ที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา


ละติจูด 7.530737 , ลองจิจูด 99.093957

พิกัด

ตำบล เกาะลันตาใหญ่ อำเภอ เกาะลันตา จังหวัด กระบี่ พิกัด (UTM/ละติจูด) ๗ ํ๓๑'๕๐.๗"N ๙๙ ๐ํ๕'๓๘.๓"E ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภออำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ รหัสไปรษณีย์ 81150

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม พระราชวัง

ความสำคัญ/ลักษณะ

          ชุมชนเมืองเก่าศรีรายาตั้งอยู่บนเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มีอดีตความเป็นมายาวนานประมาณ ไม่ต่ำกว่า ๕๐๐-๒๐๐ ปีที่ผ่านมา เคยเป็นแหล่งพักพิงของกลุ่มชนที่อพยพมาจากแดนไกลถึง ๔ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชาวเลอูรักลาโว้ยอพยพเข้ามา ประมาณ ๕๐๐ ปีก่อน ต่อมาชาวมุสลิม ชาวจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานประมาณ ๒๐๐ ปีที่ผ่าน ส่วนชาวไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเข้ามาราว ๑๐๐ ปีเศษ

เดิมเกาะลันตาขึ้นอยู่กับ อำเภอคลองพน (ปัจจุบันเป็นตำบลคลองพน ขึ้นกับอำเภอคลองท่อม) ประมาณ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ชุมชนเมืองเก่าศรีรายากลายเป็นชุมชนที่รุ่งเรืองมาก ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางทะเล เลียบฝั่งอันดามัน มีการเดินเรือโดยสารและเรือสินค้าผ่านไปมาระหว่างจังหวัดระนอง ตะกั่วป่า ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล อีกทั้งยังเป็นเมืองท่าหน้าด่านเล็กๆ สำหรับเก็บภาษีทางน้ำ และค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าทางทะเลที่ติดต่อเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เช่น ปีนัง สิงคโปร์และพม่า ฯลฯ เป็นจุดแวะพักหลบภัยทางการเมือง และหลบลมมรสุมของเรือสำเภาจีน สำเภาแขก และเรือประมง ฯลฯ นอกจากนั้น ทะเลหมู่เกาะลันตายังเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ ในยุคนั้นอาชีพทำโป๊ะจับปลา ทำสวนมะพร้าว เตาถ่าน เฟื่องฟูมาก ปลาเค็ม กะปิ น้ำมันยาง และถ่านไม้โกงกางกลายเป็นสินค้าส่งออกไปขายต่างถิ่น จากการที่เกาะลันตาเป็นชุมชนที่เริ่มมีความสำคัญทางการค้าดังกล่าว จึงได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเกาะลันตา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๔ และได้ก่อตั้งอาคารที่ว่าการอำเภอบริเวณชุมชนเมืองเก่าศรีรายาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ต่อมา เรืออวนลดน้อยลงเพราะปลาในทะเลเริ่มหายาก เรืออวนย้ายไปขึ้นฝั่งที่กันตัง ประกอบกับมีการตัดถนนเพชรเกษมสายกระบี่-ตรัง ผู้คนเริ่มใช้เส้นทางคมนาคมทางบกในการเดินทาง ทำให้เส้นทางทางทะเลลดบทบาทลง ความสำคัญในฐานะเมืองท่าและด่านเก็บภาษีทางน้ำก็หมดไปด้วย หน่วยงานสำคัญทางราชการ เช่นด่านศุลกากรก็หมดบทบาทหน้าที่ ต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ความรุ่งเรืองของเกาะลันตา   ค่อย ๆ ซบเซาลง ผู้คนในท้องถิ่นหมดอาชีพพากันอพยพย้ายถิ่นพาครอบครัวไปอยู่ที่อื่น ครอบครัวที่มีฐานะดีส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือในตัวจังหวัด ต่างจังหวัด และในกรุงเทพ จบออกไปรับราชการในตำแหน่งสูง ๆ  หรือ ทำงานในบริษัทเอกชนที่มั่นคงก็จะไม่กลับไปอยู่ในท้องถิ่นเดิมอีกเลย แต่ระยะนั้นยังมีเรือเมล์วิ่งระหว่างบ่อม่วง-ตลาดศรีรายา ชาวบ้านที่จะเดินทางจากเกาะลันตาน้อยและลันตาใหญ่ไปยังแผ่นดินใหญ่หรือต้องการเดินทางมาติดต่อราชการยังที่ว่าการอำเภอเกาะลันตาจะต้องใช้เส้นทางนี้ จนกระทั่งมีการสร้างสะพานคลองยาง และท่าเทียบเรือแพขนานยนต์ สามารถเดินทางไปเกาะลันตา โดยขับรถยนต์ลงเรือแพขนานยนต์ข้ามฝั่งจากแผ่นดินใหญ่ไปเกาะลันตาน้อย และจากเกาะลันตาน้อยไปเกาะลันตาใหญ่ เส้นทางคมนาคมระหว่างแผ่นดินใหญ่กับเกาะลันตาจึงเปลี่ยนแปลงไป หมดยุคเรือเมล์ เป็นเหตุให้ตลาดศรีรายา   ซบเซาไปจากเดิม กลายเป็นเมืองเก่าที่ร้างผู้คนไปชั่วระยะหนึ่ง  ผู้คนรุ่นใหม่ที่มีฐานะทางการเงินดี จะอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น คงเหลือแต่ผู้สูงอายุและสภาพบ้านเรือนที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิมมายาวนาน ต่อมา ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2541 ทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเกาะลันตาจากชุมชนศรีรายาไปตั้งที่บ้านหลังสอด ตำบลเกาะลันตาน้อย ชุมชนศรีรายาจึงยิ่งซบเซาลงไปอีก ประชากรมีจำนวนน้อยลง  ขณะที่ตลาดศรีรายายังคงเอกลักษณ์ของความเป็นชุมชนเก่า และบรรยากาศแบบดั้งเดิมอยู่มาก

          หลังจากนั้นประมาณ ปีพ.ศ. 2531 เป็นต้นมา จังหวัดกระบี่เริ่มเปลี่ยนเป็นเมืองท่องเที่ยวและค่อยๆขยายพื้นที่เข้ามาบนเกาะลันตา การเติบโตของชุมชนท่องเที่ยวอยู่อีกซีกหนึ่งของเกาะ คือบริเวณ           บ้านศาลาด่าน ส่วนที่ตลาดศรีรายามีนักท่องเที่ยวผ่านเข้าไปชมบรรยากาศ และใช้บริการร้านอาหารอยู่บ้าง จนกระทั้งปัจจุบันเริ่มมีผู้คนต่างถิ่นจากภายนอกเข้ามาเช่าบ้านเพื่ออยู่อาศัยและทำธุรกิจร้านอาหาร        ร้านขายของที่ระลึก ร้านบาร์เบียร์ เพื่อรองรับธุรกิจท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ เกาะลันตากลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะเมืองท่องเที่ยว

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

หลังจากนั้นเกิดภัยพิบัติสึนามิในวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗  มูลนิธิชุมชนไทเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) องค์กรหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือ โดยเข้ามาดำเนินงานตามโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนและการจัดการระบบนิเวศที่ยั่งยืนของเกาะลันตา ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับภาคีในท้องถิ่นทั้งองค์กรชุมชน กลุ่มศิลปิน เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และนักวิชาการท้องถิ่น ประโยชน์ที่ชาวเกาะลันตาได้รับจากการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว นอกจากครอบครัวที่ประสบภัยสึนามิโดยตรงแล้วยังส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ชาวเกาะลันตาได้ทบทวนถึงสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ และสิ่งที่จะต้องทำเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดต่อไป  พิพิธภัณฑ์ชาวเกาะลันตาจึงถูกสร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ของ   ชาวเกาะลันตาและคณะกรรมการทุกฝ่าย เพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวเกาะลันตาทั้งสี่กลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นพื้นที่จัดแสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยใช้อาคารที่ว่าการอำเภอเก่าในตลาดศรีรายานี่เอง และการซ่อมแซมอาคารในครั้งนั้นได้พบเอกสำคัญต่าง ๆ ของทางราชการในอดีตที่ซุกไว้ใต้ฝ้าเพดานของอาคาร      ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุ จังหวัดตรัง

ปัญหาที่พบในพื้นที่

ตัวอาคารที่เคยปรับปรุงใหม่ทั้งหลังเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เริ่มผุพังเนื่องจากขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ภายในอาคารมีปัญหาเรื่องปลวก ขั้นบันไดด้านหน้าชำรุดผุพัง

วัตถุที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ ฝุ่นจับ ชำรุด เอกสารบางอย่างโดนปลวกกัดกิน บางช่วงมีผู้ดูแลเปิดอาคารให้นักท่องเที่ยวเข้าชม แต่ไม่ได้ดูแลและบำรุงรักษาอย่างถูกต้องตามหลักวิธี

 

แก้ไขเมื่อ

2019-10-19

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร