สถานีรถไฟบางปะอิน


ละติจูด 14.239563978 , ลองจิจูด 100.584420974

พิกัด

ตำบลบ้านเลน อำเภออำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม พระราชวัง

ความสำคัญ/ลักษณะ

สถานีรถไฟบางปะอิน ตั้งอยู่ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2439 โดยเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟบนเส้นทางรถไฟสายแรกของกรมรถไฟระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดนครราชสีมาที่เริ่มต้นการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2434 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2443 หลังจากที่การก่อสร้างเส้นทางรถไฟช่วงแรกระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2439 รวมระยะทาง 71 กิโลเมตร ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักรที่ย่านสถานีรถไฟกรุงเทพ โดยทรงประทับตรงที่ที่ได้เทมูลดินซึ่งทรงขุดไว้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2434 เมื่อเริ่มสร้างทางรถไฟ แล้วทรงกระทำพระฤกษ์ตรึงตะปูหมุดที่รางทองรางเงิน ส่วนด้านเหนือให้ติดกับหมอนไม้มริดคาดเงินมีอักษรจารึก ส่วนทางใต้สมเด็จพระบรมราชินีนาถเป็นผู้ตรึง แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการช่วยกันตรึงต่อไปจนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นเสร็จพระราชพิธีแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประทับรถไฟพระที่นั่งไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อขบวนรถไฟพระที่นั่งหยุดจอดที่บางปะอินได้เสด็จลง ณ พลับพลาที่ประทับซึ่งได้จัดสร้างไว้ข้างทางรถไฟเพื่อเสวยพระกระยาหารพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และหมู่ข้าราชบริพาร สถานีรถไฟบางปะอินจึงนับเป็นสถานีรถไฟแรกในประวัติศาสตร์ที่ขบวนรถไฟพระที่นั่งได้หยุดจอด ปัจจุบันสถานีรถไฟบางปะอินเป็นสถานีชั้น 1 ภายในย่านสถานีประกอบด้วยอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ คือ พลับพลาที่ประทับอาคารสถานีรถไฟ และร้านบาร์ (ขายอาหารและเครื่องดื่ม) พลับพลาที่ประทับสถานีรถไฟบางปะอินเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ผังพื้นอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขยื่นสำหรับทางเข้า ด้านข้างทั้งสองด้านมีมุขหกเหลี่ยม ผนังมุขเป็นช่องหน้าต่างกรุกระจกหลากสี (Stained glass) ที่สวยงามหลังคาอาคารและหลังคามุขทั้งสามด้านเป็นหลังคาเป็นทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว ใต้ฝ้าโดยรอบอาคารมีระแนงไม้เป็นช่องระบายอากาศชายหลังคาประดับด้วยไม้ฉลุงดงามตามแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2018-09-10

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนงานและโครงการ
- ไม่มีเอกสาร -