วัดโพธาราม


ละติจูด 16.1166637498 , ลองจิจูด 103.659129031

พิกัด

ตำบลปาฝา อำเภออำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด รหัสไปรษณีย์ 45000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

ประวัติวัดโพธาราม (บ้านปาฝา)

วัดโพธาราม (บ้านปาฝา) เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๘ บ้านปาฝา ตำบลปาฝา อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด มีเนื้อที่ ๙ ไร่ - งาน - ตารางวา เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณ ตามข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (ครั้งล่าสุด) พ.ศ. ๒๔๗๓ สันนิษฐานว่า วัดโพธารามแห่งนี้ ไม่ใช่วัดแห่งแรกของบ้านปาฝา โดยที่ตั้งวัดแห่งแรกของบ้านปาฝานั้น อาจจะอยู่บริเวณข้างหนองสิม ที่ตั้งของวัดเก่าบุบผาราม อันเป็นวัดร้างและภายหลังได้ยกขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษา ในปีพ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งด้านทิศเหนือของวัดเก่าบุบผารามนั้น เป็นที่ตั้งของวัดเก่าบ้านยางใหญ่ หรืออาจจะเป็นวัดเดียวกัน ซึ่งชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านมีความเชื่อว่า เป็นลักษณะที่ไม่เหมาะสม มีความคาบเกี่ยวกัน จึงเกิดการย้ายวัดหรือแยกวัดให้ห่างกันมากขึ้น บ้านยางใหญ่ย้ายวัดไปที่ด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน ห่างจากที่ตั้งเดิม ประมาณ ๗๐๐ เมตร ตั้งเป็นวัดชัยศรีมงคลวนาราม ส่วนบ้านปาฝาก็ย้ายวัดออกมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างจากที่ตั้งเดิม ประมาณ ๕๐๐ เมตร ตั้งเป็นวัดโพธาราม (บ้านปาฝา) เพราะเหตุที่บ้านปาฝาเป็นชุมชนใหญ่มาแต่ครั้งโบราณ วัดจึงเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน โดยเป็นสถานที่ทำบุญและเป็นที่อยู่จำพรรษาของพระภิกษุสามเณร เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ปรากฏศาสนวัตถุสำคัญหลายอย่างที่บ่งบอกถึงความสำคัญของวัดแห่งนี้ เช่น ต้นโพใหญ่ในวัดพระประธานในอาราม(วิหาร) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะช่างพื้นบ้านอีสาน ปางมารวิชัย พระพุทธรูปไม้แกะสลักโบราณ คัมภีร์ใบลาน ตู้พระธรรม และหีบพระธรรมเป็นต้น ปัจจุบันวัดโพธารามมีถาวรวัตถุ ดังต่อไปนี้

๑. #อุโบสถ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ แต่จากทะเบียนพระภิกษุวัดบ้านปาฝา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ ก็ระบุว่า มีการอุปสมบทที่วัดบ้านปาฝาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ หรืออาจจะมีมาตั้งแต่สมัยเริ่มตั้งวัด เพียงแต่เขตอุโบสถเดิมนั้นอาจจะเล็กไป ในสมัยพระครูหนู ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส จึงได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ รูปทรงอุโบสถในสมัยนั้น ก่ออิฐถือปูน มีชานรอบหลังคาทรงจั่วมุงด้วยดินขอ (ภายหลังเปลี่ยนเป็นมุงสังกะสีอย่างหนา) ทำเป็นตะเฆ่โดยรอบ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ชาวบ้านจึงได้พร้อมกันรื้ออุโบสถหลังเดิมลง และก่อสร้างใหม่ให้เป็นทรงไทยประยุกต์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยมีเขตวิสุงคามสีมาเท่าเดิม พระประธานในอุโบสถหลังเดิมนั้น เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง ปางมารวิชัย หน้าตักประมาณ ๓๐ นิ้ว ศิลปะรัตนโกสินทร์ จีวรลายดอก ที่ฐานมีหลายชั้นปรากฏลวดลายปีนักษัตรต่างๆ และแต่ละชั้นจะมีรูปเหมือนพระสาวกองค์เล็กๆนั่งประนมมืออยู่โดยรอบ ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ก็ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ สำหรับพระประธานองค์ปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปทองเหลือง ปางมารวิชัย มีซุ้มเรือนแก้ว (พระพุทธชินราช) หน้าตักประมาณ ๑.๕ เมตร ใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรมตามพระวินัย

๒. อาราม (วิหาร) เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีชานรอบ เช่นเดียวกับอุโบสถ สันนิษฐานว่า อาจจะสร้างพร้อมกับอุโบสถตั้งแต่แรกตั้งวัด มีพระประธานประจำอาราม เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง โดยช่างพื้นบ้าน หน้าตักประมาณ ๒ เมตร จากคำบอกเล่าของคนแก่ในหมู่บ้าน ทราบว่า เดิมนั้นพระประธานองค์นี้จะมีความสูงกว่าปัจจุบันหน่อยหนึ่ง (คล้ายพระประธานในพระอุโบสถวัดกลางมิ่งเมือง) แต่เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พ่อใหญ่ฮวด แน่นอุดร ซึ่งเป็นช่างฝีมือในสมัยนั้น เห็นว่าควรปรับแต่งพระประธานใหม่ จึงได้ปรับแต่งจนปรากฏอย่างที่เห็นในปัจจุบัน และอารามหลังนี้ก็ปรากฏการบูรณะสองครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ (หลังบูรณะครั้งนี้ อารามก็เป็นดังในภาพประกอบ) และครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ จึงมีลักษณะอย่างในปัจจุบัน ใช้เป็นที่ทำวัตรเช้า - เย็น ของพระภิกษุสามเณร และประกอบพิธีทางศาสนา

๓. ต้นโพใหญ่ อันเป็นที่มาของนามวัดโพธาราม ตั้งอยู่ในทางทิศตะวันตกของวัด เดิมมีเพียงต้นโพ เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๓๘ มีการล้อมโดยรอบบริเวณโคนต้นโพและสร้างรูปปั้นพุทธประวัติไว้ โดยการนำของหลวงพ่อใหญ่คำภา ไชยฮะนิจและพ่อใหญ่ไสว ทูลบุดดา รับเป็นเจ้าภาพ ฝีมือช่างชาวบ้านเกล็ดลิ่น ปัจจุบันรูปปั้นเหล่านั้นทรุดโทรมไปตามกาลเวลา มีรูปปั้นบางส่วนปั้นเพิ่มเติม โดยช่างสุรัตน์ แฝงนวลจันทร์ ชาวบ้านปาฝา

๔. ศาลาการเปรียญ แต่เดิมจะมีศาลา ๒ หลัง เป็นศาลาการเปรียญ ๑ หลัง และศาลาสำหรับทำการเรียนของโรงเรียน ๑ หลัง ภายหลังรื้อศาลาสำหรับทำการเรียนออก และสร้างเป็นศาลาการเปรียญไม้โดยการนำของพระครูโสภิตศีลาภรณ์ เจ้าอาวาส แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๐๑ และทำการฉลองศาลาการเปรียญในปี พ.ศ.๒๕๐๓ ศาลาหลังนี้ใช้การเรื่อยมาจนถึงวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ก็ได้ย้ายไปด้านทิศตะวันออก ห่างจากที่ตั้งเดิมประมาณ ๑๐๐ เมตร สิ้นงบประมาณในการย้าย ๕๖,๐๐๐ บาท ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๒ พระอธิการประไพร ติสาโร เจ้าอาวาส และชาวบ้านปาฝาก็ได้เริ่มสร้างศาลาการเปรียญแบบก่ออิฐถือปูนหลังปัจจุบัน ด้านทิศใต้ของวัด ใช้เวลาสร้าง ๑๐ ปี จึงแล้วเสร็จ ทำการฉลองศาลาในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ใช้การมาจนถึงปัจจุบัน

๕. หอระฆัง ก่ออิฐถือปูน ฝีมือช่างชาวญวน สร้างประมาณ พ.ศ.๒๔๙๖ เดิมตั้งอยู่ที่หน้ากุฏิใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ก็ได้ทำการย้ายไปตั้งที่ข้างกำแพงแก้ว ด้านหน้าอุโบสถ สิ้นงบประมาณในการย้าย ๑๕,๐๐๐ บาท

ลำดับเจ้าอาวาสวัดโพธาราม

โดยที่วัดโพธาราม บ้านปาฝา มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ทำให้การสืบค้นลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่ต้นเป็นไปได้ยาก ปัจจุบันมีลำดับเจ้าอาวาสที่พอสืบค้นได้ จำนวน ๑๕ รูป ดังต่อไปนี้

๑. พระอธิการจันดา ไม่ทราบฉายา พบหลักฐานในทะเบียนพระภิกษุวัดบ้านปาฝาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ (ไม่ปรากฏว่ามรณภาพ หรือลาสิกขา)

๒. พระอธิการสอน ไม่ทราบฉายา พบหลักฐานในทะเบียนพระภิกษุวัดบ้านปาฝาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๕ (ไม่ปรากฏว่ามรณภาพ หรือลาสิกขา)

๓. พระอธิการบุญมี ไม่ทราบฉายา พบหลักฐานในทะเบียนพระภิกษุวัดบ้านปาฝาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๐ (ไม่ปรากฏว่ามรณภาพ หรือลาสิกขา)

๔. พระอธิการเหลา ไม่ทราบฉายา พบหลักฐานในทะเบียนพระภิกษุวัดบ้านปาฝาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๒ (ไม่ปรากฏว่ามรณภาพ หรือลาสิกขา)

๕. พระอธิการชิน (โหยก) ไม่ทราบฉายา พบหลักฐานในทะเบียนพระภิกษุวัดบ้านปาฝาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ (ภายหลังลาสิกขา มีชื่อในทะเบียนบ้านว่า นายชิน พันธิทักษ์ ชาวบ้านเรียก พ่อใหญ่จารย์ครูโหยก เป็นบิดาของ ครูทองอินทร์ พันธิทักษ์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลวัดบ้านปาฝา)

๖. พระอธิการโหง หรือพระอธิการโอ้ม (ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาว่า เป็นครูสอนโรงเรียนวัดบ้านปาฝา พ.ศ.๒๔๕๗ ซึ่งเป็นปีที่ตั้งโรงเรียน จึงสันนิษฐานว่าท่านจะเป็นเจ้าอาวาสด้วย แต่หลักฐานในทะเบียนพระภิกษุวัดบ้านปาฝา พ.ศ. ๒๔๕๗ ระบุนามว่า โอ้ม)

๗. พระอธิการเหลา ไม่ทราบฉายา พบหลักฐานในทะเบียนพระภิกษุวัดบ้านปาฝาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๒ (ไม่ปรากฏว่ามรณภาพ หรือลาสิกขา)

๘. พระครูหนู นีลวณฺโณ/พันธิทักษ์ พ.ศ. ๒๔๖๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕ (มรณภาพ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕)

๙. พระครูโสภิตศีลาภรณ์ (เภ้า โสภิโต/สุวรรณศรี) พ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๕๑๐ (มรณภาพ)

๑๐. พระอธิการพันธ์ กิตฺติวณฺโณ/แน่นอุดร พ.ศ.๒๕๑๒ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๙

๑๑. พระอธิการเคน (เจอ) ชาคโร พ.ศ.๒๕๒๐ ถึง พ.ศ.๒๕๒๙ (มรณภาพ)

๑๒. พระอธิการจำลอง ปภสฺสโร/แน่นอุดร พ.ศ.๒๕๒๙ ถึง พ.ศ.๒๕๓๒(ลาสิกขา)

๑๓. พระอธิการประไพร ติสาโร/สุวรรณเด่นโลก (นามสกุลเดิม แน่นอุดร) พ.ศ. ๒๕๓๒ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๕ (มรณภาพ)

๑๔. พระครูบวรโพธารักษ์ (คำซาว วรปญฺโญ/ระศรีจันทร์) พ.ศ. ๒๕๔๕ ถึงปัจจุบัน
 

ขอขอบพระคุณผู้บอกเล่าข้อมูล คือ

พระครูบวรโพธารักษ์ เจ้าอาวาสวัดโพธาราม

พ่อใหญ่ยนต์ แน่นอุดร

พ่อใหญ่สีจันทร์ แน่นอุดร

พ่อใหญ่เพียง แน่นอุดร

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2021-09-11

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร