เมืองเก่าราชบุรี


ละติจูด 13.545476 , ลองจิจูด 99.221796

พิกัด

ตำบลพงสวาย อำเภออำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี รหัสไปรษณีย์ 70000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

เมืองเก่า เมืองประวัติศาสตร์

ความสำคัญ/ลักษณะ

เมืองเก่าราชบุรีสันนิษฐานว่าน่าจะเจริญขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 พร้อมกับการแผ่ขยายวัฒนธรรมเขมรโบราณเข้ามาในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้หลักฐานที่เห็นชัดเจนที่สุดคือโบราณวัตถุและโบราณสถานที่ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1760) โดยเฉพาะบริเวณวัดมหาธาตุวรวิหาร ที่พบร่องรอยของปราสาทหินที่เป็นราชวิหารปรากฏมาก่อนที่จะถูกรื้อทำลายและพัฒนาขึ้นใหม่เป็นพระปรางค์ในปัจจุบัน เมืองเก่าราชบุรีเป็นเมืองที่มีความเป็นมาและพัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และการตั้งถิ่นฐานมายาวนาน ส่งผลให้ในพื้นที่เมืองเก่าราชบุรีมีแหล่งมรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญหลายแห่ง ส่วนใหญ่ตั้งเกาะกลุ่มอยู่ในพื้นที่เทศบาลเมืองราชบุรี ทั้งที่เป็นโบราณสถาน อาคาร และสถานที่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น รวมถึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเมืองเก่าราชบุรีซึ่งคุณค่าและความสำคัญของแหล่งมรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม กำแพงเมืองและคูเมืองราชบุรี ตั้งอยู่ในเขตตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี ทางฝั่งตะวันตกติดริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ฟากเดียวกันกับเมืองโบราณคูบัวและเทือกเขางู อยู่ห่างจากเมืองโบราณคูบัวไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร มีร่องรอยคูน้ำและคันดินเป็นกำแพงเมืองและคูเมืองของเมืองโบราณ ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 750 เมตร ยาว 2,250 เมตร ตัวเมืองล้อมรอบด้วยคูเมืองและกำแพงเมือง โดยมีกำแพงเมือง 3 ด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ส่วนด้านทิศตะวันออกใช้แม่น้ำแม่กลองเป็นคูเมืองตามธรรมชาติ สภาพปัจจุบันของกำแพงเมืองและคูเมืองเมืองราชบุรี พบว่า กำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกเป็นแนวเส้นตรง ปัจจุบันคือสันถนนเขางู กำแพงเมืองด้านทิศใต้มีบ้านเรือนสร้างทับทั้งหมด ด้านทิศเหนือแนวคันกำแพงยาวไปจดแม่น้ำแม่กลอง คูเมืองทางด้านทิศใต้บรรจบกับแม่น้ำแม่กลองบริเวณหลังวัดช่องลมในปัจจุบัน คูเมืองด้านนี้ยังคงสภาพให้เห็นเป็นคูเมืองอยู่บ้าง แต่มีบ้านเรือนปลูกรุกล้ำเป็นจำนวนมาก จากหลักฐานพบว่า เมืองราชบุรีนี้มีป้อม 6 ป้อม และประตู 6 ประตู ในสภาพปัจจุบันพบว่ามีร่องรอยของป้อมเหลือเพียง 2 ป้อม คือ ป้อมทางด้านมุมกำแพงทิศตะวันตกเฉียงใต้ และป้อมกลางกำแพงทางด้านทิศ ในส่วนของประตูเมืองปัจจุบันเหลือสภาพให้เห็นเป็นซุ้มประตู 4 ประตู จากทั้งหมด 6 ประตู แต่มีสภาพที่ชำรุด คือ กำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจะมีประตูด้านละ 1 ประตู โดยอยู่กึ่งกลางแนวกำแพง ส่วนกำแพงด้านทิศเหนือและทิศใต้จะมีด้านละ 2 ประตู โดยอยู่ระหว่างป้อม ลักษณะของซุ้มประตูจะก่อซุ้มด้วยอิฐฉาบปูน เป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง 4.65 เมตร เหนือประตูตกแต่งโดยการเซาะร่องเป็นรูปโค้งซุ้มประตู ด้านข้างตกแต่งโดยการเซาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า คานและบานประตูเป็นไม้ บานประตูเป็นแบบ 2 บาน เปิดเข้าด้านใน เดิมทาสีน้ำตาลหรือสีอิฐ มีการตรึงหมุดเหล็ก บนบานประตูเต็มทั้งสองบาน บานประตูกว้าง (รวมวงกบ) 3.45 เมตร สูง 2.90 เมตร ลักษณะของซุ้มประตูทุกซุ้มได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

1. ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2560

แก้ไขเมื่อ

2018-11-14

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร