บ้านยะมะรัซโซ


ละติจูด 14.4687298907 , ลองจิจูด 100.118047921

พิกัด

ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภออำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี รหัสไปรษณีย์ 72000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม พระราชวัง

ความสำคัญ/ลักษณะ

บ้าน “ยะมะรัชโช”ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) ลักษณะเป็นเรือนไทยภาคกลาง ประกอบด้วยเรือนชาน ๑ หลัง หอนั่ง ๑ หลัง เรือนนอน ๒ หลัง หอกลาง ๑ หลังและเรือนครัว ๑ หลัง นับเป็นอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ปูชนียบุคคลชาวจังหวัดสุพรรณบุรีที่ได้ปฏิบัติราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะ ความซื่อสัตย์สุจริต  ตลอดจนความจงรักภักดีจนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย จากพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา คำว่า ยะมะรัชโช คงมีความหมายถึง คู่พระบารมีแห่งพระเจ้าแผ่นดิน ตามที่ได้ปรากฏชื่ออยู่ในพระราชโทรเลข ซึ่งเป็นพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “ชื่อบ้านกรมหลวงดำรงเรียกสุขุมมาลัย ต้องกับโรงเรียนวัดพิไชยญาติ จึงเรียกใหม่ว่า ยะมะรัชโช”

ประวัติและความสำคัญของบ้านยะมะรัชโช ได้ใช้เป็นสถานที่รับเสด็จพระราชดำเนินในพระบาทสมเด็จพระจุลจอเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๒ ครั้ง  ซึ่งปรากฏข้อความอยู่ในยพระราชโทรเลข พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอเกล้าเจ้าอยู่หัว และหนังสือเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในคราวเสด็จประพาสต้นที่เมืองสุพรรณบุรีเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ทรงตรัสเรียกชื่อบ้านนี้ว่า “สุขุมาราม” ตามราชทินนามเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต ระบุว่า “วันที่ ๔ เช้าออกกระบวนเรือไฟจูงขึ้นไปบ้านบางปลาม้า ถึงที่น้ำตื้นต่อนั้นแจวขึ้นไปจนถึงเมืองสุพรรณบุรี จอดเรือพระที่นั่งประทับที่สุขุมาราม ชื่อสุขุมาราม เรียกตามได้ยินรับสั่งเห็นเห็นจะเป็นชื่อพระราชทาน ไม่ได้ยินชาวสุพรรณเขาเรียก ความจริงนั้นที่ตรงนั้นเป็นบ้านเดิม ของเจ้าขุนสุขุม ญาติวงศ์ของท่านยังอยู่หลายคนได้พากันมารับเสด็จเฝ้าแหน”

          ครั้งที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินสำรวจลำน้ำโบราณเพื่อจัดทำแผนเส้นทางแม่น้ำสำคัญ เรียกว่าการเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ.๒๕๕๑) เมื่อเสด็จฯ ถึงเมืองสุพรรณบุรีทรงมีพระราชโทรเลข พระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หรือพระยาสุขุม ตามที่พระองค์ทรงเรียก จำนวน ๒ ฉบับ ฉบับแรก เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗ เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งออกจากบ้านพระยาสุขุมนัยวินิต ระบุว่า “มาถึงเวลาบ่าย ๔ โมงเศษได้รับโทรเลขขอบใจ…สบายดีหมด กินข้าวได้ ฝนตกไม่มาก” ฉบับที่ ๒ พระองค์ทรงเล่าถึงบรรยากาศการจัดเลี้ยงพระกระยาหารที่นางนิล พี่สาวของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้จัดถวายเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗ ว่า “นิลเลี้ยงแข็งแรกมาก วันแรกได้กินแกงบานอร่อยดี วันนี้ได้กินขนมจีนน้ำยา อยู่ข้างจะแจกทั่วถึงกันมาก…ชาวสุพรรณดูนับถือเจ้านายมาก ลักษณะอาการกิริยาที่ไหว้กราบออกจะใกล้ข้างพระมารดาเจ้า มีอธิฐานขอพรเชิงบนๆ”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เสด็จพระราชดำเนินจังหวัดสุพรรณบุรีจำนวน ๒ ครั้ง ครั้งแรก ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นการเสด็จมาทางสถลมารคจากมณฑลนครชัยศรีผ่านกำแพงแสน พนมทวน อู่ทองและไปยังดอนเจดีย์ เพื่อทอดพระเนตรเจดีย์ยุทธหัตถีตามคำกราบทูลของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมาพร้อมกับเสือป่ารักษาพระองค์จำนวน ๔๐๐ คนเศษ ซึ่งในครั้งนั้นไม่ได้เสด็จขึ้นบ้านยะมะรัชโช เนื่องจากอาจไม่ได้อยู่บนเส้นทางการเสด็จฯ

          ครั้งที่ ๒ ปรากฏข้อความอยู่ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พ.ศ. ๒๔๖๕-๒๔๖๖ ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๖ หลังจากเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้วเสด็จลงเรือยนต์พระที่นั่งอนันตนาคราชออกจากพลับพลาที่ประทับที่บ้านหงส์ ตำบลองครักษ์ ผ่านประตูน้ำบางยี่หน (อำเภอบางปลาม้า) ถึงพลับพลาที่ประทับแรมเมืองสุพรรณบุรี จากนั้นเสด็จขึ้นบ้านยะมะรัชโชเพื่อเสวยพระกระยาหาร

          เสร็จแล้วประทับทอดพระเนตรเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เวลาสมควรแล้วเสด็จกลับพลับพลาที่ประทับ พอวันรุ่งขึ้นได้เสด็จพระราชดำเนินสโมสรเสือป่า เสวยพระกระยาหารและประทานสัญญาบัตรให้พระยาสุนทรสงคราม (อี้ กรรณสูต) เป็นพระยาสุนทรบุรี ให้พระศรีราชรักษา (ปุย สุวรรณศร) เป็นพระยาสุนทรสงคราม (ปุย สุวรรณศร) แล้วทอดพระเนตรละครร้อง จึงเสด็จกลับพลับพลาที่ประทับแรม วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๖ เวลาเที่ยงวันเสด็จออกจากพลับพลาที่ประทับที่เมืองสุพรรณบุรีล่องลงมาตามทางเดิม เสด็จกลับพระนคร

ต่อมาในชั้นหลังบ้านยะมะรัชโช ได้ใช้เป็นที่พำนักอาศัยของพระยาสุนทรสงคราม (ปุย สุวรรณศร) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๗๐ สืบต่อเนื่องมาจนถึงลูกหลานของท่าน และเมื่อ วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ จึงได้มอบบ้านหลังนี้ให้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิพระยาสุนทรสงคราม (ปุย สุวรรณศร) เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและสาธารณะประโยชน์ของจังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี

ในปีงบประมาณ ๒๕๕๑ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี (นายบุญชู จันทร์สุวรรณ) ได้จัดสรรงบประมาณโครงการปรับปรุง บ้านยะมะรัชโช จำนวน ๑๐ ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ แล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ เพื่อบูรณะพัฒนาบ้านที่มีสภาพทรุดโทรม ให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ประชาชนชาวจังหวัดสุพรรณบุรีภาคภูมิใจ และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

  ลักษณะเป็นเรือนไทยภาคกลาง ประกอบด้วยเรือนชาน ๑ หลัง หอนั่ง ๑ หลัง เรือนนอน ๒ หลัง หอกลาง ๑ หลังและเรือนครัว ๑ หลัง ลักษณะของอาคารจากการสำรวจพบว่า ควรได้รับการบูรณะ เนื่องจากค่อยๆมีการเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา มีหลายจุดที่ชำรุด และควรเร่งเข้ามาแก้ไข เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทรงคุณค่าต่อไป

บ้านยะมะรัชโช เป็นบ้านไม้ อาคารเรือนไทย ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน เรือนไทยเก่าหลังนี้นอกจากจะสะท้อนวิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อน ที่แสดงถึงบ้านเรือนไทยภาคกลางที่ชัดเจนแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า อีกทั้งยังใช้เป็นที่ตั้งชมรมของผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุนี้ นอกจากมาทำกิจกรรมเพื่อให้บ้านยะมะรัชโชกลับมามีชีวิตชีวาแล้ว ชมรมผู้สูงอายุยังเป็นมัคคุเทศก์นำชมและผู้ดูแลเรือนไทยหลังนี้ให้ดูสะอาดตา และไม่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาอีกด้วย

แก้ไขเมื่อ

2023-10-10

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร