เจดีย์และมณฑป (วัดเขาพลอยแหวน)


ละติจูด 12.6091326 , ลองจิจูด 102.0381559

พิกัด

J25R+M45 ตำบล พลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ จันทบุรี 22120 ตำบลพลอยแหวน อำเภออำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี รหัสไปรษณีย์ 22120

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

วัดเขาพลอยแหวน เป็นวัดเล็ก ๆ ตั้งอยู่บนเนินเขาพลอยแหวน บริเวณนี้เดิมเคยเป็นแหล่งขุดพลอยแห่งแรกของจันทบุรี ภายในวัดมีบันไดขึ้นสู่ยอดเขาอันเป็นที่ตั้งของเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและมณฑปพระพุทธบาท ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2530 เจดีย์บรรจุพระบรมสาริกธาตุและมณฑปพระพุทธบาท พระยาไกรโกษาข้าหลวงเมืองจันทบุรี สร้างองค์รัตนคีรีเจดีย์เมื่อปี พ.ศ. 2379 เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ก่ออิฐถือปูน กว้าง 4 วา สูง 6 วา 3 ศอก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาปี พ.ศ. 2495 มีการบูรณะเจดีย์โดยขยายความกว้างและความสูงของฐาน เป็นกว้าง 4 วา 2 ศอก สูง 7 วา บริเวณด้านหน้าเจดีย์เป็นที่ตั้งของมณฑปซึ่งก่อสร้างค้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 1 ศอก หนึ่งองค์ฐานมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง

ประวัติความเป็นมาเจดีย์และมณฑปเขาพลอยแหวน

เจดีย์และมณฑปเขาพลอยแหวน ตั้งอยู่บน หมู่ที่ ๕ ตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี วัดเขาพลอยแหวน เป็นวัดเล็ก ๆ เนินเขาพลอยแหวน บริเวณนี้เดิมเคยเป็นแหล่งขุดพลอยแห่งแรกของจันทบุรี

วัดเขาพลอยแหวน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี บริเวณวัดแวดล้อมด้วยธรรมชาติ มีต้นไม้ครึ้ม ร่มรื่น บริเวณวัดด้านล่าง มีอุโบสถ และเมรุเผาศพ สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ชั้นต่อมามีซุ้มศาลา และบันไดทางขึ้นเขาอีก ๖๐๐ กว่าขั้น เป็นรัตนคีรีเจดีย์ มณฑป และจุดชมวิว[๑]

วัดเขาพลอยแหวนสร้างขึ้นในปีจุลศักราช ๑๑๘๓ (พ.ศ. ๒๓๖๔) โดยพระยาจันทบุรี ที่ชื่อ พระนนทบุรี (สองเมือง) สร้างขึ้นในช่วงที่ย้ายตัวเมืองมาตั้งที่ค่ายเนินวงได้ราว ๒ ปี ต่อมาได้มีการสร้างเจดีย์ และมณฑป เพิ่มเติมขึ้นบนบริเวณยอดเขา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาส ปัจจุบันกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๐ มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒ ไร่ ๙๐ ตารางวา[๒

รัตนคีรีเจดีย์

บนยอดเขาเป็นที่ตั้งของเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ก่ออิฐถือปูน ฐานกว้าง ๔ วา สูง ๖ วา ๓ ศอก สร้างเมื่อ จุลศักราช ๑๑๙๘ (พ.ศ.๒๓๗๙) โดยพระยาไกรไกษา (ข้าหลวงประจำจังหวัดจังหวัดจันทบุรี)  ต่อมาพระยาธิบดีศรีรณรงค์ฤไชย(พระยาจันทบุรีในรัชกาลที่ ๔ ) ได้บรรจุพระบรมธาตุในองค์เจดีย์ ขนานนามว่า ” รัตนคีรีเจดีย์ ” เมื่อจุลศักราช ๑๒๓๘ ( พ.ศ. ๒๔๑๙) สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ( รัชกาลที่ ๕ ) เสด็จประพาสเขาพลอยแหวน ทรงวิจารณ์ไว้ในพระนิพนธ์ ดังต่อไปนี้ ” ถ้าเขาพลอยแหวนคล้ายกับเขาสัตนารถ ( อยู่ที่จังหวัดราชบุรี ) แต่มีผิดกันที่เขาพลอยแหวนไม่มีศิลาเหมือนเขาสัตนารถ และทั้งมีลักษณะต่ำกว่ากันด้วย ” ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๖ ทางราชการได้ทำบูรณะปฎิสังขรณ์ใหม่ เป็นฐานกว้าง ๖ วา สูง ๗ วา ๓ ศอก

มณฑป

ตั้งอยู่บนยอดเขาคู่กับองค์เจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ฐานกว้าง ๔ วา ๒ ศอก ยาว ๔วา ๒ ศอก สูง ๗ วา โดยคนในตระกูลบุญเรือง มี นายซองแป๊ะ นายซองกุ่ย เป๋นต้น พร้อมได้นำพระพุทธรูปและพระพุทธบาทจำลองศิลาทรายแกะสลักมาประดิษฐานภายในมณฑป (ลักษณะเดียวกันกับที่พบ ณ วัดสระบาป) ปัจจุบันชำรุดแตกหัก พระพุทธบาทจำลองในปัจจุบันได้สร้างขึ้นมาใหม่หล่อด้วยทองเหลือง -เจดีย์และมณฑป กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๐ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๔ ตอนที่ ๑๔๓ ลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒ ไร่ ๙๐ ตารางวา

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

สถานการณ์ปัจจุบันเจดีย์และมณฑปเขาพลอยแหวน เป็นแหล่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ประเภทแหล่งศาสนสถาน ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๐ ประเมินความสมบูรณ์ความเป็นองค์รวมในด้านองค์ประกอบสำคัญทางสิ่งแวดล้อมและทางศิลปวัฒธรรมท้องถิ่นอยู่ในระดับมากปราศจากภัยคุกคาม สภาพปัจจุบัน พบ มีการรื้อซุ้มประตูทางขึ้น เมื่อวันที่ ๒๒  พฤศจิกายน ๒๕๕๙ และสร้างซุ้มประตูทางขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ และมีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก โดยรอบแหล่งศิลปกรรม จำนวน ๑ อาคาร (ห้องน้ำ) เพื่อบริการนักท่องเที่ยว และพบมีการสร้างศาลาบนทางขึ้นและเจดีย์สร้างขึ้นบริเวณทางขึ้นบันได บริเวณมณฑป

ปัจจุบันมณฑปยังสร้างไม่เสร็จ เจดีย์ทรงลังกา ยังคงสภาพสมบูรณ์มีการใช้ประโยชณ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนียวชาวบ้าน

แก้ไขเมื่อ

2024-01-18

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร