พระนารายณ์ราชนิเวศน์


ละติจูด 14.7999 , ลองจิจูด 100.6106

พิกัด

ลพบุรี ตำบลท่าหิน อำเภออำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี รหัสไปรษณีย์ 15000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม พระราชวัง

ความสำคัญ/ลักษณะ

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรี ปัจจุบันบริเวณพระราชวังมีถนน 4 สายล้อมรอบ คือทิศเหนือติดถนนราชดำเนิน ทิศตะวันออกติดถนนสรศักดิ์ ทิศใต้ติดถนนเพทราชา ทิศตะวันตกติดถนนพระรามพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์นี้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดฯ ให้สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2209 เนื้อที่ 42 ไร่เศษ ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย กำแพงพระราชวังก่ออิฐถือปูนอย่างหนาแน่นสูง 5 เมตร ข้างบนกำแพงมีใบเสมาเรียงรายบนสันกำแพง ยาวตลอด ตรงมุมกำแพงแต่ละมุมจะมีป้อมปืนไว้ป้องกันศัตรู ส่วนที่ผนังด้านในเจาะเป็นช่องซุ้มโค้งแหลมเล็กประมาณ 2,000 ช่อง สำหรับใช้วางตะเกียงหรือประทีป มีซุ้มประตูทั้งหมด 11 ซุ้ม ช่องประตูเข้าโค้งแหลม หลังคาประตูเป็นทรงจตุรมุข ตรงจั่วซุ้มประตูตกแต่งลายกระจังปูนปั้นที่วิวัฒนาการมาจากดอกบัว ที่ซุ้มประตูและกำแพงพระราชฐานชั้นกลาง และชั้นในมี ช่องเล็ก ๆ เจาะเป็นรูปโค้งแหลมคล้ายบัวเรียงเป็นแถว กำแพงด้านตะวันออกแถบใต้ของพระราชวังมีประตูพยัคฆาเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นมีความสง่างาม มั่นคง แข็งแรง ปัจจุบันใช้เป็นทางเข้า-ออกเพื่อเข้าไปในบริเวณพระราชวังทั้งหมด ทางด้านท้ายพระราชวังยังมีอีก 2 ประตู ได้แก่ ประตูยาตรากษัตริย์ เป็นประตูสำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกเพื่อเสด็จลงเรือพระที่นั่งเสด็จกลับพระนครศรีอยุธยา ประตูยาตรากษัตริย์นี้มีถนนตัดจากท้ายพระที่นั่งจันทรพิศาลตรงออกมา เมื่อพ้นประตูก็จะมีทางลาดไปสู่ท่าเรือ และถัดจากท่าเรือพระที่นั่งก็จะมีท่าสำหรับขุนนางที่ตามเสด็จ เรียกว่าท่าขุนนาง อีประตูคือประตูนารีลีลา เป็นประตูที่ให้บรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามและข้าราชบริพารฝ่ายในที่จะต้องเสด็จเป็นกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคตั้งแต่ครั้งยังใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นเส้นทางสัญจร ประตูพระราชวังมีถึงสองชั้น คือชั้นนอกมี 7 ประตู ชั้นในมี 4 ประตู หัวมุมและกึ่งกลางกำแพงแต่ละด้านมีป้อมปืนใหญ่สร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง พระราชวัง แบ่งเป็น 3 ชั้น คือพระราชฐานชั้นนอกทางด้านทิศตะวันออกประกอบไปด้วย อ่างเก็บน้ำ หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง ตึกเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง ตึกพระเจ้าเหา โรงช้าง โรงม้า พระราชฐานชั้นกลางประกอบด้วย พระที่นั่งจันทรพิศาล หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย พระที่นั่งไชยศาสตรากร พระที่นั่งอักษรศาสตรากร พระที่นั่งอักษรศาสตราคม พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ตึกพระประเทียบ ทิมดาบ และพระราชฐานชั้นในอยู่ทางทิศตะวันตก ประกอบด้วยพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงสร้างขึ้นมี 3 ที่ คือพระที่นั่งจันทรพิศาล พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ และพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ภายหลังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จสวรรคต พระราชวังแห่งนี้ก็หมดความสำคัญถูกปล่อยให้ชำรุดหักพังไปจนกระทั่งเมื่อปี 2399 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระราชวังขึ้นใหม่และทรงสร้างพระที่นั่งขึ้นสำหรับประทับและเป็นราชธานีสำรอง มีแบบแปลนที่แยกพระที่นั่งออกเป็น 4 พระที่นั่งในตึกเดียวกันซึ่งประกอบด้วย พระที่นั่งพิมานมงกุฎ พระที่นั่งสุทธิวินิจฉัย พระที่นั่งไชยศาสตรากร และพระที่นั่งอักษรศาสตราคม การซ่อมแซมสร้างพระราชวังแห่งนี้แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2405 จึงโปรดฯ พระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

- สภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมภายนอกอยู่ติดกับชุมชนหลายกลุ่ม และติดกับสถานศึกษา (โรงเรียนวินิตศึกษาในพระราชูปถัมภ์ฯ) จึงทำให้มีผู้คนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากอยู่ในบริเวณโดยรอบ และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเปิดให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าชมในวันและเวลาทำการ สภาพแวดล้อมภายใน ร่มรื่น สะอาด สงบ เพราะอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรที่ 4 ลพบุรี มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและอำนวยความสะดวก

- ความเสี่ยงต่อการถูกทำลาย เนื่องจากโบราณสถาณนี้ กรมศิลปากรที่ 4 ลพบุรี เป็นผู้ดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด มีเจ้าหน้าที่ดูแลและให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่ภายในโบราณสถานอย่างต่อเนื่องจึงไม่ค่อยมีความเสี่ยงต่อการถูกทำลาย และยังถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดลพบุรี ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนช่วยกันดูแลเป็นอย่างดี

- แนวทางการป้องกัน ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว ช่วยกันรักษาความสะอาดและปฏิบัติตามกฏที่กำหนดไว้ เพื่อ ให้โบราณสถานคงอยู่สืบไป

แก้ไขเมื่อ

2023-12-08

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร