่น้ำมูล - ชี  มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว  นับถือทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ  สันนิษฐานว่าเป็นหนึ่งในชุมชนที่เรียกว่าเจนละ  มีศาสนสถานเป็นอาคารสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐ  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ส่วนยอดสันนิษฐานว่าเป็นมณฑปซ้อนขึ้นไป  เนื่องจากพบหินสลักรูปจำลองอาคารลักษณะเป็นกุฑุวงโค้งรูปเกือกม้า  ที่ฐานอาคารสลักลวดลายกลีบดอกไม้  มีอัฒจรรย์ที่ฐานบันไดทางขึ้นด้านหน้า  เป็นอาคารสถาปัตยกรรมยุคต้น ๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียแบบคุปตะ และหลังคุปตะ  มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๒ แหล่งโบราณสถานบ้านสงเปือย อยู่ห่างจากตัวเมืองยโสธร 25 กิโลเมตร ตามเส้นทางยโสธร-คำเขื่อนแก้ว-อุบลราชธานี (ทางหลวงหมายเลข 23) จะมีทางแยกขวาเข้าไปอีกราว 10 กิโลเมตร สิ่งสำคัญและปูชนียสถานที่น่าสนใจมีดังนี้ 1. พระพุทธรูปใหญ่ เป็นพระประธานในอุโบสถวัดสงเปือย มีขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 8 เมตร เป็นพระพุทธรูปปั้นด้วยอิฐ ปูน มีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี 2. เจดีย์บรรจุดินจากสังเวชนียสถาน เดิมเป็นเจดีย์เก่า มีอายุมากกว่า 200 ปี ในปี พ.ศ. 2498 ได้ต่อเติมขึ้นใหม่ โดยเงินทุนของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พระปลัดเขียน อัมมาพันธ์ นำดินจากสังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ ที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน จากประเทศอินเดียมาบรรจุไว้ 3. รอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างโดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิง ในวันสงกรานต์ของทุกปีมีประชาชนในท้องถิ่นมาสรงน้ำเป็นจำนวนมาก 4. พิพิธภัณฑ์ของโบราณ เป็นสถานที่รวบรวมของโบราณซึ่งเก็บและขุดได้จากดงเมืองเตยเมืองเก่าสมัยขอม ในพิพิธภัณฑ์นี้มีเตียงบรรทมเจ้าเมือง (เป็นศิลา) และศิลาจารึก สันนิษฐานว่าเป็นอักษรขอมโบราณ 5. ซากเมืองโบราณดงเมืองเตย อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านสงเปือยห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอประมาณ 7 กิโลเมตร ภายในบริเวณดงเมืองเตยมีซากวัด สระน้ำ กำแพงเมือง ซึ่งปัจจุบันได้ชำรุดลงไปมากแล้ว แต่ยังมีเค้าโครงเดิมพอจะสันนิษฐานได้ว่าเดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณสมัยเจนละ-ทวารวดี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 จากข้อความที่พบในจารึกของกษัตริย์เจนละ แสดงว่าโบราณสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ที่นับถือพระศิวะ ในช่วงเวลานั้น บริเวณดงเมืองเตย รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงเคยเป็นเมืองที่มีชื่อว่า “ศังขะปุระ” มีความสัมพันธ์ในฐานะเมืองในปกครองของอาณาจักรเจนละ ซึ่งก็คืออาณาจักรขอมในสมัยต่อมาที่แผ่อำนาจเข้ามาในเขตลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ในช่วงเวลาดังกล่าว

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

1. ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2479

2. ปัจจุบันดงเมืองเตยมีสภาพเป็นป่า สวน และสำนักสงฆ์ มีร่องรอยคูเมืองที่ถูกขุดลอกเป็นสระน้ำ  ได้พบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาหลายยุค  รวมทั้งเศษตะกรันโลหะเนื่องในอารยธรรมยุคสำริด  นอกจากนั้นยังได้พบประติมากรรมรูปสิงห์หินแกะสลักตามรูปแบบศิลปะลพบุรี

3. จารึกดงเมืองเตย เป็นจารึกที่วงกบประตู  แสดงหลักฐานเกี่ยวกับการนับถือศาสนาฮินดู  โดยจารึกบนแผ่นหินทรายจำนวน ๕ แผ่น ๆ ละ ๑ ด้าน ๆ ละ ๔ บรรทัด  เป็นตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต  อายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ข้อความในจารึกกล่าวถึง พระศรีมานประวรเสนะ  ผู้เป็นใหญ่ในเมืองสังวรปุระ และบุตรีคนที่ ๑๒ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ ได้สร้างลิงคโลกที่เคารพบูชาไว้  นอนจากนี้ยังพบศิลาจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤต  จับใจความไม่ได้  มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘

4. ถูกขุดค้นเนื่องจากความต้องการที่จะปรับพื้นที่

แก้ไขเมื่อ

2018-11-20

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร