เมืองเก่านครศรีธรรมราช


ละติจูด 8.418837 , ลองจิจูด 99.965804

พิกัด

ตำบลในเมือง อำเภออำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช รหัสไปรษณีย์ 80000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

เมืองเก่า เมืองประวัติศาสตร์

ความสำคัญ/ลักษณะ

เมืองเก่านครศรีธรรมราช เป็นเมืองที่มีอายุเก่าแก่เมืองหนึ่งในคาบสมุทรภาคใต้ มีความสำคัญเป็นเมืองท่าค้าขายชายฝั่งทะเลมาตั้งแต่อดีตไม่น้อยกว่า 1,500 ปี เป็นรัฐที่มีความเจริญรุ่งเรืองในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 และ 19 หรือที่ปรากฏในคัมภีร์มหาเทศว่า “ตามพรลิงค์” และเป็นเมืองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสูงสุดยุคหนึ่ง เมืองเก่านครศรีธรรมราชมีความเป็นปึกแผ่นมาตั้งแต่โบราณกาล มีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคหินกลางจนถึงยุคโลหะ จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ ประการแรกเชื่อว่า พวกพราหมณ์อพยพมาจากอินเดียเมื่อประมาณ พ.ศ.1006 ประการที่สองเชื่อว่าพวกโยนกหรือยวนเมืองละโว้ภายใต้การนำของกษัตริย์ชื่อพระยาศรีธรรมโศกราช อพยพมาอยู่เมื่อปี พ.ศ.1734 ซึ่งขณะนั้นนครศรีธรรมราชรวมกลุ่มเป็นชุมชนอยู่ก่อนแล้ว หลักฐานตำนานเมืองซึ่งกล่าวไว้ว่าพระยาศรีธรรมโศกราชเป็นผู้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์และตั้งพระอารามขึ้นบนหาดทรายแก้ว ในราวพุทธศตวรรษที่ 7 – 12 นครศรีธรรมราชคงเป็นเมืองท่าค้าขายชายฝั่งทะเลที่สำคัญในคาบสมุทรภาคใต้ปรากฏชื่อเรียกต่าง ๆ กันทั้งในจดหมายเหตุ บันทึกการเดินทางและคัมภีร์ศาสนา รวมทั้งยังพบโบราณวัตถุเทวรูป อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 9 – 10 ในช่วงสมัยนี้ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมที่แพร่มาจากอินเดียผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น นครศรีธรรมราชมีพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จวบจนถึงสมัยปัจจุบัน แต่สิ่งที่หลงเหลือตกทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เช่น สถาปัตยกรรมมีอายุทั้งก่อน และหลังพุทธศตวรรษที่ 18 ส่วนใหญ่เป็นงานประติมากรรมขนาดเล็กที่สามารถดูแลรักษาให้พ้นจากภัยธรรมชาติและภัยจากมนุษย์ได้ง่าย โบราณสถานในเขตเมืองเก่านครศรีธรรมราชส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานและกลุ่มอาคาร มีทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าเดิมเป็นกำแพงดินสร้างในสมัยศรีวิชัย ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ปรับปรุงกำแพงดินให้เป็นกำแพงก่ออิฐฉาบปูนมีใบเสมาตามอิทธิพลยุโรป ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านแคบอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ ความยาวด้านละประมาณ 450.00 เมตร ด้านยาวอยู่ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ความยาวด้านละประมาณ2,230.00 เมตร แนวกำแพงเมืองด้านเหนือได้รับการฟื้นฟูและรื้อฟื้นขึ้นใหม่ ตลอดแนวเลียบถนนมุมป้อมและถนนประตูชัย ด้านทิศตะวันออกเป็นแนวถนนศรีธรรมโศก ด้านทิศใต้เป็นแนวถนนชลวิถีและถนนประตูชัยใต้ และด้านทิศตะวันตกเป็นแนวถนนศรีธรรมราช จากหลักฐานเอกสารพบว่าป้อมปรากฏอยู่ตามมุมกำแพงเมืองทั้ง 4 มุม และบริเวณกลางแนวกำแพงเมืองทั้ง 4 ด้าน ดังนั้นกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชจึงมีป้อมอยู่โดยรอบทั้งหมด 8 ป้อม ปัจจุบันป้อมทั้ง 8 ได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนที่กล่าวถึงตำแหน่งประตูเมือง จากการสันนิษฐานโดยพิจารณาจากชื่อถนน พอจะกล่าวได้ว่าประตูเมืองนครศรีธรรมราชทางด้านทิศใต้อาจจะอยู่ตรงถนนราชดำเนินตัดกับถนนชลวิถีและถนนประตูชัยใต้ ด้านทิศตะวันออกอาจจอยู่บริเวณถนนประตูท่าโพธิ์ ถนนประตูลอด และถนนประตูรักษ์ ด้านทิศตะวันตกอาจจะอยู่บริเวณถนนท่าชีและถนนท่าม้า และปัจจุบันมีประตูเมืองเหลืออยู่ 1 ประตู คือประตูชัยเหนือหรือประตูชัยศักดิ์ อยู่ติดกับแนวกำแพงเมืองที่เหลืออยู่ทางด้านทิศเหนือ มีลักษณะโครงสร้างคานโค้ง คูเมือง ปัจจุบันคือ คลองรับน้ำระบายน้ำของเมือง โดยคูเมืองด้านทิศเหนือ คือ คลองหน้าเมือง ด้านทิศใต้คือคลองป่าเหล้า ด้านทิศตะวันตกคือคลองท้ายวัง และด้านทิศตะวันออกคูเมืองขนานกับแนวถนนศรีธรรมโศก ถนนรอบกำแพงเมืองทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ถนนประตูชัยเหนือและถนนมุมป้อมทางทิศเหนือ ถนนชลวิถีและถนนประตูชัยใต้ทางทิศใต้ ถนนศรีธรรมโศกทางทิศตะวันออกและถนนศรีธรรมราชทางทิศตะวันตก

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่านครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 53

แก้ไขเมื่อ

2018-11-16

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร