ละติจูด 13.5410389897 , ลองจิจูด 99.8176630218
พิกัด
ตำบลหน้าเมือง อำเภออำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ
พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม พระราชวัง
ความสำคัญ/ลักษณะ
อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรี (หลังเดิม) ตั้งอยู่ที่ถนนวรเดช ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี อาคารหลังนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อใช้เป็นศาลารัฐบาลมณฑลราชบุรี โดยรวมที่ว่าการเมืองและที่ว่าการมณฑลไว้ในอาคารหลังเดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศาลากลางจังหวัดราชบุรี เนื่องจากในปี พ.ศ. 2476 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล และมีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอขึ้นแทน จึงได้ปรับเปลี่ยนใช้เป็นศาลากลางจังหวัดราชบุรีตลอดมา จนกระทั่งได้มีการสร้างศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2524 อาคารศาลากลางหลังเก่าจึงถูกยกเลิกการใช้งานนับแต่นั้นมา ต่อมากรมศิลปากรขอใช้อาคารหลังนี้ สำหรับจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัดราชบุรี โดยดำเนินการบูรณะในปี พ.ศ. 2528 และในปี พ.ศ. 2529 จึงได้ประกาศกำหนดสถานที่ให้อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรี (เดิม) เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พร้อมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเก่านี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 6 ไร่เศษ เป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงรัชกาลที่ 5 - 6 เป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 30 เมตร ยาว 57 เมตร หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าว เน้นทางเข้าหลักด้านหน้า โดยสร้างมุขยื่นออกมา 1 ห้อง หน้ามุขเป็นซุ้มโค้งด้านข้างตกแต่งด้วยลายปูนปั้นและหัวเสาทรงกลมแบบศิลปะตะวันตก มีรูปครุฑปูนปั้นและตัวอักษรคำว่า “ศาลากลางจังหวัดราชบุรี” ผนังอาคารก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันทาสีชมพูอ่อนตัดกับซุ้มหน้าต่างสีขาว ตกแต่งด้วยเสาประดับผนังรูปสี่เหลี่ยมมีริ้วเส้นขนานในแนวนอนประดับ เหนือซุ้มหน้าต่างปูนปั้นเป็นคิ้วก่อบัวฝรั่งกันน้ำฝนย้อย บานประตูหน้าต่างไม้ตีเกล็ด เหนือกรอบหน้าต่างมีช่องแสงเป็นบานเกร็ดไม้ ภายในอาคารห้องแต่ละห้องจะเรียงกันไปตามความยาวของอาคาร มีประตูเปิดเชื่อมถึงกันตลอด พื้นห้องเป็นไม้กระดาน ภายในมีระเบียงทางเดินติดต่อกันโดยรอบ ปัจจุบัน อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม จัดเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 6) เป็นอาคารราชการที่ยังมีการใช้ประโยชน์ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 94 ตอนที่ 39 วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนพิเศษ 98 ง วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2548 มีพื้นที่โบราณสถาน 1 ไร่ 2 งาน 92 ตารางวา
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
-
แก้ไขเมื่อ
2018-09-10