ละติจูด 13.430102791 , ลองจิจูด 99.9504959945
พิกัด
ตำบลแควอ้อม อำเภออำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม รหัสไปรษณีย์ 75110
ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ
วัด วัดร้าง ศาสนสถาน
ความสำคัญ/ลักษณะ
เป็นวัดโบราณสมัยอยุธยา อายุประมาณ 300 ปี โบราณวัตถุที่ยังคงเหลืออยู่คือรอยพระบาท และพระพุทธไสยาสน์ สิ่งสำคัญได้แก่ พระประธานในอุโบสถเป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัย และพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะปางอุ้มบาตรเป็นของเก่าคู่มากับวัด วิหารที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท 4 รอย วิหารที่ประดิษฐานพระไสยาสน์ วิหารที่ประดิษฐานพระรูปหล่อหลวงพ่อบ้านแหลม พระพุทธฉายก่อสร้างด้วยไหโบราณ และโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร คือ ศาลาท่าน้ำ วิหารน้อย อาคารเรือนไม้สักทรงปั้นหยา ศาลาการเปรียญ และกุฏิเก๋งจีน
วัดปากน้ำหรือวัดอมรวิมลจันทร์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายเป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยสันนิษฐานได้จากโบราณวัตถุที่ยังหลงเหลืออยู่ ที่สำคัญได้แก่รอยพระพุทธบาทและพระพุทธไสยาสน์ จากหลักฐานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่เพิ่งขอตั้งวัดและได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2458 ในสมัยที่พระครูวิมลศีลาจารย์เป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะอำเภออัมพวา วัดมีความเจริญสูงสุดมีการพัฒนาความเจริญด้านการศึกษา ด้านศาสนาและการศึกษาสามัญ และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาทอดพระเนตรวัดแห่งนี้
ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี ในปีระกา ร.ศ. 128 (พ.ศ.2452) ทรงกล่าวถึงวัดปากน้ำ ความว่า “วัดอัมพวานี้คงจะได้คิดจะให้เป็นของคู่กันกับวัดสุวรรณดารารามจึงได้ทรงสร้างบางอย่างทุกๆ รัชกาลมา จะทิ้งให้สาบสูญเสียเห็นจะไม่ควร ข้อขัดข้องสำคัญนั้นคือ หาเจ้าอธิการไม่ได้ เพราะไม่มีใครยอมไปอยู่ การที่ไม่ยอมไปอยู่นั้นเห็นจะเป็นด้วยปราศจากลาภผล ไม่เหมือนวัดบ้านแหลมและวัดพวงมาลัย ซึ่งได้ผลประโยชน์ในทางขลังต่างๆ แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีสมภารจนราษฎรในคลองอัมพวาก็พากันเข้าไปทำบุญวัดปากน้ำที่ลึกเข้าไปข้างใน” ซึ่งมีบางตอนที่กล่าวถึงวัดปากน้ำไว้
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
ในปี พ.ศ. 2539 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดปากน้ำเป็นโบราณสถานของชาติ ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่
- วิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ. 127 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา หน้าบันประดับลายปูนปั้นและถ้วยกระเบื้องจีน มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ประดิษฐานอยู่ตรงกลางซุ้มประตูด้านหลังเป็นปูนปั้นรูปพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในถ้ำ ภายในวิหารประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่
- พระอุโบสถ มีลายปูนปั้นประดับหน้าบัน ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง และยังมีพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะปางอุ้มบาตรเป็นของเก่าคู่มากับวัด
- วิหารพระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐานรอยพระบาท 4 รอย
- วิหารหลวงพ่อบ้านแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธชินราช หลวงพ่อบ้านแหลม และหลวงพ่อทวด ให้ได้เข้าไปกราบไหว้บูชาขอพรกัน
- วิหารน้อย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสร้างต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ลักษณะเหมือนเก๋งจีนขนาดเล็ก ด้านหน้ามีพาไล ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิฝีมือช่างท้องถิ่น
- พระพุทธฉาย ก่อสร้างเป็นเขาเล็กๆ ด้วยไหโบราณอยู่ด้านหลังศาลาการเปรียญ
กรมศิลปากรยังได้ขึ้นทะเบียน พระปรางค์ก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมมีระเบียงล้อมรอบฐานพระปรางค์เป็นฐานสิงห์ซ้อนกัน 3 ชั้น เรือนธาตุมีซุ้มหน้านางซ้อนกันด้านละ 2 ซุ้มทั้งสี่ด้าน นอกจากนี้ยังมีอาคารอื่น ๆ ของวัดที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้ ได้แก่ ศาลาท่าน้ำเก่า เรือนไทยไม้สักทรงปั้นหยาซึ่งเป็นอาคารเรียนพระปริยัติธรรม ศาลาการเปรียญไม้สักทรงไทยและกุฏิเก๋งจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นในยุคต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม มีความงดงามและหาชมได้ยาก ปัจจุบันโบราณสถาน โบราณวัตถุ เหล่านี้ ทางวัดได้ขออนุญาตกรมศิลปากรบูรณะซ่อมแซมทาสีใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปหลวงพ่อทันใจ ที่จำลองมาจากเทพทันใจของวัดที่พม่า และศาลเจ้าแม่กวนอิมให้สักการะกราบไหว้กันด้วย วัดนี้ทำเลที่ตั้งมีทัศนียภาพสวยงาม บรรยากาศร่มรื่นกับตันไม้ใหญ่ริมน้ำที่มีโต๊ะนั่งไว้รองรับติดแม่น้ำแม่กลองและคลองแควอ้อมที่มีสะพานแขวน ลักษณะคล้ายกับสะพานพระราม 8 เพียงแต่ย่อส่วนลงมาเท่านั้น และเป็นจุดที่นิยมของนักท่องเที่ยวและนักถ่ายภาพโดยเฉพาะตอนเย็นพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน เป็นภาพที่สวยงามอย่างยิ่ง
แก้ไขเมื่อ
2023-08-04
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | รายละเอียด | งบประมาณ | เอกสาร | สถานะ |
---|
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | งบประมาณ | วันที่รายงาน | เอกสาร |
---|