ละติจูด 14.5468515613 , ลองจิจูด 103.876522778
พิกัด
บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ตำบลดม อำเภออำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ รหัสไปรษณีย์ 32150
ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ
ย่านชุมชนเก่า
ความสำคัญ/ลักษณะ
เส้นทางคมนาคม
จากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สุรินทร์ - สังขะ) ระยะทาง 49 กิโลเมตร จากแยกอำเภอสังขะ เข้าทางหลวง หมายเลข 2077 (สังขะ - บัวเชด) ตรงต่อไปอีก 7 กิโลเมตร จนถึงแยกเลี้ยวขวาเข้าถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 4013 ตรงไปอีก 4 กิโลเมตร จะถึงชุมชนปราสาทภูมิโปน
ความสำคัญ/ลักษณะ
ชุมชนโบราณบ้านภูมิโปน ตั้งอยู่ที่ บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ (ภูมิโปน แปลว่าที่หลบซ่อนโบราณ โดยคำว่า “ภูมิ” มาจากคำว่า “ปูม” แปลว่า โบราณเก่าแก่หรือแผ่นดิน คำว่า “โปน” หรือ “ปูน” แปลว่า ซ่อน-หลบซ่อนตัว มาจากตำนานท้องถิ่นเกี่ยวกับการทำสงคราม นอกจากนี้ “ปูน” น่าจะมาจากภาษาถิ่นคแมรว่า “ปูตจ” แปลว่า ) ชุมชนโบราณบ้านภูมิโปน เป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ โดยปรากฎศาสนสถานที่สร้างด้วยอิฐ คือปราสาทภูมิโปน ซึ่งมีความเก่าแก่มากที่สุดในประเทศไทย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 ประมาณสมัยอาณาจักรเจนละ ตั้งอยู่กึ่งกลางของเมืองโดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ชุมชนโบราณแห่งนี้จะตั้งอยู่บริเวณเนินสูงทางฝั่งขวาของลำน้ำห้วยเสน ห่างจากทิวเขาพนมดงรักไปทางทิศเหนือไม่ถึง 20 กิโลเมตร ลักษณะกำแพงดินด้านทิศตะวันตกจะคงสภาพเดิมไว้ชัดเจนโดยกำแพงดินจะตีวงโค้งไปทางทิศใต้ และวกมาทางด้านหน้าปราสาททางทิศตะวันออกจรดกับคันขอบดินของสระตา ซึ่งเป็นกลุ่มสระน้ำที่อยู่ทางทิศตะวันออกของปราสาท ชุมชนโบราณแห่งนี้จะมีความเจริญขนาดเป็นนครรัฐเนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่มาก โดยจารึกปราสาทภูมิโปน สร.3 ด้านที่ 2 กล่าวถึง "กฤตชญนคร" ซึ่งคำว่า “ นคร ” (มาจากภาษาคแมรคือ “งกวร” Angkor แปลว่า นคร ) ใช้กับเมืองหลวงเป็นที่ประทับขององค์อธิราชคือกษัตริย์ที่มีอำนาจเหนือกษัตริย์ทั้งปวง เพราะมีการเรียกชื่อเมืองเล็กๆทั่วไปจะใช้คำว่า "ปุระ" หรือ "บุรี" ต่อท้ายชื่อเมือง (ทองเหลือง บุญพร้อม. 2536) นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณนี้จะมีลักษณะเด่นคืออารยธรรมของความฉลาดความสามารถในการจัดการเรื่องแหล่งน้ำผิวดินไว้ใช้บริโภค อุปโภค และการเพาะปลูก เนื่องจากตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นเนินสูงที่สุดมากกว่าชุมชนโบราณแห่งอื่น ๆ ในเมืองสุรินทร์ คือสูงราว 180-200 เมตร (บุญสม สังข์สาย. 2536) จึงปรากฏเทคนิคการขุดสระน้ำหลายขนาดทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ และมีเทคนิคของการสร้างความสวยงามของแผนผังสระน้ำ เช่น สระตามีขนาดใหญ่และมีการขุดสระช้อนสระ คือสระเล็กอยู่กลางสระน้ำใหญ่ เรียกว่า “ซรัฮกนาล” ( ซรัฮกนาล แปลว่าสระกลาง มาจากคำว่า “ซรัฮ” แปลว่าสระน้ำ คำว่า “กนาล” แปลว่า กลาง ) จะเป็นสระน้ำขนาดเล็กช้อนภายในสระตา นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการสร้างความสวยงามให้สระคล้ายอุทยาน ได้แก่ สระปรือ จะเป็นสระน้ำใหญ่มากยาวเกือบ 1 กิโลเมตร กว้างประมาณ 330 เมตรตรงกลางสระมีพื้นที่เป็นป่าใหญ่อยู่กลางสระน้ำเรียกว่า “ปรีกนาล”0 (ภาษาคแมรแปลว่า “ป่ากลาง” คำว่า “ปรี” แปลว่า ป่า) ซึ่งเป็นลักษณะที่ดินที่เป็นป่าอีกแปลงหนึ่งที่มีน้ำล้อมรอบ
นอกจากสระน้ำเหล่านี้แล้วยังมีสระน้ำโบราณขนาดใหญ่ เช่น สระลำเจียกสระตราว ใหญ่กว่าสระตาเป็น 4 เท่า และในพื้นที่ชุมชนโบราณชั้นในจะพบสระน้ำขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นสระส่วนตัวไม่ต่ำกว่า 10 สระ กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ทั่วไป โดยมีขนาดกว้าง ยาวประมาณ 40 เมตร ความสามารถในการเก็บกักน้ำใช้นี้จะพบเพิ่มเติมจากหลักฐานการชุดคูเมืองด้านทิศตะวันตก และทิศตะวันตกเฉียงเหนือของชุมชนโบราณแห่งนี้ จะมีแนวคันดินขนาดใหญ่ทอดตัวยาวเป็นเส้นตรงไปขวางลำห้วยเสน เป็นการบีบลำน้ำเปลี่ยนทิศทางเดินเพื่อให้น้ำไหลเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของชุมชนได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ยังพบว่ามีการสร้างทำนบดินยาวเหยียดขวางทางเดินของน้ำ ซึ่งชาวบ้านเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นคแมรว่า "ทน็อลดัจ" (แปลว่า ถนนขาด “ทน็อล” คือ ถนน “ ดัจ ” แปลว่า ขาด ) (ทองเหลือง บุญพร้อม. 2536) ในส่วนพื้นที่บริเวณที่ติดต่อกับชุมชนอื่นจากบ้านภูมิโปนไปยังบ้านดม จะพบการออกแบบคูน้ำคันดินเพื่อใช้น้ำร่วมกันกับชุมชนใกล้เคียงเช่น สระตลวก สระปรีง สระปรือเล็ก และสระหนองดุม เป็นต้น ชุมชนโบราณแห่งนี้จากภาพถ่ายทางอากาศจะพบว่าผังเมืองด้านตะวันตกจะเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนคือบ้านภูมิโปน ส่วนด้านทิศตะวันออกเป็นกลุ่มสระที่มีการใช้คูน้ำคันดินร่วมกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าในสมัยโบราณคงจะเป็นนครโบราณที่มีความอุดมสมบูรณ์และน่าอยู่อาศัย ซึ่งสระน้ำเหล่านี้ยังคงเป็นแหล่งน้ำที่มีน้ำใช้ตลอดปี นับว่าเป็นความฉลาดด้านอารยธรรมของคนในชุมชนโบราณแห่งนี้ที่คิดระบบชลประทานได้อย่างน่าทึ่งและน่าพิศวงยิ่ง
ความเจริญของชุมชนโบราณบ้านภูมิโปนนี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรเจนละ ซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางบริเวณปราสาทเมืองภู สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเรื่องราวของชุมชนโบราณภูมิโปนที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรโบราณคือตำนานเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับชุมชนโบราณแห่งนี้คือเรื่อง “ เนียงด็อฮโท็ม ” (แปลว่า นางนมใหญ่) ที่มีการทำสงครามกันระหว่างแคว้นก็อาจทำให้สามารถทราบถึงความสำคัญของชุมชนแห่งนี้ได้ตั้งแต่สมัยช่วงต่ออารยธรรมสมัยอาณาจักรฟูนันมาถึงสมัยอาณาจักรเจนละและการแยกอาณาจักรเป็นเจนละบก เจนละน้ำได้พอสมควร
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
ชุมชนโบราณบ้านภูมิโปน มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่ชาวบ้านสามารถใช้อุปโภค บริโภค เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำโบราณเก่าแก่ที่เกิดขึ้นพร้อมปราสาทภูมิโปน มีการบุกรุกทำลายคูน้ำคันดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและเส้นทางคมนาคมของคนในชุมชน คูน้ำคันดินที่ล้อมรอบชุมชนแห่งนี้ และเห็นได้ชัดเจนมาที่สุดจะอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันคูน้ำคันดินส่วนใหญ่ถูกบุกรุกทำเป็นพื้นที่เกษตรของคนในชุมชน เนื่องจากคนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญเรื่องความเป็นอยู่มากกว่าความสำคัญด้านคุณค่าและความเป็นของแท้ดั้งเดิมของพื้นที่โบราณสถาน
แก้ไขเมื่อ
2023-09-21
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | รายละเอียด | งบประมาณ | เอกสาร | สถานะ |
---|
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | งบประมาณ | วันที่รายงาน | เอกสาร |
---|