ชุมชนเมืองเก่า ตลาดศรีรายา เกาะลันตา


ละติจูด 7.532288 , ลองจิจูด 99.09411

พิกัด

ตำบล เกาะลันตาใหญ่ อำเภอ เกาะลันตา จังหวัด กระบี่ พิกัด (UTM/ละติจูด) ๗ ํ๓๑'๕๖.๒"N ๙๙ ํ๕'๓๘.๘"E ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภออำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ รหัสไปรษณีย์ 81150

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม พระราชวัง

ความสำคัญ/ลักษณะ

          ชุมชนเมืองเก่าศรีรายาตั้งอยู่บนเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ มีอดีตความเป็นมายาวนานประมาณ     ไม่ต่ำกว่า ๕๐๐-๒๐๐ ปี เป็นแหล่งพักพิงของกลุ่มชนที่อพยพมาจากแดนไกลถึง ๔ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชาวเลอูรักลาโว้ยอพยพเข้ามาประมาณ ๕๐๐ ปีก่อน ต่อมาชาวมุสลิม ชาวจีน ประมาณ ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา ส่วนชาวไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ เข้ามาตั้งถิ่นฐานประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ เมื่อชาวมุสลิมเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณชุมชนศรีรายา ชาวเลจะขยับออกไปพักอาศัยตามชายฝั่งทะเลถัดไปแต่ไม่ได้ตั้งถิ่นฐานถาวร ต่อมา กลุ่มชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณชุมชนศรีรายา ชาวมุสลิมก็ขยับออกไปบริเวณชายฝั่งถัดไปอีก ชาวเลก็หาทำเลที่สงบสำหรับพักพิงชั่วคราว บ้านของชาวจีนดั้งเดิมใช้วัสดุง่าย ๆ ตามแบบท้องถิ่น คือ บ้านฝาสานหลังคามุงจาก ต่อมาเกิดเพลิงไหม้ใหญ่ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรก ปีพ.ศ. ๒๔๗๒ ชาวเกาะลันตาทุกกลุ่มที่ประสบเหตุการณ์ช่วยกันดับไฟ และสร้างบ้านขึ้นใหม่ จนกระทั้งไหม้ครั้งที่ ๒ ปีพ.ศ. ๒๔๙๖ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาสร้างอาคารห้องแถวไม้ที่ถาวรขึ้น โดยวางกฎเกณฑ์ว่า เมื่อสร้างบ้านใหม่ให้สร้างเป็นห้องแถวชุดละ ๕ หลัง แล้วเว้นที่ว่างไว้ ๑ ห้อง เป็นแนวป้องกันไฟ เพื่อให้รถดับเพลิงเข้าไปสูบน้ำและเรือเข้าไปฉีดน้ำดับไฟได้ด้วย อีกทั้งหลังคาบ้าน ให้มุงสังกะสีหรือมุงกระเบื้องเท่านั้น ห้ามมุงจากแต่ฝาบ้านเป็นไม้ไผ่ขัดแตะได้  ชาวจีนจึงได้นำรูปแบบบ้านหลายชนิดมาประสมประสานกับลักษณะท้องถิ่น เป็นบ้านริมน้ำรูปแบบหนึ่งที่ในอดีตพบเห็น ทั่วไปในชุมชนชาวจีน เช่น แถบอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ริมแม่น้ำในเมืองกระบี่ และริมฝั่งทะเลตำบลแหลมสัก จังหวัดกระบี่ ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่ก็ถูกรื้อถอนเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว  มีที่เหลือเป็นชุมชนเด่นชัดและดำรงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น อีกทั้งยังประสานกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมดั้งเดิมมากที่สุด เพียงแห่งเดียวในจังหวัดกระบี่

ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นห้องแถวไม้ ๒ แถวหันหน้าเข้าหากัน มีถนนคั่นกลาง ซีกหนึ่งของห้องแถวหันหน้าออกทะเล สร้างติดกับพื้นดิน ส่วนซีกตรงกันข้ามเป็นห้องแถวไม้ที่หันหลังให้ทะเล ตัวอาคารหลังบ้านยื่นยาวออกไปในทะเล มีเสาไม้สำหรับค้ำยันบ้านขนาดสูงกว่าระดับน้ำทะเลชายฝั่ง ปักลงไปในดินโคลน ลักษณะ บ้านเช่นนี้เรียกว่า บ้านยาวแห่งเกาะลันตา อันมีรากฐานที่มาใกล้เคียงกับ บ้านยาวแห่งมะละกา ลักษณะโครงสร้าง ใช้ระบบเสา–คาน วัสดุที่ใช้บนอาคารส่วนใหญ่ใช้ไม้ บางส่วนมีการผสมวัสดุสังเคราะห์  เช่น ใช้คอนกรีตในการทำตอหม้อ และเสาอาคาร ผนังส่วนใหญ่เป็นฝาไม้กระดานและก่ออิฐในบางส่วน พื้นชั้นล่างเป็นไม้และคอนกรีตพื้นชั้นบนเป็นไม้ หลังคามุงสังกะสีและกระเบื้องใยหิน ความยาวแต่ละหลังไม่ เท่ากัน ด้านริมทะเลจะยาวประมาณ ๔๐ เมตร ถึง ๘๐ เมตร ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในครอบครัว ประโยชน์ใช้สอย และฐานะทางเศรษฐกิจ ส่วนห้องแถวด้านตรงข้ามจะสั้นกว่าเพราะมีข้อจำกัดด้านที่ดิน  ตัวบ้านช่วงหน้าเป็นสองชั้น ช่วงกลางอาจเป็นสองชั้นหรือชั้นเดียว ช่วงหลังสุดเป็นชั้นเดียว จากรูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจของอาคารบ้านเรือนชุมชนเมืองเก่าศรีรายา เราจะพบคุณค่าและประโยชน์ใช้สอยที่มีต่อวิถีชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมชุมชน ดังเช่น

          ๑. ซุ้มทางเดินหน้าบ้าน จุดประสงค์ดั้งเดิม คือทางเท้าเชื่อมโยง และกันแดดกันฝนในตัว  เป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชนและเจ้าของบ้าน   

          ๒. จิ่มแจ๊ หรือบ่อสวรรค์ เป็นลานกลางบ้าน ไม่มีหลังคาคลุมมักจะลดระดับพื้นต่ำลงกว่าระดับพื้นบ้านเล็กน้อยหรือมีขอบกันน้ำ เป็นที่สำหรับบ่อน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ ห้องน้ำ และที่ซักล้าง บริเวณนี้จะมีความเย็นของน้ำและช่องว่างบนหลังคาเป็นช่องลมเปิดให้อากาศภายในบ้านหมุนเวียนเคลื่อนไหวถ่ายเท    ไม่ร้อนอบอ้าว เป็นที่รับแสงสว่างเข้ามากลางตัวบ้าน ทำให้ภายในบ้านไม่มืดทึบ  แสงแดดที่ส่องลงมายังช่วยฆ่าเชื้อโรค และทำให้น้ำในบ่อตกตระกอนอีกด้วย                                                                    

          ๓. สะพานท่าเทียบเรือหลังบ้านเป็นที่จอดเรือสำหรับขึ้นลง และขนถ่ายสินค้าจากเรือ นับว่าเหมาะสมกับการสัญจรทางทะเลและอาชีพประมงหรือค้าขายทางทะเล สะพานหลังบ้านนี้มักจะเชื่อมโยงต่อ กันเป็นทางเดินไปมาได้หลายหลัง กลายเป็นลานกิจกรรมหลังบ้านด้วย

          ๔. การขยายบ้านยาวยื่นออกไปในทะเล ทำให้มีพื้นที่สำหรับรองรับสมาชิกของครอบครัวขยายสมาชิกรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาจึงไม่จำเป็นต้องย้ายออกจากบ้าน การได้อยู่ร่วมกันของสมาชิกหลายรุ่น เป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้เกิดความอบอุ่น และเสริมสร้างให้สถาบันครอบครัวเหนียวแน่นยิ่งขึ้น

         ๕. ชุมชนเมืองเก่าที่ตั้งอยู่ริมทะเล เป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยที่สืบทอดมายาวนาน ชุมชนเช่นนี้เป็นแหล่งกำเนิดของเมืองท่าค้าขาย ตลาดหรือชุมชนสำคัญแถบชายฝั่งอันดามันตลอดมาตั้งแต่อดีต จึงอุดมไปด้วย เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังมีกลุ่มชนผู้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่เป็นผู้บุกเบิกสร้างเมือง จึงมีประสบการณ์ และมีวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ อันทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง  

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

ประมาณ ๑๐๐ ปีเศษที่ผ่านมา บริเวณชุมชนเมืองเก่าศรีรายากลายเป็นชุมชนที่รุ่งเรืองมาก เป็น ชุมชนที่ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางทะเล เลียบฝั่งอันดามัน มีการเดินเรือโดยสารและเรือสินค้าผ่านไปมาระหว่างจังหวัดระนอง ตะกั่วป่า ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล อีกทั้งยังเป็นเมืองท่าหน้าด่านเล็กๆ  สำหรับเก็บภาษีทางน้ำ และค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าทางทะเลที่ติดต่อเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เช่น ปีนัง  สิงคโปร์และพม่า ฯลฯ เป็นจุดแวะพักหลบภัยทางการเมือง และหลบลมมรสุมของเรือสำเภาจีน สำเภาแขก และเรือประมง ฯลฯ นอกจากนั้น ทะเลหมู่เกาะลันตายังเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ ในยุคนั้นอาชีพทำ โป๊ะจับปลา ทำสวนมะพร้าว เตาถ่าน เฟื่องฟูมาก ปลาเค็ม กะปิ และถ่านไม้โกงกางได้กลายเป็นสินค้า ส่งออกไปขายต่างถิ่น ในช่วงนั้น มีการใช้เงินเหรียญมาเลเซียในการซื้อขายสินค้าด้วย อีกทั้งยังมีเรือประมงเข้ามาแวะพักและขนถ่ายปลาส่งไปขายชุมชนศรีรายาจึงเต็มไปด้วยร้านค้าและผู้คนต่างถิ่นเข้ามาทำธุรกิจ หลากหลาย จากการที่เกาะลันตาเป็นชุมชนที่เริ่มมีความสำคัญทางการค้าดังกล่าว จึงได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเกาะลันตา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๔ และได้ก่อตั้งอาคารที่ว่าการอำเภอบริเวณชุมชนเมืองเก่าศรีรายา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ประมาณ ๖๕-๕๐ ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ชาวชุมชนศรีรายาได้ผ่านวิกฤติความอดอยาก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และประสบกับโรคไข้ทรพิษระบาด (ประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๐) อีกทั้งยังประสบ อุบัติภัยจากไฟไหม้ครั้งใหญ่ถึง ๒ ครั้ง เศรษฐกิจของเกาะลันตาก็กระเตื้องขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลยกเลิกการให้สัมปทานป่าโกงกางและใบอนุญาตเผาถ่าน มีการตัดถนนเพชรเกษมสายกระบี่-ตรัง ผู้คนเริ่มใช้เส้นทางคมนาคมทางบกในการเดินทาง ทำให้เส้นทางทางทะเลลดบทบาทลง ความสำคัญในฐานะเมืองท่าและด่านเก็บภาษีทางน้ำก็หมดไปด้วย หน่วยงานสำคัญทางราชการ เช่นด่านศุลกากรก็หมดบทบาทหน้าที่ ต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย การขนนถ่ายสินค้าจึงเปลี่ยนไปใช้ทางบก ส่งผลให้ตลาดศรีรายาซบเซามาก ชาวเกาะลันตาส่วนใหญ่ ทำสวน รับราชการ เด็กรุ่นใหม่ทิ้งถิ่นไปเรียนหนังสือและทำมาหากินที่อื่น จนกระทั้งปัจจุบันเมื่อเกาะลันตาปรับเปลี่ยนเป็นเมืองท่องเที่ยว ตลาดศรีรายาก็เปลี่ยนมาประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว บ้านบางหลังเจ้าของกลับมาทำธุรกิจเอง บางหลังให้คนต่างถิ่นเช่า บางหลังก็ขายให้กับคนต่างถิ่น ตลาด    ศรีรายาจึงกลับมาคึกคักเช่นในอดีตอีกครั้ง

 

ปัญหาที่พบในพื้นที่

ชุมชนบ้านยาวเกาะลันตา หรือที่รู้จักของนักท่องเที่ยวภายใต้ชื่อ “Lanta old town” เคยมีการศึกษาเพื่อประกาศเขตโดยหน่วยอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้รับการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมมาแล้ว หลังจากนั้นเกิดภัยพิบัติสึนามิในวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ มูลนิธิชุมชนไทเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) องค์กรหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือโดยเข้ามาดำเนินงานตามโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนและการจัดการระบบนิเวศที่ยั่งยืนของเกาะลันตาภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับภาคีในท้องถิ่นทั้งองค์กรชุมชน กลุ่มศิลปิน เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และนักวิชาการท้องถิ่น ประโยชน์ที่ชาวเกาะลันตาได้รับจากการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว นอกจากครอบครัวที่ประสบภัยสึนามิโดยตรง ยังส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ชาวเกาะลันตาได้ทบทวนถึงสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ และสิ่งที่จะต้องทำเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดต่อไป  พิพิธภัณฑ์ชาวเกาะลันตาจึงถูกสร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ของชาวเกาะลันตา และคณะกรรมการทุกฝ่าย เพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวเกาะลันตาทั้งสี่กลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นพื้นที่จัดแสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยใช้อาคารที่ว่าการอำเภอเก่าในตลาดศรีรายา

แก้ไขเมื่อ

2019-10-29

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร