วัดสำแล


ละติจูด 14.040074 , ลองจิจูด 100.555532

พิกัด

91 หมู่ 2 ตำบลบ้านกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ตำบลบ้านกระแชง อำเภออำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี รหัสไปรษณีย์ 12000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

วัดสำแล เป็นวัดรามัญของชาวมอญที่อพยพมาเมื่อครั้งต้นรัตนโกสินทร์ สิ่งสำคัญภายในวัด คือ อุโบสถหลังเก่า เป็นโบสถ์มหาอุตม์ด้านหลังไม่มีประตู มีอายุกว่าร้อยปี สภาพชำรุดทรุดโทรมแล้วแต่ยังคงงดงามด้วยศิลปะการก่อสร้าง มีหมู่เจดีย์มอญอยู่หน้าอุโบสถเก่า ประกอบด้วยเจดีย์ประธานรายล้อมด้วยเจดีย์บริวารหลายมหาเจดีย์ชเวดากอง ศาลาการเปรียญสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ภายในศาลาการเปรียญ มีตู้พระไตรปิฎกแบบมอญและพระพุทธรูปพร้อมทั้งรูปปั้นอดีตเจ้าอาวาสตั้งประดิษฐานอยู่ มีหอระฆังอายุกว่า 80 ปี ตั้งอยู่หน้าศาลาการเปรียญจารึกปีที่สร้างว่าสร้างปีพุทธศักราช 2487 บูรณะพุทธศักราช 2546 (ที่มา : http://www.rangsitcity.com/)

           วัดสำแล ตั้งอยู่เลขที่ 91 หมู่ 2 ตำบลบ้านกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุตมีที่ดินตั้งวัดจำนวน 12 ไร่ 80 ตารางวาโฉนดเลขที่ 6341 ที่ธรณีสงฆ์จำนวน 8 แปลงเนื้อที่ 103 ไร่ 45 ตารางวา ลักษณะภูมิประเทศ วัดสำแลตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

           ประวัติความเป็นมา

                    วัดสำแล มีความเกี่ยวข้องกับชนชาติมอญที่อพยพมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อปีพุทธศักราช 2358 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวรามัญ (มอญ) ที่ได้อพยพเข้ามาพึ่งใต้ร่ม   พระบรมโพธิสมภาร ตั้งบ้านเรือนอยู่ในผืนแผ่นดินไทย โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสามโคก

                    ชาวมอญเป็นชนชาติที่นับถือและเลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด เมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นหลักแหล่ง มีการประกอบอาชีพมั่นคง สะดวกสบายไม่เดือดร้อนแล้ว จึงพร้อมใจกันสร้างวัดขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชุมชนชาวมอญ        ชื่อวัดสำแล ภาษามอญเรียกว่า “เภี่ยช่มษะ” สาเหตุที่ตั้งชื่อนี้เพราะชาวมอญอพยพมาจากหมู่บ้าน “สัมแล” อยู่ในเขตเมือง “เมาะระมิงค์”

                    ปัจจุบันที่ดินตั้งวัดไม่เหลือเท่าเดิมแล้วเนื่องจากการประปานครหลวงขอเข้าใช้ในกิจการประปา คือขุดขยายคลองส่งน้ำดิบให้มีขนาดกว้างขึ้นมากกว่าเดิม ขุดบริเวณด้านข้างวัดด้านทิศเหนือ ส่วนหลังวัดมีถนนบัวขาวตัดผ่าน ทำให้ที่ดินของวัดถูกตัดแบ่งไปบางส่วน จึงมีประชาชนมาขอเช่าปลูกบ้านอยู่อาศัย ส่วนที่ธรณีสงฆ์ ที่ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ถูกถนนทางด่วนตัดผ่าน คงเหลือให้ประชาชน เช่าทำการเกษตรและอยู่อาศัยปัจจุบันเหลือไม่เท่าเดิมเช่นกัน

                    ปี พ.ศ. 2560 ชาวมอญเริ่มสร้างศาลาการเปรียญขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นศาลาไม้ใต้ถุนสูงประมาณ 1 เมตรสร้างไว้เพื่อบำเพ็ญกุศลทำกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวมอญ ปัจจุบันศาลาการเปรียญได้บูรณขึ้นเป็น 2 ชั้น 

                    ปี พ.ศ. 2365 ได้สร้างหอสวดมนต์ไม้ 1 หลังชั้นเดียว ใต้ถุนสูง สร้างไว้เพื่อสวดมนต์ไหว้พระ ปัจจุบันสร้างใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 2 ชั้น

                    ปี พ.ศ. 2370 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวมอญได้สร้างอุโบสถ 1 หลัง ทรงมหาอุด (มีแค่ประตูทางเข้า ไม่มีประตูทางออก   ด้านหลัง) ปัจจุบันยังคงมีอยู่สภาพค่อนข้างชำรุดทรุดโทรม

                    ปี พ.ศ. 2412 สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะวัดใหม่ เนื่องจากเป็นเวลานาน 42 ปีวัดทรุดโทรมมาก และวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2414 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 16 เมตรยาว 25 เมตร เป็นวัดโดยสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

                    ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ในสมัยนั้นพระครูปทุมธรรมโสภณ เป็นเจ้าอาวาสได้อนุญาตให้อุบาสกอุบาสิการ่วมกันสร้างโบสถ์ขึ้นใหม่ 1 หลัง ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548

                    นอกจากนั้นยังมีโบราณสถานที่สำคัญภายในวัด เช่น กุฏิโบราณ, กุฏิไม้สัก 2 ชั้น, เจดีย์ศิลปมอญ, หอระฆัง, กุฏิทรงไทย 2 หลัง, ฌาปนสถาน (มารุ), ศาลาธรรมสังเวช, หอฉันท์, ศาลาท่าน้ำ 3 หลัง, วิหารบูรพาจารย์, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์, พิพิธภัณฑ์, ศูนย์เรียนรู้ฯ      วัดสำแล ฯลฯ

"นิทานเรื่อง 'วัดสำแล' มาจาก 'วัดสามแล' จอมแถขั้นเทพ"

                    วัดสำแล (ဘာသာံေလွ) ตั้งอยู่ที่บ้านท้องคุ้ง บ้านเกิดครูเพลงมอญนา กระเดื่อง "ไพบูลย์ บุตรขัน" ณ ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก ปทุมธานี ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งคะวันออก วัดแห่งนี้สร้างโดยมอญที่อพยพเข้ามาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อ 200 ปีก่อน มีชื่อเรียกในภาษามอญว่า "เพี่ยว์ธ่มแหมะซะ" (ဘာဓမၼသ) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับหมู่บ้านมอญในแขวงเมือง จย้าจก์แหมะโร่ะฮ์ เมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ (ประเทศพม่าปัจจุบัน)

                    แปลกที่ผู้คนทั่วไปกลับคิดว่า "สำแล" คำนี้เป็นภาษาไทย จึงพยายามลากเข้าความให้เป็นไทยเสียสบายลิ้นสิ้นเรื่องราว

                    เมื่อคนไม่รู้ความหมาย คิดว่า "สำแล" เป็นคำภาษาไทย ลากยาวสร้างนิยายขึ้นใหม่ว่า รัชกาลที่ 5 เสด็จผ่านมาทางชลมารค เรือพระที่นั่งเลยไปแล้ว แต่ด้วยความงดงามประณีตของวัดวาอาราม พระองค์ทรงผินพระพักตร์มาแล (มอง) ถึง 3 ครั้ง 3 ครา วัดมอญและหมู่บ้านมอญแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า "สามแล" ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น "สำแล"

                    โดยปกติ คนมอญเมื่ออพยพมาจากเมืองมอญ มักนิยมตั้งชื่อหมู่บ้านของตนตามเดิมที่เคยอยู่อาศัยในเมืองมอญ เพราะมากันเป็นกลุ่มใหญ่ และคงต้องการให้พวกมาทีหลังได้ตามมาถูก จะได้มาอยู่รวมกัน ความที่มอญกลุ่มนี้มาจากหมู่บ้านใหญ่ 2 แห่งติดกัน แต่หากแยกหมู่บ้านใครหมู่บ้านมันแล้ว จำนวนไม่ได้มากเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่น จึงเกิด      การรวมเข้าด้วยกัน คือ หมู่บ้าน "ธ่มแหมะซะ" กับหมู่บ้าน "ซัมเล" ชื่อหมู่บ้านเก่าจึงถูกเรียกสับสน และน่าจะถูกคนภายนอกเรียกขานเสียใหม่ว่า "บ้านท้องคุ้ง" ด้วยมีชัยภูมิบ้านเรือนอยู่ตรงคุ้งน้ำโดดเด่น ขณะที่มอญยังคงเรียกชื่อวัดแบบของใครของมัน "วัดซัมเล" บ้าง "วัดธ่มแหมะซะ" บ้าง ที่สุดวัดซัมเลก็มีชื่อไทยว่า "วัดสำแล" มีชื่อมอญว่า "วัดธ่มแหมะซะ"

 โบราณสถานที่สำคัญ

(1) อุโบสถ

                    อุโบสถวัดสำแล ดำเนินก่อสร้าง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ประธานจัดสร้าง พระครูปทุมธรรมโสภณ

                    ทางวัดได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2546 - 2550 ทั้งนี้ได้มีคุณสมบูรณ์ เตชะมงคลจิตร นักธุรกิจที่มีบ้านอยู่ติดวัดได้เป็นหลักในการก่อสร้างจนกระทั่งโบสถ์เสร็จเรียบร้อย พื้นอุโบสถยกขึ้นบนเนินดินปูหญ้าอย่างสวยงาม มีบันไดทางขึ้นที่หัวบันไดมีรูปสิงห์แกะสลักด้วยหินข้างละตัว อุโบสถเป็นอาคารทรงไทยหลังคามุงกระเบื้อง ซ้อน ๒ ชั้น มีปีกนกลาดลงด้านละ ๒ ตับ ประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หน้าบรรณด้านหน้าเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ด้านหลังเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มทรงมงกุฎฝีมือประณีตงดงาม ภายในอุโบสถแต่งผนังเรียบง่ายด้วยลายไทยอันประณีต ที่ผนังมีเรื่องราวพุทธประวัติใส่กรอบไว้ให้ศึกษา พระประธานเป็นพระพุทธชินราชจำลองที่มีความงดงามมากบนฐานชุกชี อุโบสถหลังปัจจุบันได้หันหน้ากลับทางกับอุโบสถหลังเก่า โดยหันหน้ามาทางถนนเลียบคลองประปาซึ่งเป็นทางสัญจรในปัจจุบัน

ที่มา : ผู้จัดทำวิจัย, 2562

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2025-01-03

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร