ปราสาทบ้านขุมดิน


ละติจูด 15.2161221 , ลองจิจูด 103.9183905

พิกัด

บ้านขุมดิน ตําบลหนองหลวง อําเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ ตำบลหนองหลวง อำเภออำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ รหัสไปรษณีย์ 32130

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน สถาน หลักเมือง

ความสำคัญ/ลักษณะ

เส้นทางคมนาคม

          ปราสาทบ้านขุมดิน ตั้งอยู่บ้านขุมดิน ตําบลหนองหลวง อําเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ การเดินทางไปยังปราสาทขุมดิน เริ่มต้นเดินทางด้วยถนน สุรินทร์ - ศีขรภูมิ ทางหลวงหมายเลข 226 ทิศตะวันออก ระยะทาง 38 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้าย ทางทิศเหนือ ตามถนนหมายเลข 2079 ด้วยระยะทาง 30 กิโลเมตร เลี้ยวขวามุ่งหน้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทางหลวงชนบท สร.4033 ด้วยระยะทาง 15 กิโลเมตร จะถึงบ้านขุมดิน รวมระยะทางทั้งสิ้น 83 กิโลเมตร โดยที่ตั้งปราสาทขุมดิน ตั้งอยู่บริเวณภายในวัดปราสาทขุมดิน

ความสำคัญ/ลักษณะ

          ปราสาทขุมดิน ขึ้นทะเบียนและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนที่ 33 ง. เมื่อ9 เมษายน 2545 ปราสาทขุมดินตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดปราสาทขุมดิน บ้านขุมดิน ตําบลหนองหลวง อําเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ประมาณ 2 งาน คำว่า " ขุมดิน " หมายถึง " หลุมดิน " เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน " บ้านขุมดิน " จากหลักฐานฝ่ายวิชาการสำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา ได้ออกสำรวจโบราณสถานโบราณวัตถุ ปี พ.ศ.  2540 ได้กำหนดอายุลวดลายบนทับหลังหินทรายแสดงภาพเทวดาประทับนั่งอยู่ภายในซุ้มพาพนะหน้ากาลที่คายท่อนมาลัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นเทวสถานศิลปะเขมรสมัยปาปวน ปัจจุบันเหลือแต่ซากปรักหักพังปรากฏให้เห็นเป็นปราสาทก่อด้วยอิฐ 4 หลัง ปราสาทด้านทิศตะวันตกมีโคปุระหรือซุ้มประตูมีมุขยื่นออกไปทางด้านหน้า เชื่อมต่อกับกำแพงศิลาแลง ซึ่งล้อมอยู่ทั้ง 4 ด้าน ตัวปราสาทด้านทิศใต้ อยู่ในสภาพพังทลาย ส่วนปราสาทที่อยู่ด้านทิศตะวันออกมีกรอบประตูตั้งอยู่ส่วนด้านทิศเหนือพังทลายหมดแล้ว มีแท่นศิลาแลงและหินทรายขนาดใหญ่วางอยู่บนพื้นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังพบทับหลังขนาด กว้าง 0.9 x ยาว 2.1 x หนา 0.44 เมตร วางตั้งอยู่บนพื้นและยอดมุขบางส่วนมีหลงเหลืออยู่บ้าง มีคูน้ำกว้างประมาณ 6 เมตรล้อมรอบปราสาทเป็นรูปตัวยู ( U )

          มีเรื่องเล่าสืบทอดต่อๆกันว่า เมื่อก่อนไม่มีผู้ใดกล้าเข้าไปบริเวณปราสาท เนื่องจากเป็นป่าทึบ มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นรกหนา บางครั้งตกเย็นใกล้ค่ำ จะมีเสียงฆ้องโหม่งดังมาจากบริเวณปราสาทแห่งนี้ และผู้ที่ใช้เส้นทางระหว่างหมู่บ้าน มักจะพบเห็นเหตุการณ์แปลกๆ และมาถึงบ้านก็เจ็บไข้ทุกราย บางรายแก้ด้วยการบวงสรวงเซ่นไหว้ตามความเชื่อ เมื่อเวลาผ่านไปชุมชนเกิดการขยายตัวมากขึ้น การเดินทางคมนาคมสะดวกขึ้น นักล่าสมบัติโบราณเห็นว่าปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่ในป่าไม่มีคนเฝ้าดูแลจึงพากันเข้ามาขุดค้นหาและขนเอาของมีค่าต่างๆไปแทบหมดสิ้น

          ปัจจุบันมีพระพุทธรูปองค์เล็กๆ หลงเหลืออยู่หลายองค์ ชาวบ้านเรียกนามพระพุทธรูปทุกองค์ว่า “หลวงพ่อธาตุ” อยู่ในความดูแลของเจ้าอาวาสวัดปราสาทขุมดิน ซึ่งวัดปราสาทขุมดินเป็นวัดสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อดูแลรักษาและเพื่อปรับปรุงปราสาทแห่งนี้ ปี พ.ศ. 2555 ได้สร้างอนุสรณ์ปูชนียสถาน “หลวงพ่อธาตุ” ขนาดใหญ่ขึ้นและปรับปรุงบริบทที่จำเป็นบางส่วน ชาวบ้านสันนิษฐานว่าเป็นแหล่งอารยธรรม หรืออาณาจักรที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ทั้งจากเหตุการณ์ความเชื่อเล่าสืบทอดต่อกันมา จึงถือได้ว่าปราสาทขุมดินเป็นเทวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของท้องถิ่น

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

ปราสาทขุมดิน มีคูน้ำกว้างประมาณ 6 เมตร ล้อมรอบปราสาทเป็นรูปตัวยู ( U ) เมื่อกักเก็บน้ำได้เต็มแล้วจะมีช่องระบายน้ำออกไปทางด้านทิศเหนือของปราสาท ซึ่งด้านทิศเหนือนั้นเป็นเป็นที่ทำการเกษตร ไร่นาของประชนชน และบนคันนั้นมีต้นไม้ใหญ่เกิดขึ้นสลับสูงต่ำตามแนวคูน้ำ ช่วยทำให้เกิดร่มเงาแก่ผู้มาเยี่ยมชม และบริเวณพื้นที่โบราณสถานมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ และดูแลรักษาความสะอาดของพื้นที่เป็นอย่างดี

แก้ไขเมื่อ

2023-09-21

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร