วัดบางกุ้ง


ละติจูด 13.4377546204 , ลองจิจูด 99.943374909

พิกัด

ตำบลบางกุ้ง อำเภออำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม รหัสไปรษณีย์ 75120

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. 2250-2300 ความสำคัญทางประวัติศาสตร์เคยเป็นที่ตั้งค่ายของพระเจ้าตากสิน สิ่งสำคัญได้แก่ อุโบสถและพระประธาน พระนามว่า หลวงพ่อเทพนิมิตรมงคล หลวงพ่อแดงหน้าอุโบสถสลักด้วยศิลาแดงปางมารวิชัย อุโบสถปรกโพธิ์ อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช สระน้ำโบราณ  

บางกุ้งและถือเป็นสิ่งดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวมาชมโบราณสถานที่แตกต่างจากวัดอื่น คือ โบสถ์ปรกโพธิ์ เป็นพระอุโบสถก่ออิฐถือปูนที่ถูกต้นไม้ใหญ่ 4 ชนิดปกคลุมอยู่ ได้แก่ ต้นโพธิ์ ต้นไทร   ต้นไกร และต้นกร่าง ถือเป็นโบสถ์ในต้นไม้แห่งเดียวในประเทศไทย และคาดว่าน่าจะมีอายุราว 200 กว่าปี อีกทั้งโบสถ์แห่งนี้ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา  ตามแบบวัดไทยทั่ว ๆ ไป รากไม้เหล่านี้เป็นตัวช่วยยึดให้โบสถ์ยังคงรูปได้อย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว นอกจากนี้ตรงหน้าบันยังมีลวดลายพันธุ์พฤกษา ประดับด้วยเครื่องถ้วย  ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ทำให้วัดบางกุ้งเป็นแหล่งโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งของสมุทรสงคราม และยังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในที่เที่ยว Unseen Thailand อีกด้วย  ภายในโบสถ์เป็นที่ประดิษฐานของ "หลวงพ่อนิลมณี" หรือ "หลวงพ่อดำ" ตามที่ชาวบ้านเรียกกัน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงปางมารวิชัยขนาดใหญ่สมัยอยุธยาตอนปลาย สลักจากหินทรายแดง นอกจากนี้ภายในยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ

ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา      เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2539

ตามประวัติกล่าวว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ช่วง พ.ศ. 2308   กองทัพพม่ายกเข้า

มาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงรับสั่งให้หัวเมืองใต้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้ง ที่ตำบลบางกุ้ง เมืองสมุทรสงคราม เรียกว่า ค่ายบางกุ้ง กองทัพพม่ายกทัพเข้ามาตามลำน้ำแม่กลองและบุกลงมาจนถึงค่ายบางกุ้ง โดยที่กองทัพของกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถต้านทานไว้ได้ค่ายบางกุ้งจึงแตก หลังจากพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.2310 ค่ายบางกุ้งก็ตกอยู่ในสภาพค่ายร้าง  ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้เอกราชและสถาปนากรุงธนบุรีจึงโปรดให้ชาวจีนรวบรวมสมัครพรรคพวกมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่ายเก่าที่บางกุ้ง  จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ค่ายจีนบางกุ้ง นั่นเอง

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันเป็นกระแสฮือฮาอยู่ในขณะนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่เคารพศรัทธาพากันไปขอพร "หลวงพ่อนิลมณี" หรือ "หลวงพ่อดำ" ที่วัดบางกุ้ง จังหวัดสมุทรสงคราม  หลังจากมีผู้ถูกรางวัลที่ 1 ส่งผลให้มีประชาชนมากมายหลั่งไหลไปยังวัดบางกุ้ง มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มากราบไหว้บูชาและขอพร ขอโชคลาภจากหลวงพ่อนิลมณี และชมความงดงามแปลกตาของโบสถ์ปรกโพธิ์เป็นจำนวนมาก จนทางวัดต้องจัดระเบียบสถานที่จอดรถ และการเข้ากราบไหว้หลวงพ่อภายในโบสถ์เพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

     นอกจากนี้ยังมีศาลนางไม้เจ้าจอม  ตั้งอยู่ด้านหลังของโบสถ์ปรกโพธิ์ ซึ่งมีที่มาคือ เมื่อปี พ.ศ. 2531 พระวินัยธร องอาจอาริโย ได้เดินธุดงค์มาที่บริเวณวัดบางกุ้ง ยามดึกขณะเจริญกรรมฐานมักจะเกิดนิมิตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งแต่งชุดไทยโบราณมากราบไหว้หลวงพ่อนิลมณีหน้าโบสถ์ปรกโพธิ์เป็นประจำ  ต่อมาไม่นาน เสาคานที่หน้าโบสถ์ หล่นตกลงมาพิงอยู่ข้างๆ คืนนั้นเอง ท่านได้นิมิตเห็นผู้หญิงชุดไทยคนเดิมมาบอกให้นำไม้ท่อนนี้มาไว้ที่หลังอุโบสถแล้วให้สร้างศาลด้วย พระวินัยธร องอาจอาริโย ได้ให้ชาวบ้านช่วยกันนำไม้มาไว้หลังโบสถ์แล้วสร้างศาลให้ตามนิมิต นำไม้ท่อนนั้นแกะสลักไว้ภายในให้ชื่อว่า ศาลนางไม้เจ้าจอม  ชาวบ้านท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวให้ความเคารพนับถือกันมาก เพราะมีความศักดิ์สิทธิ์

          และด้านหน้าทางเข้าโบสถ์ปรกโพธิ์ ทางวัดได้สร้างกำแพงจำลองค่ายบางกุ้ง และรูปปั้นทหาร แม่ทัพ นายกอง ของทั้งไทยและพม่า พร้อมรูปปั้นแม่ไม้มวยไทย ให้ได้ศึกษาและย้อนคิดถึงอดีตว่าพื้นที่นี้เคยมีการรบระหว่างไทยกับพม่า และได้สร้าง อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เคารพสักการะและระลึกถึงพระคุณของพระมหากษัตริย์ไทย

ส่วนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามโบสถ์ปรกโพธิ์โดยเดินข้ามถนนเข้าไปภายในบริเวณวัดบางกุ้งติดกับริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง  หรือเลี้ยวรถเข้ามาในบริเวณวัดบางกุ้งทางวัดจัดเป็นสวนสัตว์ให้นักท่องเที่ยวมาชมและให้อาหารสัตว์  ซึ่งจะพบกับ คอกม้า คอกกวาง คอกแกะ คอกอูฐที่จัดแสดงไว้ตั้งแต่ทางเข้าข้างกุฎิพระสงฆ์เรื่อยไปถึงบริเวณลานจอดรถ สัตว์แต่ละชนิดถูกกั้นเป็นคอกเล็กบ้างใหญ่บ้าง บางชนิดก็อยู่รวมกัน ด้านหน้าทางเดินที่เข้าไปชมภายในจะมีอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์จัดจำหน่าย  มีทั้งอาหารปลา ผักบุ้งและหญ้า ให้สามารถเลือกซื้อกันได้ จากการสังเกตสภาพสิ่งแวดล้อมและสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในส่วนของสวนสัตว์ เล่าว่าแต่แรกเจ้าอาวาสไม่ได้คิดจะทำเป็นสวนสัตว์แบบนี้ แรกเริ่มเดิมทีทางวัดไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างให้สถานที่แห่งนี่เป็นสวนสัตว์รองรับนักท่องเที่ยว แต่ด้วยมีคนนำสัตว์มาปล่อยที่วัดแห่งนี้จำนวนมากขึ้น จึงเกิดเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามมา ค่าอาหารที่ทางวัดต้องแบกรับมีจำนวนมากขึ้น ทางวัดจึงตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการเปิดเป็นสวนสัตว์  และเริ่มมีการจำหน่ายอาหารสัตว์ให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นรายได้มาดูแลสัตว์เหล่านี้ ซึ่งสัตว์แต่ละตัวมีการจดทะเบียนถูกต้องทุกตัว ในแต่ละเดือนก็จะมีเจ้าหน้าที่จากปศุสัตว์จังหวัดมาดูแลรักษาสัตว์ที่ป่วยทุกเดือน เคยมีข่าวเรื่องสัตว์ทำร้ายนักท่องเที่ยว ทางวัดก็จะมีป้ายประกาศเตือนให้นักท่องเที่ยวระวัง เวลาให้อาหารสัตว์ เนื่องจากเริ่มมีสัตว์จำนวนมากและพื้นที่มีจำกัด เจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบสวนสัตว์และความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวก็มีจำนวนไม่มาก

แก้ไขเมื่อ

2023-06-15

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
- ไม่มีเอกสาร -