ละติจูด 13.4331390386 , ลองจิจูด 99.9474980161
พิกัด
ตำบลบางแค อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ตำบลแควอ้อม อำเภออำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม รหัสไปรษณีย์ 75110
ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ
วัด วัดร้าง ศาสนสถาน
ความสำคัญ/ลักษณะ
วัดบางแคน้อย เป็นวัดเล็กๆ ในอัมพวาที่มีชื่อเสียงในเรื่องความงามของโบสถ์ไม้สักทองของวัดที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2411 โดยคุณหญิงน้อย หรือจุ้ย วงศาโรจน์ ซึ่งเป็นน้องสาวของคุณหญิงใหญ่ ภรรยาของเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ ผู้สร้างวัดบางแคใหญ่ วัดบางแคในละแวกนั้นมี 3 วัด คือ วัดบางแคใหญ่ วัดบางแคน้อย และวัดบางแคกลาง อุโบสถของวัดแต่เดิมสร้างบนแพไม้ผูกไว้กับต้นโพธิ์เรียกว่า อุทกกุกเขปสีมา ต่อมาได้ย้ายขึ้นมาปลูกบนพื้นดิน อุโบสถ์หลังที่สองสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2430 เป็นโบสถ์แบบมหาอุดมีประตูหน้าเพียงประตูเดียว สร้างด้วยอิฐถือปูน เครื่องบนเป็นไม้หน้าโบสถ์เป็นรูปผีเสื้อ ไม่มีช่อฟ้าใบระกา
พระอุโบสถของวัดบางแคน้อย แต่เดิมสร้างบนแพไม้ไผ่ผูกไว้กับต้นโพธิ์ มีพระอธิการทัต เป็นเจ้าอาวาส เรียกอุโบสถแบบนี้ว่า อุทกกุกเขปสีมา ต่อมาพระอธิการรอด เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ได้ย้ายอุโบสถขึ้นมาปลูกบนพื้นดิน คุณหญิงน้อยได้อุทิศที่ดินจำนวน 8 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ให้สร้างวัด และได้อนุญาตให้ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2418 อุโบสถหลังที่สองของวัดจึงสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2430 และผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2440 เป็นโบสถ์แบบมหาอุด มีประตูหน้าเพียงประตูเดียว สร้างด้วยอิฐถือปูน เครื่องบนเป็นไม้ หน้าโบสถ์เป็นรูปผีเสื้อ ไม่มีช่อฟ้าใบระกา
เมื่อวัดมีเจ้าอาวาสต่อมาอีก 3 องค์ ก็ไม่ได้บูรณะวัดให้เจริญขึ้น ชาวบ้านจึงพากันไปนิมนต์พระภิกษุเขียว ฐิติสฺสโร จากวัดบางแคใหญ่มาเป็นเจ้าอาวาส ท่านจึงได้มาสร้างศาลาการเปรียญและอุโบสถหลังใหม่ (หลังที่ 3) แทนหลังเดิมซึ่งผุผัง เมื่อ พ.ศ. 2484 เสร็จปี พ.ศ. 2490 ในสมัยพระครูสมุทรนันทคุณ (หลวงพ่อแพร) ได้พัฒนาวัดต่อ จนกระทั่ง พ.ศ. 2540 อุโบสถหลังที่ 3 เกิดชำรุดทรุดโทรมลงอีก พระครูสมุทรนันทคุณ (แพร นนฺโท) เจ้าอาวาสรูปที่ 7 จึงได้ดำเนินการสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2540
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
วัดบางแคน้อย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง บริเวณปากคลองบางแค ในตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ปัจจุบันวัดบางแคน้อยได้รับการบูรณะอย่างดี มีสิ่งที่น่าสนใจมากมายสิ่งที่น่าชมภายในวัด ได้แก่ผนังภายในพระอุโบสถทำจากไม้สักแกะสลัก เป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ การประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และเรื่องพระเจ้าสิบชาติ ลวดลายสวยงามชัดเจนโดยฝีมือช่างแกะสลักจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการแกะสลักไม้จิตรกรรมฝาผนังแกะสลัก ภายในจะเป็นไม้สักแกะสลักทั้งหมด อุโบสถหลังนี้มีความงดงามยิ่ง การแกะสลักน่าสนใจและหาดูได้ยาก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณเวลาและฝีมือการแกะสลักที่ประณีตบรรจง บริเวณแท่นรองพระประธานใช้ไม้มะค่าโมงมีขนาดใหญ่มากเป็นไม้แกะสลักทรงจอมแห พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปเก่าคู่มากับวัดศิลปะช่างจีน พื้นอุโบสถปูด้วยไม้ตะเคียนทองแผ่นโต 7 แผ่น ฝาผนังพื้นเป็นไม้แกะสลัก เป็นรูปคน สัตว์ ต้นไม้ ฝาผนังด้านซ้าย ขวา ของพระประธานเป็นไม้สักแกะสลักเรื่องราวของทศชาติชาดก ฝาผนังด้านหลังพระประธาน เป็นภาพพุทธประวัติเป็นศิลปะไม้ฝังไม้ไม้ คือการฝังไม้โมกมันลงในไม้สักซึ่งรับทอดจากสีครีมลงสู่ไม้สักสีน้ำตาลสวยงาม แกะสลักการประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน ฝาผนังใต้ธรณีหน้าต่าง 2 ข้าง แกะสลักฝังด้วยไม้โมกมันรูปพระเวสสันดรจั่วด้านหน้าและหลังเป็น ไม้แกะสลัก ด้านข้างทั้งสองเป็นคูหาหลงรักปิดทองคันทวยเป็นไม้ลงรักปิดทอง
นอกจากนั้นยังมีบุษบกแท่นวัชรอาสน์ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และภายในกุฏิทรงไทยมหาอุตซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) บนกุฎิยังมีพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ทรงกษัตริย์หรือที่เรียกกันว่า พระพุทธรูปทรงเครื่อง และพระพุทธรูปแกะสลักจากหินพระธาตุ
แก้ไขเมื่อ
2023-07-04
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | รายละเอียด | งบประมาณ | เอกสาร | สถานะ |
---|
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | งบประมาณ | วันที่รายงาน | เอกสาร |
---|