กำแพงเมืองกาญจนบุรี


ละติจูด 14.0024626138 , ลองจิจูด 99.5526241407

พิกัด

ตำบลบ้านเหนือ อำเภออำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ 71000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

ชุมชนโบราณ เมืองโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์

ความสำคัญ/ลักษณะ

    เมืองนี้ได้ย้ายมาจากบริเวณเมืองกาญจนบุรีเก่าที่ทุ่งลาดหญ้า มาตั้งอยู่ ณ บริเวณที่แม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแควใหญ่มาบรรจบซึ่งเรียกกันว่า “ปากแพรก” เมืองที่ปากแพรกนี้ เดิมคงมีลักษณะดังในหนังสือเสด็จประพาสไทรโยค พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ที่ว่า   “…เมืองกาญจนบุรีนี้แต่ก่อนมาเป็นระเนียดไม้ตลอดมาจนถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมาขัดทัพก็ยังเป็นระเนียดไม้อยู่...” ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๓) ทรงพิจารณาเห็นว่าเมืองกาญจนบุรีเป็นหน้าด่านแรกที่ต้องต้านทานพม่าและอังกฤษ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกำแพงเมืองกาญจนบุรีขึ้น ดังปรากฏตามเอกสารว่า “...ครั้นเสร็จการโสกันต์แล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม ออกไปดูที่สร้างป้อมกำแพงขึ้นที่เมืองกาญจนบุรี เกณฑ์ให้พวกรามัญทำอิฐ ปักหน้าที่ให้เลขเมืองราชบุรีเลขเมืองกาญจนบุรีก่อกำแพงพระยากาญจนบุรีเป็นแม่กองทำเมือง…” จากข้อความในจารึกหลักเมืองกาญจนบุรีบนหินทรายและแผ่นไม้สัก กล่าวถึงพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ (ฝังเครื่องอาถรรพ์) สร้างประตูก่อป้อมกำแพงเมือง ในวันพฤหัสบดี ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ เวลา ๔ โมงเช้า ๙ บาท ซึ่งตรงกับวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๔ แล้วเสร็จมีพระราชพิธีสมโภชเมืองใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕  ต่อมาเมื่อพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ สงครามระหว่างไทยกับพม่าก็สิ้นสุด กำแพงเมืองกาญจนบุรีจึงถูกลดความสำคัญลง และชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

          กำแพงเมืองนี้มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๒๑๐ เมตร ยาว ๕๒๐ เมตร ก่ออิฐฉาบปูน สูง ๔ เมตร บนกำแพงมีใบบังรูปสี่เหลี่ยม ที่มุมกำแพงเมืองทั้ง ๔ มุม มีป้อมรูปหกเหลี่ยมตั้งอยู่ทุกมุม และป้อมใหญ่กลางกำแพงด้านหน้าเมือง (ด้านทิศตะวันตก) ๑ ป้อม และป้อมเล็กด้านหลัง (กลางแนวกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก) ในแนวตรงกันกับด้านหน้าอีก ๑ ป้อม รวมเป็นทั้งหมด ๖ ป้อม มีประตูเมืองด้านข้าง (ทิศเหนือและใต้) ด้านละ ๑ ประตู และประตูหน้า – หลัง (ทิศตะวันตกและตะวันออก) ด้านละ ๒ ประตู และประตูช่องกุฏิใต้ป้อมใหญ่และป้อมเล็ก ป้อมละ ๑ ประตู รวมเป็น ๘ ประตู   และมีคูเมืองล้อมรอบ ๓ ด้าน ยกเว้นด้านตะวันตกที่ใช้แม่น้ำเป็นเสมือนคูเมืองประตูด้านหน้า (ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) เหนือประตูมีข้อความว่า “เมืองกาญจนบุรี พ.ศ. ๒๓๗๔

ผลการขุดศึกษาทางโบราณคดี (พ.ศ. ๒๕๔๗ และ ๒๕๖๑) พบว่ากำแพงเมืองกาญจนบุรี มีความสูงประมาณ ๔ เมตร (รวมใบบัง) และมีความหนาของตัวกำแพงประมาณ ๑ เมตร ฐานด้านล่างก่ออิฐแผ่ออกมาทั้งด้านนอกและด้านใน ด้านละประมาณ ๒๕ เซนติเมตร และบางตอนมีการนำหินกาบแม่น้ำมารองรับฐานรากซึ่งเป็นอิฐด้วย ตัวกำแพงก่อด้วยอิฐทึบ และมีบางส่วนก่ออิฐเป็นแนวประกบกันและอัดเศษอิฐและดินไว้ภายใน ด้านบนของกำแพงก่อเป็นใบบังทรงสี่เหลี่ยม

    ป้อมทางด้านทิศตะวันตก มีความกว้างประมาณ ๑๕.๔๐ เมตร สูงราว ๓ เมตร ลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยมผ่าครึ่งยื่นออกมาจากแนวกำแพงเมือง ตัวป้อมก่อด้วยอิฐสอดิน  บริเวณกลางป้อมก่ออิฐยกพื้นสูงเพื่อใช้เป็นพื้นสำหรับใช้งานและวางปืนใหญ่ (ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปืนใหญ่ยังมีอยู่ครบ) ด้านในป้อมก่อเป็นขั้นบันไดเพื่อใช้เป็นทางขึ้น-ลงตัวป้อม ถัดจากตัวป้อมออกมาทั้ง ๒ ด้าน ห่างประมาณ ๔ เมตร พบช่องประตูกว้างประมาณ ๒ เมตร ใช้เป็นทางเข้า-ออก

 ป้อมมุมกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตัวป้อมมีลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยม ขนาดความกว้างประมาณ ๑๕ เมตร ขนาดความสูงจากฐานแผ่ถึงใบบังเท่าที่เหลือประมาณ ๓.๙๐ เมตร พิจารณาจากหลักฐานเท่าที่เหลือ พบว่าตัวป้อมก่อด้วยอิฐสอดิน ถัดขึ้นไปในส่วนของใบบังจึงเปลี่ยนเป็นก่ออิฐสอปูน จากการขุดตรวจเบื้องต้นพบว่าโครงสร้างฐานป้อมประกอบไปด้วยแผ่นอิฐชั้นเดียววางบนดินอัดแน่น โดยอิฐฐานแผ่ดังกล่าววางยื่นออกมาจากฐานป้อมประมาณ ๐.๓๐-๐.๔๐ เมตร 

*ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร 

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

การใช้พื้นที่และการอนุรักษ์

          กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานกำแพงเมืองแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘  แต่ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๘๑ มีการขออนุญาตรื้อซากประตูเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งถูกน้ำท่วมทลายลงมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ ออกเพื่อเป็นพื้นที่โรงงานกระดาษกาญจนบุรี  ซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘

          พ.ศ. ๒๔๗๘ มีการใช้พื้นที่ภายในเมืองกาญจนบุรีฝั่งด้านใต้ก่อสร้างโรงงานกระดาษ

          พ.ศ. ๒๔๙๘ จังหวัดกาญจนบุรีได้ขออนุญาตรื้อกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออกเพื่อปลูกสร้างค่ายกองร้อยศูนย์ฝึกสมาชิกอาสารักษาดินแดน

          พ.ศ. ๒๕๐๑ จังหวัดกาญจนบุรีขออนุญาตเจาะกำแพงเมืองเพื่อขยายถนนเป็นช่อง ๒ ช่อง ช่องทั้งสองนี้อยู่สองข้างประตูเมืองที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน

          พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมศิลปากรบูรณะประตูเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกส่วนที่อยู่ในโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์

          พ.ศ. ๒๕๔๗- ๒๕๔๘  กรมศิลปากรร่วมกับเทศบาลเมืองกาญจนบุรี และสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัด กาญจนบุรี บูรณะและเสริมความมั่นคงกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก (บางส่วน) รวมถึงการบูรณะป้อมกึ่งกลางกำแพงด้านทิศตะวันตก ตลอดจนปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณประตูเมืองด้านตะวันตก และพื้นที่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๓

          พ.ศ. ๒๕๖๑ ขุดศึกษาทางโบราณคดีบริเวณแนวกำแพงเมืองกาญจนบุรีด้านทิศใต้และป้อมมุมกำแพงจำนวน ๒ ป้อม

แผนการดำเนินงาน

          ขุดศึกษา บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์แนวกำแพงเมืองและป้อมในส่วนที่เหลือ

          พ.ศ. ๒๕๖๒ บูรณะป้อมจำนวน ๒ ป้อม และบูรณะกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ จำนวน ๓๑๕ เมตร

          พ.ศ. ๒๕๖๓ บูรณะป้อมจำนวน ๒ ป้อม และบูรณะกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศใต้  จำนวน ๔๒๕ เมตร

          พ.ศ. ๒๕๖๔ บูรณะป้อมจำนวน ๒ ป้อม และบูรณะกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศใต้ จำนวน ๑๒๙ เมตร

*ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร 

แก้ไขเมื่อ

2021-05-06

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร