ละติจูด 14.2064456 , ลองจิจูด 101.2247529
พิกัด
ถนนอุดมธานี ตำบล นครนายก อำเภอเมืองนครนายก นครนายก 26000 ตำบลนครนายก อำเภออำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก รหัสไปรษณีย์ 26000
ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ
อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน สถาน หลักเมือง
ความสำคัญ/ลักษณะ
ศาลเจ้าพ่อขุนด่าน (ขุนชำนาญไพรสณฑ์) ตั้งอยู่ภายในวัดดง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ตามประวัติ เมื่อครั้นที่กรุงศรีอยุธยา จะล่มสลายลง เมื่อพ.ศ.2310 นั้น วันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ อัฐศก ศักราช 1128 (ตรงกับวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2309) ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกประมาณ 3 เดือน กลางดึกนั้น กองทัพพม่ายิงถล่มพระนครศรีอยุธยาอย่างหนัก เกิดเพลิงลุกไหม้ทั่วพระนคร บ้าน วัด วัง ได้รับความเสียหาย เฉพาะบ้านเรือนราษฎรเกิดเพลิงไหม้กว่า 10,000 หลัง
ทว่ากลางวันของวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2309 พระยาตาก (ยศในสมัยนั้น) ได้พาไพร่พลราว 1,000 นาย “หนี” ออกจากกรุงศรีอยุธยามาก่อนแล้ว จึงได้มาเห็นแสงเพลิงลุกไหม้ในกรุงศรีอยุธยาที่บ้านสัมบัณฑิต เวลาเที่ยงคืนนั่นเอง โดยมีนายทหารคนสำคัญในกองกำลัง คือ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยอาสา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี ทั้ง 5 นายนี้ มักจะปรากฏอยู่เคียงข้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากหลายแห่ง โดยเมื่อเที่ยงวันนั้น กองกำลังพระเจ้าตากได้เริ่มออกเดินทางจากวัดพิชัย ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา มาถึงบ้านหารตรา เมื่อเวลาค่ำ โดยมีกองทัพพม่าไล่ติดตาม แล้วรบต่อกันจนพม่าพ่ายแพ้กลับไป
เมื่อแรกออกจากวัดพิชัย อยุธยา มานั้น พระเจ้าตากทรงมีไพร่พลจำนวนไม่มากนัก ขาดแคลนทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหาร แถมยังบาดเจ็บล้มตายระหว่างทาง โดยเฉพาะศึกบริเวณบ้านโพสาวและบ้านพรานนก แต่ครั้นพอถึงบ้านนาเริ่งและต่อมายึดบ้านดงในเขตนครนายกได้แล้ว กองกำลังเล็กๆ ของพระเจ้าตากก็กลับกลายเป็นกองทัพที่มีแสนยานุภาพ มีกำลังไพล่พลนับพัน มีช้าง ม้า ปืนใหญ่ และเสบียงอาหารบริบูรณ์
ตามความที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล และพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า “...วันที่ 3 ของการเดินทางทัพ กองกำลังพระเจ้าตาก ก็ได้เข้าเมืองนครนายก ย่านริมคลองป่าขะ (บ้านนา) พระเจ้าตากกับพรรคพวกได้เดินทางไปพบกับขุนชำนาญไพรสณฑ์ กับนายกองช้าง มากขอสวามิภักดิ์ ต่อพระเจ้าตาก ทั้งยังถวาย ช้างพลาย 5 เชือก ช้างพัง 1 เชือก รวมเป็น 6 เชือก จากนั้นขุนชำนาญไพร ก็นำทางพระองค์ไปยังบ้านดง (บางแห่งเรียกว่า บ้านกง” เมืองนครนายก เมื่อมาถึงบ้านดงนี้ ข้าราชการ ขุนหมื่นพันทนายท้องถิ่น ไม่ยอมสวามิภักดิ์ แม้จะได้เจรจาเกลี้ยกล่อมถึง 3 ครั้ง ก็ยังไม่สำเร็จรุ่งขึ้น กองกำลังพระเจ้าตากจึงต้องปะทะกับไพร่พลชาวบ้านดง ซึ่งมีกองกำลังมากกว่า 1,000 นาย แต่ก็ถูกกองกำลังของพระเจ้าตากตีพ่ายไป ยึดได้ช้างเพิ่มอีก 7 เชือก อาวุธปืน เงินทอง และเสบียงอาหารอีกจำนวนมากรวมทั้งทหารนับพันเหล่าก็ถูกยึดมาเป็นของพระองค์....”
กรณี “บ้านดง เมืองนครนายก” นี้เป็นจุดแรกที่กองกำลังพระเจ้าตากต้องเข้าปะทะเป็นกับ “คนไทย” ด้วยกันที่ไม่ใช่พม่าอีกด้วย เหตุเพราะ “ไม่ยอมสวามิภักดิ์” ต่อพระเจ้าตาก หากพิจารณาตัวเมืองนครนายกในพื้นที่ระหว่างบ้านนาถึงปากพลี นอกเหนือจากดงละครซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก็มีชุมชนเก่าแก่อยู่ในบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำนครนายกในตัวเมืองนครนายกปัจจุบัน บริเวณดังกล่าวนั้นมีร่องรอยโบราณสถาน เช่น วัดดงหรือวัดบ้านดง วัดแก้วตา (วัดอุดมธานีในปัจจุบัน) วัดนางหงส์ วัดพระอินทร์ (วัดอินทราราม) วัดต่ำหรือวัดบุญนาคฯ วัดดงข่อย วัดโพธิ์ไทร ชุมชนชาวจีนและตลาดเก่า รุ่นรัตนโกสินทร์ก็อยู่ในบริเวณดังกล่าวนี้ บางแห่งได้รับการบูรณะบางแห่งก็ถูกทิ้งร้าง
ส่วนสาเหตุที่พระเจ้าตากต้องทรงบุกตี ก็เนื่องจากทรงต้องการ “ข้าวปลาธัญญาหาร” สำหรับเป็นเสบียง
แต่ขุนหมื่นพันทนายบ้าน “มิได้เชื่อบารมี” บรรดาขุนหมื่นพันทนายบ้านก็กำลังซ่องสุมทหารโยธาเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์ เมื่อทรงทราบแล้วนั้นแล้ว ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล ว่า
“...มิได้จองเวรว่าเป็นข้าขอบขัณฑสีมามีอิจฉาการ แต่จะให้เป็นสุขพร้อมกัน จึงให้ทหารไปว่ากล่าวเกลี้ยกล่อมโดยธรรมราชประเพณีถึงสามครั้ง ก็มิได้อ่อนน้อมท้าทายอีก ดำริว่าเป็นผลกรรมแห่งปวงสัตว์ทั้งปวงแล้ว”
ด้วยความช่วยเหลือจากขุนชำนาญไพรสณฑ์ (เจ้าพ่อขุนด่าน) และชาวเมืองนครนายก ทำให้กลุ่มของพระเจ้าตากกลายเป็นกองทัพมีอานุภาพ สามารถสู้รบและยึดเมืองอื่นๆ บนเส้นทางกู้ชาติของพระเจ้าตากบนเส้นทางหัวเมืองตะวันออก จากเดิมที่เป็นเพียงกองกำลังทหารม้าเพียงน้อยนิด แถมยังบาดเจ็บและรอดชีวิตออกจากกรุงศรีอยุธยามา เมื่อมาเผชิญกับทัพพม่าที่มีกำลังกว่า 2,000 คน ที่ยกมาจากปากน้ำเจ้าโล้ (บริเวณจุดบรรจบระหว่างคลองท่าลาดกับแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเขตอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทเราในปัจจุบัน” พระเจ้าตากก็ดักซุ่มใช้ปืนใหญ่ (ที่ได้จากนครนายก) ยิงถล่มและบุกตีพม่าจนแตกพ่ายไป เมืองไปถึงจันทบุรีก็มีช้างศึก (ที่ได้จากนครนายก) บุกเข้ากำแพงเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ
ดังนั้น เมืองนครนายกจึงถือเป็นฐานแรกที่แท้จริงและเป็นจุดเริ่มต้นในความสำเร็จของกลุ่มพระเจ้าตาก ก่อนที่จะพิชิตหัวเมืองชายฝั่งตะวันออกอย่างระยอง, ประแสร์, บางปลาสร้อย (ชลบุรี), จันทบุรี, ทุ่งใหญ่ (ตราด) เป็นต้น
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
-
แก้ไขเมื่อ
2020-10-08
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | รายละเอียด | งบประมาณ | เอกสาร | สถานะ |
---|
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | งบประมาณ | วันที่รายงาน | เอกสาร |
---|