ละติจูด 13.8766567803 , ลองจิจูด 99.7897622287
พิกัด
ตำบลพงตึก อำเภออำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ 71120
ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ
ชุมชนโบราณ เมืองโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์
ความสำคัญ/ลักษณะ
“เมืองพงตึก” เป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดี อายุในราวราวพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นชุมชน “แวะพัก – ทางผ่านชั่วคราว” ของกองคาราวาน ที่ประกอบด้วยผู้คนมากมายหลายสถาน รวมถึงนักเดินทางแสวงโชค บน “เส้นทางโบราณ” ที่เชื่อมโยงการติดต่อระหว่างสุวรรณภูมิกับวัฒนธรรมอินเดีย – กรีก - โรมัน ตามเส้นทางถนน “ทางบก (ทางเกวียน)” จากอ่าวเบลกอลเข้ามาทางช่องเขาของด่านพระเจดีย์สามองค์ ลงสู่ลำน้ำแควน้อย ตัดเข้าสู่แควใหญ่และแม่น้ำแม่กลอง
ด้วยเพราะชุมชนพงตึกเป็นเพียง “ชุมชนกลางทาง” หรือชุมชน “ท่าข้าม” แม่น้ำแม่กลอง ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองโบราณต่าง ๆ ในยุคทวารวดี ทั้งเมืองคูบัว เมืองนครปฐม กำแพงแสน เมืองสิงห์ ดอนตาเพชรและเมืองอู่ทอง ไม่มีพัฒนาการขึ้นเป็น “เมือง” จึงไม่ปรากฏร่องรอยของคูน้ำและกำแพงดินรูปวงกลมล้อมรอบเช่นเดียวกับเมืองโบราณในยุคเดียวกัน
และด้วยเป็นเพียงเมืองผ่าน หลักฐานที่ค้นพบที่เมืองพงตึกจึงมีไม่มากและกระจัดกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ หลักฐานสำคัญของพงตึกที่ก็คือ โบราณสถานหมายเลข 1 โบราณสถานหมายเลข 2 พระพุทธรูปฝีมือช่าง “อมราวดี” อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 7 – 9 พระพุทธรูปขนาดเล็กศิลปะแบบ “คุปตะ” หล่อด้วยสำริด อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 และ ชวาลา(ตะเกียง) โรมัน “สัญลักษณ์” สำคัญของเมืองพงตึก
โบราณสถานหมายเลข 1 เป็น ซากอาคารก่อที่ใหญ่ที่สุดในเมืองพงตึก มีผังอาคารเป็นรูปฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 14.40 เมตร ยาว 21.70 เมตร สูงจากพื้นดินประมาณ 2.5 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง มีบันไดขึ้นอยู่ตรงกลางด้านตะวันออกเฉียงใต้เพียงด้านเดียว ด้านข้างทำเป็นมุขเหลี่ยมเล็ก ๆ ยื่นออกมา บนฐานมีเศษของฐานเสาศิลาแลง มีรูสำหรับสอดเสาไม้อยู่หลายต้น กระจัดกระจายอยู่บนอาคาร
โบราณสถานหมายเลข เป็นฐานของ “วิหารหอพระ” (Chapel – Shrine) หรือศาลพระภูมิ ที่ตั้งของรูปเคารพสำคัญขนาดใหญ่ หรือสถูปขนาดย่อม ยอดเป็นเรือนไม้แบบอาคารไม้ศิลปะทวารวดี (ดูรูปแบบจากใบเสมาเมืองฟ้าแดดสูงยาง) ไม่ได้เป็นเป็นวัด แต่มีผู้ดูแล วิหารจะตั้งอยู่กลางชุมชน ใกล้กับลานค้าขายหรือ “ตลาด” ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักเดินทาง กองคาราวาน ผู้คนจากไกลจะมาหยุดแวะพัก มาพบปะกัน ก่อนเดินทางต่อไปยัง อู่ทองและนครปฐม
โบราณสถานหมายเลข 2 ตั้งอยู่ทางทิศใต้ เรียกกันว่าบ้านนายมา (ปัจจุบันเป็นบ้านของนายจรูญ แย้มพยนต์) เป็นฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 6 เมตร ตรงกลางมีฐานที่ตั้งรูปเคารพขนาดใหญ่ พบหินศิลาแลงส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยปูนปั้นค่อนข้างหนากระจายตัวอยู่โดยรอบ ฐานอาคารนี้เคยมีร่องรอยการปั้นปูนประดับอย่างสวยงาม บางชิ้นก็เป็นสถูปยอดแหลม
ใกล้เคียงกัน ก็พบฐานอาคาร ก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปวงกลม วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 9 เมตรด้านบนมีร่องรอยของอิฐแตกหักกระจัดกระจาย
โบราณสถานหมายเลข 2 น่าจะเป็นวัดขนาดเล็ก ในพุทธศาสนาแบบเถรวาทมหาวิหารลังกา ฐานสี่เหลี่ยมคือวิหาร และ ฐานวงกลม ก็คือสถูป โบราณวัตถุชิ้นสำคัญของพงตึกคือ พระพุทธรูปศิลปะ “อมราวดี” พระพุทธรูปศิลปะ “คุปตะ” และ ชวาลา(ตะเกียง) โรมัน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นวัตถุที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เชื่อว่าสิ่งของทางพระพุทธศาสนาขนาดเล็กนี้ เป็นของผู้คนนักเดินทาง ที่ติดตัวเดินทางผ่านเข้ามายังพงตึก
ตะเกียงโรมันสำริดนี้ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์เป็นผู้พบเจอจากชาวบ้านหลายคนที่เข้ามาขุดหาสมบัติในพงตึก “...ในขณะที่ข้าพเจ้าเดินทางไปสำรวจที่พงตึก มีชายคนหนึ่งได้เชิญให้ข้าพเจ้าเข้าไปพบพร้อมกับเอาชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผาออกมาให้ดู ชายอีกคนหนึ่งเอาโถดินเผาออกมา อีกคนหนึ่งเอาวัตถุสำริดชิ้นหนึ่งออกมาให้ดู วัตถุชิ้นนี้มีลวดลายสะดุดตาตั้งแต่แรก....
.....ต่อมาข้าพเจ้าได้พบกับชายแก่คนหนึ่ง นำภาชนะโลหะมาวางไว้กับพื้น ข้าพเจ้าก็ทราบในทันทีว่า นั่นมันคือตะเกียงน้ำมันแบบกรีก - โรมัน เพียงแต่ด้ามถือหลุดหายไป จึงเอาชิ้นสำริดที่ได้ไว้ตั้งแต่ครั้งแรก ขอลองต่อเข้าด้วยกัน และท่ามกลางความประหลาดใจของเจ้าของ ตะเกียงและด้ามนั้นต่อกันได้พอดี ข้าพเจ้าต้องเจรจาอยู่นาน และจ่ายเงินไปบ้าง จึงได้ตะเกียงนี้เข้ามาที่กรุงเทพ ฯ ….. “
“ชวาลาโรมันสำริด” เป็นตะเกียงน้ำมัน ศิลปะแบบ กรีก – โรมัน อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 6 เชื่อว่าผลิตขึ้นในช่วงราชวงศ์ “ปโตเลมี” แห่ง “นครอเล็กซานเดรีย” ตรงปลายมีที่ใส่ไส้ตะเกียง ด้ามจับทำเป็นรูปลายต้นปาล์ม มีรูปปลาโลมา 2 ตัว หันหน้าเข้าหากัน ด้านบนตะเกียงมีฝาเปิดสำหรับใส่น้ำมัน เป็นรูปใบหน้าของเทพเจ้า “เซเลนัส” (Silenus)
รูป “ปลาโลมา” เป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่อยู่ติดกับทะเล ในคติความเชื่อของกรีก โรมัน “ปลาโลมาคือพาหนะของผู้วายชนม์” นำไปสู่เกาะแห่งสรวงสวรรค์ เพื่อให้เทพเจ้าประทานความเป็นนิรันดร์ให้ ตะเกียงโรมันนี้จึงเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมแห่ง “ความตาย” อย่างไม่ต้องสงสัย
การค้นพบหลุมศพของมนุษย์ที่มีโครงร่างใหญ่ ประกอบกับการพบตะเกียงที่มีหัวของเซเลนัส สวมมงกุฎเถาวัลย์ เทพเจ้าผู้เป็นโอรสแห่งพื้นดิน ผู้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมแห่งความตาย
ประกอบกับธรรมเนียมประเพณีโบราณของชาวกรีก - โรมัน ตะเกียงน้ำมันจะถูกใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับการบูชาผู้ที่ตายไปแล้ว โดยมีการ “ตามไฟ” บนหลุมฝังศพเป็นครั้งคราว จึงพอจะปะติดปะต่อได้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อ พันกว่าปีที่แล้ว เคยมีลูกครึ่งชาวกรีก – โรมัน – อินเดีย ซึ่งอาจเป็นพ่อค้า นักบวช นักแสวงโชคหรือนักผจญภัย ใช้เส้นทางบกของช่องเขาตะนาวศรี ข้ามมายังจุดแวะพักที่พงตึก แล้วค่อยเดินทางต่อเข้ามายังตอนกลางของแผ่นดินสุวรรณภูมิ
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ธรรมจักรศิลามีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก ยากลำบากในการขนย้าย เส้นทางลำเลียงรูปสลักธรรมจักรและรูปเคารพใหญ่ ๆ ที่นำเข้ามา จึงไม่ได้มาผ่านทางช่องเขาที่ตะนาวศรี แต่ใช้การล่องเรือเข้ามาสู่เมืองท่าโบราณในยุคนั้นโดยตรง
ชื่อ “พงตึก”นั้นสันนิษฐานกันมาว่า “พง” มาจากพงหญ้าที่ขึ้นรกรุงรัง และ “ตึก” มาจากซากอาคารเก่าแก่ที่ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง ดังเรื่องราวที่ปรากฏใน “นิราศพระแท่นดงรัง” ของ “สามเณรกลั่น” ศิษย์และบุตรบุญธรรมของ "สุนทรภู่" กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่งไว้เมื่อปี พ.ศ. 2376
แล้วจากท่ามาถึงตรงคุ้ง พงตึก
อนาถนึกสงสัยได้ไต่ถาม
ท่านผู้เฒ่าเล่าต่อเป็นข้อความ
ว่าตึกพราหมณ์ครั้งแผ่นดินโกสินราย
แต่ตึกมีที่ริมน้ำเป็นสำเหนียก
คนจึงเรียก พงตึก เหมือนนึกหมาย
ถึงท่าหว้าป่าสองรังสองฝั่งราย
กับเชิงหวายโป่งกลุ้มดูคลุมเครือ
ตะเกียงโรมัน
แบบศิลปะ/อายุสมัย : กรีก-โรมัน พุทธศตวรรษที่ ๖ - ๗
ประวัติ : ขุดพบที่พงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ราชบัณฑิตยสภาส่งมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐
ตะเกียงหล่อด้วยสำริด ปลายด้านหนึ่งใช้สำหรับจุดไส้ ทรงกลม ด้านบนมีฝาปิดสำหรับบรรจุน้ำมัน ฝาหล่อเป็นรูปพระพักตร์เทพเจ้าซิเลนุส (Silenus) ผู้เป็นอาจารย์ของของเทพเจ้าดิโอนีซุส (Dionysus) เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่น บนด้ามจับหล่อเป็นลายใบปาล์มและปลาโลมา ๒ ตัว หันหน้าชนกัน อันเป็นเครื่องหมายของเมืองที่อยู่ริมทะเล
ตะเกียงสำริดดวงนี้เป็นตะเกียงแบบกรีก-โรมัน มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ พบที่แหล่งโบราณคดีพงตึก จังหวัดกาญจนบุรี สอดคล้องกับการค้นพบเหรียญโรมันสำริด (ของจักรพรรดิวิคโตรินุส) ที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าชุมชนโบราณในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับโลกตะวันตก ได้แก่ กลุ่มประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คือ กรีก-โรมัน รวมทั้งเปอร์เซีย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๙ ซึ่งอาจเป็นการติดต่อโดยตรงกับพ่อค้าโรมันที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานตามบ้านเมืองท่าชายฝั่งของอินเดีย หรือติดต่อผ่านพ่อค้าชาวอินเดียที่เดินทางมาจากเมืองท่าต่างๆ
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
-
แก้ไขเมื่อ
2021-06-21
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | รายละเอียด | งบประมาณ | เอกสาร | สถานะ |
---|
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | งบประมาณ | วันที่รายงาน | เอกสาร |
---|